จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์แอลจีจี คือ จุลินทรีย์ชนิดดี จัดอยู่ในกลุ่มของ จุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส ในนมแม่ นมเปรี้ยว หรือโยเกิร์ต โดย จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์แอลจีจี สามารถมีชีวิตรอดอยู่ในสภาวะที่เป็นกรดอย่างในกระเพาะอาหารได้ ทำหน้าที่ที่ล้วนเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อาทิ ยับยั้งการเติบโตของเชื้อก่อโรค รักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ควบคุมการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน และดูแลเยื่อบุลำไส้ให้อยู่ในสภาพสมดุล เป็นต้น
ชวนทำความรู้จัก จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์แอลจีจี ฮีโร่ตัวจิ๋วในลำไส้ใหญ่ของลูกรัก
จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์แอลจีจี มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “Lactobacillus rhamnosus GG” (L.GG) เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็กที่มีบทบาทสำคัญในร่างกายของมนุษย์ พบอาศัยอยู่ในบริเวณลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีเซลล์ภูมิคุ้มกันรวมอยู่มากถึง 80% นอกจาก ลำไส้ใหญ่ จะเป็นศูนย์บัญชาการหลักของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย เยื่อบุลำไส้ใหญ่ ยังเป็นเส้นทางหลักที่เชื้อโรคส่วนใหญ่เดินทางเข้าสู่ร่างกาย เมื่อ จุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส ที่ทำหน้าที่ปกป้องผิวเยื่อบุเซลล์ และเซลล์เนื้อเยื่อน้ำเหลืองอยู่ รับรู้ว่ามีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันตอบสนองขึ้นมาทำลายเชื้อโรคเหล่านั้น
จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์แอลจีจีดีอย่างไร ?
Sherwood Gorbach และ Barry Goldin ผู้ค้นพบจุลินทรีย์สายพันธุ์นี้ ได้ทำการวิจัย และพบว่า เจ้าจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์แอลจีจีมีคุณสมบัติโดดเด่นกว่า จุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส สายพันธุ์อื่น ๆ คือ
-
- เป็นจุลินทรีย์ที่แยกจากลำไส้ของมนุษย์
- ทนต่อการถูกทำลายด้วยกรดในกระเพาะอาหาร และด่างในลำไส้เล็กได้ดี
- สามารถปล่อยสารออกมาฆ่าเชื้อดื้อยาได้ ช่วยลดจำนวนจุลินทรีย์ก่อโรค และจุลินทรีย์ฉวยโอกาสก่อโรคในโพรงลำไส้
- สามารถเกาะยึดติดกับเยื่อบุลำไส้ ซึ่งเป็นความสามารถที่เหนือกว่าจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์สายพันธุ์อื่น
- สามารถเพิ่มจำนวนแบบปูพรมเพื่อเป็นกำแพงป้องกันผิวเยื่อบุลำไส้ได้ดี
ปกป้องลูกรักด้วย “จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์แอลจีจี” ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์แอลจีจีคอยทำหน้าที่กระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันตื่นตัวและสร้างชั้นเคมีที่เป็นเกราะคุ้มกันร่างกาย ไม่ให้เชื้อโรคร้ายรุกล้ำเข้ามายังเยื่อบุลำไส้ได้ แต่ถ้าหากมีสารพิษจากเชื้อโรค หลุดเข้ามาในโพรงลำไส้ ทำให้เซลล์บาดเจ็บ จนส่งผลให้กระบวนการย่อยและดูดซึมอาหารทำงานผิดปกติ จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์แอลจีจีก็จะสื่อสารกับเซลล์ที่บาดเจ็บช่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และยังเพิ่มการหลั่งสารกำจัดเชื้อ ออกไปทำลายเชื้อที่ยังคงเหลืออยู่ให้หมดไป เช่นในกรณีของ การติดเชื้อไวรัสโรต้า ก็จะช่วยให้อาการท้องร่วงหายได้เร็วขึ้น
ซึ่งตรงกับงานวิจัยที่ระบุว่า จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์แอลจีจีเป็นโพรไบโอติกส์ที่มีประสิทธิภาพมาก ในการรักษาโรคท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อ โรคท้องเสียเฉียบพลันในเด็ก*
สำหรับในกรณีที่ลูกน้อยได้รับยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพสูงติดต่อกันหลายวัน จนยาอาจเข้าไปทำลายเชื้อดี เป็นเหตุให้เชื้อฉวยโอกาสก่อโรคถือโอกาสปล่อยสารพิษทำให้เกิดอาการลำไส้อักเสบร่วมกับการกินยา จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์แอลจีจีนี้ยังสามารถช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อฉวยโอกาสก่อโรคลงได้อีกด้วย
จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วงของประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงจำนวน 863,146 ราย (คิดเป็นอัตราป่วย 1,299.65 ต่อประชากรแสน) เสียชีวิต 6 ราย คิดเป็น 0.01 ต่อแสนประชากร โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มเด็กวัยแรกเกิด – 4 ปี (คิดเป็นอัตราป่วย 3901.76 ต่อประชากรแสนคน) รองลงมา คือ กลุ่มเด็กอายุ 5 – 9 ปี (ข้อมูล ณ 1 มกราคมถึง 8 พฤศจิกายน 2562)
ดังนั้น นอกจากเด็กทุกคนจำเป็นต้องได้รับวัคซีนโรต้า ก่อนอายุ 8 เดือนแล้ว คุณแม่ควรเลือกให้ลูกรัก ดื่มนม หรือทานโยเกิร์ตที่มีจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์แอลจีจีที่สามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น และป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเจ้าตัวเล็กมีภูมิคุ้มกันแข็งแรง ก็จะเจริญเติบโตได้ดี ไม่เจ็บป่วยง่าย และพร้อมเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ทุกวัน
ข้อมูลอ้างอิง
https://pharm.tu.ac.th/uploads/pharm/pdf/articles/20181002_4.pdf
https://www.thaipediatrics.org/Media/media-20190417145917.pdf
www.thaihealth.or.th/Content/50713-%20ไวรัสโรต้า%20ระบาดฤดูหนาวเสี่ยงท้องร่วง.html