ความผิดปกติของน้ำคร่ำแบบไหน อันตรายต่อลูกในครรภ์

น้ำคร่ำคืออะไร ทำหน้าที่อย่างไร แบบไหนเรียกผิดปกติ

น้ำคร่ำคืออะไร

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับน้ำคร่ำกันก่อนครับว่า น้ำคร่ำคืออะไร

น้ำคร่ำนั้น สร้างมาจากทั้งฝ่ายแม่และลูก โดยในช่วงเริ่มต้นน้ำคร่ำจะมาจากสารน้ำที่ซึมผ่านรกเข้ามาจากหลอดเลือดของทารก ต่อมาเมื่อทารกเริ่มพัฒนาระบบปัสสาวะ จึงมีน้ำคร่ำที่มาจากน้ำปัสสาวะของทารกเป็นส่วนใหญ่ และส่วนที่เหลือนั้นมาจากสารน้ำของปอดที่สร้างและหลั่งออกมาทางหลอดลม

น้ำคร่ำทำหน้าที่อะไร

  • ทำให้ทารกมีการเคลื่อนไหวอยู่ภายในถุงน้ำคร่ำได้ซึ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
  • ช่วยให้ทารกรู้จักการหายใจและการกลืน
  • ป้องกันทารกติดเชื้อจากแบคทีเรียชนิดต่างๆระหว่างที่อยู่ในครรภ์
  • ป้องกันการกระทบกระเทือนที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ทารก
  • รักษาอุณภูมิของทารกในครรภ์ให้คงที่
  • เป็นแหล่งให้สารอาหารแก่ทารก
  • แรงดันน้ำในโพรงน้ำคร่ำมีส่วนช่วยขยายปากมดลูกเมื่อเจ็บครรภ์คลอด

หากมีน้ำคร่ำมากไปหรือน้อยไป ส่งผลอย่างไร ติดตามหน้าถัดไปได้เลย >>

ความผิดปกติของน้ำคร่ำแบบไหน อันตรายต่อลูกในครรภ์

การตั้งครรภ์ที่มีน้ำคร่ำมากหรือน้อยเกินไป สามารถบ่งบอกได้ว่า ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตที่ดีหรือไม่ดี มีโอกาสพิการหรือไม่

น้ำคร่ำมากกว่าปกติ

แม่ท้องที่มีปริมาณน้ำคร่ำมากกว่าปกติ หรือที่เรียกว่าครรภ์แฝดน้ำ พบได้ประมาณร้อยละ 1 ของการคลอด โดยคุณแม่อาจสังเกตได้จากการที่ท้องใหญ่กว่าอายุครรภ์ และรู้สึกว่าท้องโตขึ้นอย่างรวดเร็ว หายใจอึดอัด นอนราบไม่ได้ เมื่อคุณหมอสงสัยก็จะทำการตรวจยืนยันด้วยการทำอัลตร้าซาวนด์

โดยปกติแล้วครรภ์แฝดน้ำชนิดรุนแรงน้อยหรือเรื้อรัง ส่วนใหญ่อาจจะไม่มีอาการ หรือหากมีก็ไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องรักษา เพียงแต่ตรวจเช็คดูความผิดปกติที่อาจจะเกิดร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน หรือทารกในครรภ์ผิดปกติ แต่ถ้าคุณแม่หายใจลำบาก มีอาการปวดท้อง หรือเคลื่อนไหวลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์

สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะครรภ์แฝดน้ำ เกิดจากความผิดปกติของทารก จึงไม่สามารถป้องกันได้ ยกเว้นในกรณีที่คุณแม่เป็นเบาหวาน หากสามารถควบคุมน้ำตาลให้ดีก็จะลดความเสี่ยงได้มาก รวมถึงการไปฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ และแจ้งคุณหมอเมื่อรู้สึกถึงอาการผิดปกติ เพื่อให้สามารถตรวจพบความผิดปกติได้เร็วขึ้น

น้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ

ภาวะน้ำคร่ำน้อย เป็นภาวะที่ปริมาตรน้ำคร่ำของทารกในครรภ์ลดลง เหลือน้อยกว่าร้อยละ 5 ของปริมาตรน้ำคร่ำปกติในอายุครรภ์นั้นๆ ซึ่งสามารถตรวจทราบได้เบื้องต้นจากการตรวจอัลตราซาวนด์ โดยทั่วไปพบร้อยละ 1-2 ของการตั้งครรภ์ โดยเมื่อแม่ท้องมีภาวะน้ำคร่ำน้อย มักจะสัมพันธ์กับผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ที่ไม่ค่อยดี โดยภาวะน้ำคร่ำน้อยอาจส่งผลดังนี้

  • อาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด
  • อาจทำให้ทารกเกิดการสำลักขี้เทา
  • เพิ่มโอกาสผ่าตัดคลอด
  • อาจทำให้ปอดของทารกไม่พัฒนา

อย่างไรก็ตาม แม่ท้องควรมีการฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามและเฝ้าระวังสุขภาพของทารกในครรภ์รวมทั้งการวางแผนการคลอดที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยของทารกต่อไป


ที่มา med.cmu.ac.th, thebump

รูปภาพประกอบจาก en.wikipedia.org

บทความโดย

P.Veerasedtakul