10 คำถามระหว่างท้อง ที่คุณแม่ตั้งครรภ์อยากรู้
คำถามระหว่างท้อง ที่คุณแม่ตั้งครรภ์อยากรู้ มีอะไรบ้าง ตรงใจคุณแม่ไหม ไปติดตามพร้อมกัน
1. น้ำหนักในช่วงตั้งครรภ์ ปกติควรขึ้นเท่าไร
โดยปกติแล้ว น้ำหนักของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 12 – 15 กิโลกรัมตลอดอายุของการตั้งครรภ์ หรือเฉลี่ยประมาณ 0.4 กิโลกรัมต่อสัปดาห์จึงจะเหมาะสมครับ
2. การมีเซ็กส์ระหว่างตั้งครรภ์อันตรายกับลูกในท้องไหม
การมีเซ็กส์ระหว่างตั้งครรภ์นั้น น้อยมากที่จะเป็นอันตรายกับลูกในท้อง เพียงแต่แม่ท้องต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เช่นมีเลือดออกทางช่องคลอด หรือมีอาการเจ็บครรภ์ หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบคุณหมอทันที
3. จำเป็นหรือไม่ที่ต้องฉีดยา หรือวัคซีนต่างๆระหว่างตั้งครรภ์
ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกได้ให้วัคซีนบาดทะยัก เป็นวัคซีนที่คุณแม่ควรฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อกับทารกแรกเกิด อีกทั้งคุณแม่ยังควรได้รับวัคซีนอื่นๆด้วย เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน
4. การใช้ยาต่างๆ ในระหว่างที่กำลังตั้งครรภ์ เช่น ยารักษาสิว มีอันตรายหรือไม่
ยารักษาสิวบางกลุ่มทั้งชนิดทาและชนิดรับประทาน เช่น ยากลุ่มกรดวิตามินเอ หรือเอตินอยด์ จัดเป็นยาอันตรายที่อาจส่งผลร้ายต่อทารกในครรภ์ถึงขั้นพิการได้ ดังนั้นจึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนที่จะใช้ยาต่างๆ รวมถึงก่อนการรับยาควรแจ้งทุกครั้งว่าตั้งครรภ์
5. ระหว่างตั้งครรภ์ควรทานวิตามินเสริมหรือยาบำรุงครรภ์หรือไม่
ในระหว่างตั้งครรภ์นั้น แม่ท้องควรทานอาหารให้ครบห้าหมู่ นอกเหนือจากนั้น สารอาหารที่แม่ท้องควรได้รับเพิ่มเติมคือ ธาตุเหล็ก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำงานของฮีโมโกบินในเม็ดเลือดแดง ที่จะเป็นตัวนำออกซิเจนไปสู่ลูกน้อยในครรภ์ อีกทั้งยังช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางได้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม แม่ท้องไม่ควรรับประทานเองโดยปราศจากคำแนะนำจากคุณหมอนะครับ
นอกจากธาตุเหล็กแล้ว แคลเซียมก็เป็นสารอาหารอีกชนิดที่แม่ท้องควรได้รับ เพราะแคลเซียมเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูกและฟันของลูกน้อยในครรภ์ อย่างไรก็ตาม หากแม่ท้องที่ต้องการทานวิตามินหรือยาบำรุงครรภ์ ก็ควรปรึกษาคุณหมอก่อนจะดีที่สุด เพราะสำหรับวิตามินบางชนิด หากได้รับมากเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อลูกในท้องได้
6. ดื่มนมวัวตอนท้อง มีประโยชน์อย่างไร
หากแม่ท้องดื่มนมวัวก็จะทำให้ระดับแคลเซียมของแม่ท้องนั้นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยบำรุงกระดูกและฟันของทารกในครรภ์ อีกทั้งยังช่วยป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย
7. ภาวะครรภ์เสี่ยงคืออะไร ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
ภาวะครรภ์เสี่ยง หมายถึงการตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเสียชีวิตต่อแม่และทารกในครรภ์ ทั้งในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด รวมถึงหลังคลอด ซึ่งเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายอย่างเช่น โรคประจำตัวของคุณแม่เอง เคยมีประวัติคลอดบุตรยาก เคยผ่าตัดมดลูก เคยแท้งบุตร รวมถึงคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ขณะมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป โดยแม่ท้องควรรีบไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล ซึ่งคุณหมอจะทำการวินิจฉัยภาวะเสี่ยง และแม่ท้องควรทำตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด
8. เนื้องอกระหว่างตั้งครรภ์ อันตรายไหม
ความเสี่ยงจากการที่แม่ท้องมีเนื้องอกระหว่างตั้งครรภ์นั้นจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและลักษณะของเนื้องอกนั้นๆ หากสงสัยหรือตรวจพบ แม่ท้องควรรีบปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและทำการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อไป
9. ริดสีดวงระหว่างตั้งครรภ์ ป้องกันและรักษาอย่างไร
จากการที่มดลูกขยายใหญ่ขึ้นจนมีการกดทับลำไส้ใหญ่ ทำให้การทำงานของระบบขับถ่ายไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ ผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงที่มีการตั้งครรภ์ อาจทำให้หลอดเลือดบริเวณรอบทวารหนักเกิดการขยายตัวและโป่งพอง จึงทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ง่ายขึ้นจนเป็นสาเหตุของอาการริดสีดวงทวารในระหว่างตั้งครรภ์
แม่ท้องควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอาการริดสีดวงทวาร เช่น ควรรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงให้มากขึ้น รวมทั้งควรออกกำลังกายอย่างพอเหมาะตามที่คุณหมอแนะนำ และควรดื่มน้ำสะอาดมากๆ ซึ่งจะช่วยลดอาการท้องผูกได้
10. ทำไมตอนท้องชอบปวดนิ้วมือ นิ้วเท้า
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายระหว่างตั้งครรภ์ส่งผลให้เส้นเอ็นคลายตัว จึงทำให้เกิดการหย่อนตัวของข้อต่อกระดูก ในขณะเดียวกันกล้ามเนื้อก็ทำงานมากขึ้น จึกเกิดอาการปวดข้อตามมา
ในระหว่างนี้แม่ท้องควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง และควรออกกำลังกายตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเหมาะสม หากมีอาการปวดหรือชาเพิ่มมากขึ้นก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ให้รีบไปพบคุณหมอเพื่อความปลอดภัยจะดีที่สุดครับ
ที่มา bumrungrad.com, thaihealth.or.th