ลูกแรกเกิด – 3 เดือน ทารกติดเชื้อ ง่ายกว่าที่แม่คิิด
ทารกติดเชื้อ ได้ง่ายกว่าที่แม่คิิด! ลูกแรกเกิด – 3 เดือน ช่วงวัยที่ต้องระวัง เพราะร่างกายลูกยังอ่อนแอ มาดู 2 กลุ่มโรค ที่ทารกวัยแรกเกิด ติดจากคนใกล้ชิดได้ง่าย เพื่อป้องกันลูกรักของเรากันค่ะ
ทารกน้อยติดเชื้อง่ายคุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังกันนะคะ
ช่วงวัยทารกแรกเกิดถึง 3 เดือนเป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้การดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิดเพราะร่างกายของลูกยังบอบบางมากยิ่งทารกคลอดก่อนกำหนดยิ่งต้องเฝ้าระวังและดูแลเป็นพิเศษ ภูมิต้านทานโรคของลูกน้อยวัยทารกแรกเกิดก็ยังมีน้อยมากจึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย
ความเชื่ออันมีมาแต่โบราณที่ให้คุณแม่หลังคลอด “อยู่เดือน” คืออยู่กับลูกตลอดเดือน โดยไม่ออกจากบ้านไปไหนเลย ทั้งแม่และลูก จนลูกอายุครบ 1 เดือน ก็มีข้อดีนะคะ เพราะว่าเมื่อไม่ออกไปไหน ทั้งคุณแม่และลูกน้อยก็จะไม่ไปรับเชื้อโรคต่างๆ จากข้างนอกนั่นเอง โดยเฉพาะโรคติดเชื้อในทางเดินหายใจ หรือโรคติดต่อจากการสัมผัส ที่ติดต่อกันง่ายมาก และในบางครั้งผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อบางชนิดอยู่ก็ไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อโรคนี้อยู่ เพราะไม่แสดงอาการใดๆเลย พอมาใกล้ชิดทารกน้อย ทารกก็มีการติดเชื้อนั้นๆแล้วอาจมีอาการรุนแรงได้
หมอขอยกตัวอย่าง 2 กลุ่มโรค ที่ทารกวัยแรกเกิดถึง 3 เดือน ติดจากคนใกล้ชิดได้ง่าย โดยอาจไม่รู้ตัวดังนี้ค่ะ
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น
- ปอดอักเสบติดเชื้อ
- หลอดลมฝอยอักเสบจากการติดเชื้อ RSV
ทารกอาจได้รับเชื้อโรคจากสิ่งแวดล้อมที่สัมผัส เช่น
- สัมผัสละอองของน้ำมูก น้ำลายหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่ทารกใกล้ชิด
- หรือจากการอยู่ในที่ชุมชนคนเยอะ ทารกอาจสูดหายใจเอาเชื้อโรคที่มีคนไอ หรือจามออกมาในสิ่งแวดล้อม เข้าไปในทางเดินหายใจจนเกิดการติดเชื้อขึ้นได้ โดยจะแสดงอาการคือ หายใจเร็วกว่าปกติ มีไข้ หายใจลําบาก มีหน้าอกบุ๋มขณะหายใจ ริมฝีปากเขียว กินนมน้อย ซึม
โรคติดเชื้อจากการสัมผัส เช่น
โรคเริมในทารก
- เกิดจากการติดเชื้อไวรัสทีชื่อ Herpes simplex
- ทารกจะติดเชื้อโรคชนิดนี้ได้จากการสัมผัสกับแผลของผู้ป่วยที่เป็นโรค, น้ำลาย, หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยการสัมผัสใกล้ชิด ใช้ของใช้หรือทานอาหารด้วยภาชนะร่วมกัน หรือการหอมแก้ม
- เชื้อจะแทรกเข้าทางเยื่อบุหรือผิวหนังที่ถลอกเป็นแผล
- เมื่อมีการติดเชื้อจะแสดงอาการคือ มีรอยบวมแดงบริเวณที่มีการติดเชื้อ ได้แก่ ริมฝีปากและเยื่อบุช่องปาก มีตุ่มน้ำใสเป็นกลุ่ม ๆ อย่างรวดเร็ว แตกเป็นแผล ปวด อาจมีต่อมน้ำเหลืองโตขึ้น มีไข้ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว
- ทารกน้อยอาจมีการติดเชื้อโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ตับ ปอด และสมอง ทำให้มีอาการตับโต ตาเหลืองตัวเหลือง ปอดอักเสบ ซึม ชัก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตหรือมีภาวะแทรกซ้อนของระบบประสาทและสมองอย่างรุนแรงได้
หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องการให้ลูกติดเชื้อโรคเหล่านี้ก็ไม่ควรให้ใครมาอุ้ม กอด หอมแก้ม ลูก นอกจากคุณพ่อ คุณแม่ และคนเลี้ยงดู
ทั้งนี้ หากใครในครอบครัวรู้ตัวว่าเจ็บป่วย ก็ควรจะไม่มาเข้าใกล้ลูกน้อย หากคุณพ่อคุณแม่เองเจ็บป่วยแบบไม่รุนแรง เช่น เป็นหวัดก็ควรใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใกล้ชิดลูก เมื่อออกไปนอกบ้านแล้วจะกลับมาอุ้มทารกก็ควรล้างมือ อาบน้ำ (ถ้าจะให้ดีที่สุดก็ควรสระผมด้วย) ก่อนจะมาสัมผัสกับลูก ก็จะช่วยปกป้องลูกน้อยจากการติดเชื้อต่างๆอันน่ากลัวและเป็นอันตรายที่อยู่รอบตัวได้ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ยาป้ายตาทารกแรกเกิด หมอป้ายตาลูกทำไม หลังอุแว๊! เกิดอะไรขึ้นบ้างในห้องคลอด
ยืนคลอดลูก อยู่ข้างถนน แม่ท้องสุดอั้น ก็พยาบาลบอกว่ายุ่งมาก
คนเป็นพ่อ ต้องรู้! วิธีดูแลภรรยาท้อง สิ่งที่แม่ท้องอยากให้พ่อทำ การเตรียมตัวเป็นพ่อคน
โรคของทารกแรกเกิด โรคที่พบบ่อยในปัจจุบัน คนท้องต้องระวังตั้งแต่ยังไม่คลอด