พังผืดถุงน้ำคร่ำ (amniotic band) ภัยร้ายของทารกในครรภ์
นายแพทย์ นพพร ศรีทิพโพธิ์ กุมารศัลยแพทย์ กล่าวว่า กลุ่มอาการแอมนิโอติกแบนด์ Amniotic band syndrome (ABS) หรือ amniotic constriction bands หรือ constriction band syndrome เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดที่พบไม่บ่อย มีสาเหตุจากขณะทารกอยู่ในครรภ์มารดาโดยมีถุงน้ำคร่ำล้อมรอบ พังผืดถุงน้ำคร่ำ (amniotic band) ที่แยกออกมาจากเนื้อเยื่อด้านในถุงน้ำคร่ำ ออกมารัดส่วนต่างๆ ของร่างกายเช่น แขน ขา นิ้วมือ นิ้วเท้า ศีรษะ ใบหน้า ลำตัวและส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
ความผิดปกติที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ ขาด้านล่าง อาจเห็นบริเวณที่ถูกรัดคอดกิ่ว คล้ายแยกจากกันเป็นท่อนๆ ส่วนปลายจะบวมเขียวคล้ำจากน้ำเหลืองคั่งและขาดเลือดไปเลี้ยง
ภาวะดังกล่าวมีขอบเขตความรุนแรงกว้างมาก นับตั้งแต่ไม่มีปัญหาอะไรเลย นอกจากริ้วรอยการถูกรัดเพียงเล็กน้อย หรืออาจทำให้นิ้วมือ นิ้วเท้าติดกัน หรืออาจทำให้นิ้วมือ นิ้วเท้า แขน ขาขาดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนไม่อาจมีชีวิตรอดได้ เช่น ในรายที่พังผืดถุงน้ำคร่ำรัดสายสะดือ
ข้อมูลจากเพจ ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว กล่าวว่า ในกรณีพันไม่แรงมาก หรือพันตอนตัวโต ก็อาจทำให้รูปร่างตอนคลอดผิดปกติ เช่น มือบิดหรือเท้าปุก แต่หากพันแรงๆ หรือพันตั้งแต่ตัวเล็กๆ เมื่อทารกโตขึ้นเรื่อยๆ อวัยวะจะโดนรัดแน่นจนขาดเลือด ทำให้นิ้วกุด แขนกุดมือกุด หรือขากุดเท้ากุดได้
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกถูก พังผืดถุงน้ำคร่ำ รัด
ข้อมูลจากภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ส่วนใหญ่วินิจฉัยก่อนคลอดได้ในไตรมาสที่สอง แต่มีรายงานตั้งแต่อายุครรภ์เพียง 10 สัปดาห์ ซึ่งมีลักษณะบ่งชี้จาการอัลตร้าซาวนด์ดังนี้
- ตรวจพบความผิดรูปร่างของแขนขาอย่างไม่สมมาตร ซึ่งไม่มีลักษณะจำเพาะ แขนขาผิดปกติ อาจสั้นลีบเป็นบางส่วน cephalocele กระโหลกแหว่งหาย ผนังหน้าท้องโหว่ รอยแหว่งที่หน้า หลังคด
- การตรวจพบ cephalocele ที่ไม่สมมาตร หรือหลายๆ อัน ร่วมกับแขนขาคอดกิ่วหรือถูกตัด หรือผิดรูปร่าง และผนังหน้าท้องโหว่ ควรสงสัยภาวะนี้ให้มาก
- การตรวจติดตามเป็นระยะอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะที่ถูกรัด เช่น ขาบวมขึ้น ค่อยๆ โค้งงอ เล็กลง กระดูกหัก และถูกดูดซึม หรือขาดหลุดไปในที่สุด
- การตรวจด้วย color Doppler อาจมีประโยชน์ในบางราย ซึ่งอาจแสดงการลดลงของการไหลเวียนในส่วนปลายต่อตำแหน่งที่ถูกรัด
- หลายรายตรวจเส้นของ fibrous band ลอยอยู่ในน้ำคร่ำ หรือเชื่อมติดอยู่กับส่วนของทารก แต่ภาวะน้ำคร่ำน้อยจะทำให้เห็น band ดังกล่าวยากขึ้น
ทำอย่างไรเมื่อพบพัง ผืดถุงน้ำคร่ำ พันตามร่างกาย
การรักษาขึ้นอยู่กับว่าพังผืดถุงน้ำคร่ำนั้นพันอยู่บริเวณใด และจะก่อให้เกิดความผิดปกติที่รุนแรงแค่ไหน
เพจ ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว แนะนำว่า หากรู้ว่าถูกพังผืดพันอยู่ และคิดว่ามีโอกาสพันจนขาด อาจจะผ่าตัดตั้งแต่อยู่ในท้อง อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดมีความเสี่ยง ซึ่งต้องมีการคุยกันถึงเรื่องเด็กอาจเสียชีวิตด้วย
แต่หากตรวจพบพังผืดถุงน้ำคร่ำ ในตำแหน่งที่ไม่ไปกีดขวางการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ก็ไม่น่าจะเป็นอันตรายกับทารกในครรภ์ ซึ่งมีโอกาสที่พังผืดนั้นจะหายไปได้เอง
หากคุณมีประสบการณ์พบพังผืดถุงน้ำคร่ำ สามารถนำมาแบ่งปันเพื่อเป็นประโยชน์กับคุณแม่ท่านอื่นได้ที่คอมเมนต์ด้านล่างค่ะ
ข้อมูลอ้างอิงจาก https://ped-surg.blogspot.com/, https://www.med.cmu.ac.th/, เพจ ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว
ภาพประกอบ https://en.wikipedia.org/
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
ทารกไม่มีผิวหนัง เพราะยาที่แม่กินตอนท้อง
แม่ท้องกินวิตามินมากไป ลูกเสี่ยงเป็นออทิสติก