งูสวัด ทารก โรคงูสวัดในเด็กเล็ก แม่จะสังเกตได้ยังไง
งูสวัด ทารก เกิดจากอะไร โรคงูสวัดในเด็กเล็ก อันตรายแค่ไหน แม่จะสังเกตได้ยังไง
โรคงูสวัดเกิดจากอะไร?
โรคงูสวัดมีสาเหตุหลักจากการติดเชื้อไวรัส ชื่อ Varivella-zoster ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส โดยเด็กที่ติดเชื้อไวรัสนี้เป็นครั้งแรกจะแสดงอาการของโรคอีสุกอีใส หลังจากนั้น เจ้าเชื้อไวรัสนี้จะยังคงแฝงอยู่ในปมประสาทของผู้ป่วย เมื่อมีปัจจัยมากระตุ้น เช่น ร่างกายอ่อนแอลง เชื้อไวรัสซ่อนตัวอยู่ในปมประสาทนั้นจะถูกกระตุ้นให้แสดงอาการอีกครั้ง โดยคราวนี้จะแสดงอาการเป็นโรคงูสวัดขึ้น
เด็กเล็กติดโรคงูสวัดได้อย่างไร?
เนื่องจากการที่ใครก็ตามติดเชื้อ Varivella-zoster virus แล้ว จะเป็นโรคงูสวัดได้ ก็ต้องเป็นอีสุกอีใสก่อน ดังนั้นเด็กที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นโรคอีสุกอีใส แต่หากเด็กเล็ก เช่น ทารก เป็นโรคงูสวัด มักจะติดมาจากคุณแม่ที่เป็นอีสุกอีใสตอนตั้งครรภ์ ซึ่งจะติดในเดือนหลังๆ ก่อนคลอดนั่นเองค่ะ โดยเด็กที่ได้รับเชื้ออีสุกอีใสจากแม่ในขณะตั้งครรภ์ แล้วเด็กเกิดมาปกติแสดงว่าเด็กมีเชื้ออีสุกอีใสไปหลบอยู่ในปมประสาท พอเด็กร่างกายอ่อนแอลง แม้ในช่วงวัยทารก ก็สามารถจะเป็นโรคงูสวัดได้เลย โดยหากย้อนไปถามอาจจะมีประวัติคุณแม่มีการติดเชื้ออีสุกอีใสระหว่างตั้งครรภ์ในช่วงท้ายได้ค่ะ
การติดเชื้อโรคงูสวัดมักเกิดจากการสัมผัสตุ่ม แผล ของผู้ป่วยโดยตรง มากกว่าการเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ หากเด็กที่ไม่เคยมีภูมิคุ้มกันโรคเลย โดยยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใสหรือไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันเชื้ออีสุกอีใส ได้ไปสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยงูสวัดก็จะแสดงอาการเป็นโรคอีสุกอีใส เนื่องจากเป็นการติดเชื้อครั้งแรกนั่นเอง ดังนั้นเด็กที่ไปสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยงูสวัด ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นงูสวัด แต่อาจจะเป็นโรคอีสุกอีใส และมีเชื้อไวรัส Varivella-zoster แฝงตัวในร่างกาย ต่อมาเมื่อร่างกายอ่อนแอลง จะถูกกระตุ้นขึ้นมาจึงกลายเป็นโรคงูสวัดได้ในเวลาต่อมา
อาการของโรคงูสวัดในเด็กมีอะไรบ้าง?
ผู้ป่วยเด็กโรคงูสวัดหากมีภูมิต้านทานปกติ ก็จะมีอาการคือมีตุ่มน้ำใส ขึ้นกระจายเป็นกลุ่มๆ เรียงกันตามแนวของเส้นประสาท 1-2 เส้นที่ติดกัน โดยมักจะเป็นแค่ด้านใดด้านหนึ่งของลำตัว อาการจะหายได้เอง ผื่นจะแห้งและตกสะเก็ดภายใน 1-3 สัปดาห์
ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนของระบบประสาทเช่นมีความผิดปกติที่ดวงตาและการมองเห็น หากตุ่มใสขึ้นในบริเวณของเส้นประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับประสาทตา
แต่ในเด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องก็อาจเป็นงูสวัดที่รุนแรงได้ เพราะเชื้อโรคสามารถกระจายทั่วร่างกาย และมีโอกาสที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงได้บ่อยกว่าเด็กที่มีภูมิคุ้มกันปกติ เช่น การอักเสบของปอด ตับ สมอง หรือระบบการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
โชคดีที่ในเด็กจะพบอาการแทรกซ้อนต่างๆ เหล่านี้ได้น้อยกว่าผู้ใหญ่มาก
วิธีรักษาโรคงูสวัดในเด็กทำได้อย่างไร?
หากลูกเป็นโรคงูสวัดควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อพิจารณาให้ยาต้านเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่รักษาอีสุกอีใสในกรณีที่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงขึ้นได้ ร่วมกับรักษาด้วยยาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ในกลุ่มพาราเซตามอล
เราจะปกป้องลูกน้อยจากโรคงูสวัดได้อย่างไร?
โรคงูสวัดในเด็กสามารถ ป้องกันได้ในเด็กโดยเริ่มจากป้องกันไม่ให้เป็นอีสุกอีใสก่อน ด้วยการวัคซีนอีสุกอีใส ซึ่งเริ่มฉีดได้ตอนอายุ 1 ปีขึ้นไป
นอกจากนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ควรสอนให้ลูกไม่ไปสัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ที่เป็นอีสุกอีใส หรือ งูสวัด และหากลูกเป็นอีสุกอีใสแล้วควรให้ลูกหยุดเรียนและงดการพาลูกไปในสถานที่ชุมชนคนเยอะ เพื่อลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นด้วยนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ท้องผูก ลูกถ่ายเหมือนขี้แพะ!! ท้องผูกแบบไหนที่เรียกว่าไม่ธรรมดา ทารกท้องผูกทำอย่างไร
สุดสงสาร! ทารกป่วยโพรงสมองคั่งน้ำกลับถูกคนใจร้ายเรียกเด็กผี
ลูกมีไข้สูง ผื่นแดงขึ้นตามตัว สัญญาณบอกลูกอาจเป็นโรคส่าไข้!