คลอดก่อนกำหนด ภาวะเสี่ยงที่ต้องใส่ใจ

ภาวะคลอดก่อนกำหนด สิ่งที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากเจอ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

คลอดก่อนกำหนด ภาวะเสี่ยงที่ต้องใส่ใจ หนึ่งในสาเหตุต้น ๆ ที่ทำให้เจ้าตัวน้อยต้องเข้ารับการรักษา ในหน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ (Neonatal Intensive Care Unit : NICU) คือ การคลอดก่อนกำหนด นั่นคือการคลอดก่อนครบสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ เนื่องมาจากอายุ และโรคประจำตัวของมารดา ความผิดปกติของโครโมโซมของลูก รวมถึงกรรมพันธุ์ และอื่น ๆ

คลอดก่อนกำหนด ภาวะเสี่ยงที่ต้องใส่ใจ ดังนั้นผู้ปกครองควรที่จะฝากครรภ์ กับโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทาง เครื่องมือเทคโนโลยีครบครัน ที่สำคัญคือ มีหน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ คอยดูแล ย่อมช่วยให้คลอดเจ้าตัวน้อยได้อย่างราบรื่น

การคลอดก่อนกำหนด (Preterm Labor)

คือภาวะปากมดลูกเปิด ที่เป็นผลมาจากการหด และขยายตัวของมดลูก ในช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งการตั้งครรภ์แบบครบกำหนดคลอดจะใช้เวลา 37 – 40 สัปดาห์ การคลอดก่อนกำหนด จะส่งผลกระทบต่อทั้งมารดา และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทารกได้

การคลอดก่อนกำหนด และมีภาวะแทรกซ้อน มักจะพบปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ดูด และกลืน มีเลือดออกในสมอง มีความเสี่ยงต่อการเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และติดเชื้อ รวมไปถึงปัญหาในการทำงานของไต เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 56 รู้ก่อนคลอด โอกาสคลอดก่อนกำหนด

อาการ และสัญญาณ ของการคลอดก่อนกำหนด

การคลอดก่อนกำหนดอาจสามารถเกิดขึ้นได้ โดยร่างกายจะส่งสัญญาณเตือนให้ทราบก่อน ซึ่งว่าที่คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ หากสำรวจแล้วพบว่ามีอาการดังต่อไปนี้

  • มีอาการปวดหลังช่วงล่าง หรือบริเวณเอว อาจแสดงอาการอย่างต่อเนื่อง หรือเป็นแล้วหาย ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนอิริยาบถแล้วก็ตาม
  • มีอาการหดตัวของมดลูก อาจเกิดขึ้นเป็นระยะทุก ๆ 10 นาที หรือมีความถี่ที่มากกว่านั้น อาจรู้สึกเจ็บ หรือไม่เจ็บก็ได้
  • มีอาการปวด หรือเป็นตะคริวที่บริเวณท้องช่วงล่าง อาจรู้สึกคล้ายตอนปวดประจำเดือน
  • มีของเหลวไหลออกมาจากช่องคลอด หรือมีน้ำคร่ำแตก
  • มีความรู้สึกเหมือนจะเป็นไข้ เช่น คลื่นไส้อาเจียร หรือท้องเสีย
  • รู้สึกได้ถึงความดันเพิ่มขึ้น บริเวณเชิงกราน หรือช่องคลอด
  • มีเลือดออกบริเวณช่องคลอด

การหดตัวของมดลูก เป็นสัญญาณที่ร่างกายแสดงออกถึงความพร้อมของการคลอด สำหรับคุณแม่ ที่สงสัยว่าอาจจะมีการคลอดก่อนกำหนด สามารถตรวจสอบการหดตัวของมดลูกได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • ใช้นิ้ววางที่บริเวณหน้าท้อง สังเกตความรู้สึกถึงการหด และคลายตัวของมดลูก และทำการจดบันทึกสถิติ
  • ยืดขา เปลี่ยนอิริยาบถ และดื่มน้ำสะอาด 2 – 3 แก้ว เพื่อเป็นการลดอัตราการหดตัวของมดลูก
  • ควรไปพบแพทย์ หากพบการหดตัวของมดลูกทุก 10 นาที หรือถี่กว่านั้น หรือหากอาการไม่บรรเทา

สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยง ของการคลอดก่อนกำหนด

ในปัจจุบันแพทย์ยังไม่สามารถให้คำตอบที่แน่ชัดได้ ว่าการคลอดก่อนกำหนดมีสาเหตุมาจากอะไร ทำไมถึงเกิดภาวะการคลอดก่อนกำหนดในหญิงตั้งครรภ์บางราย แต่สันนิษฐานได้ว่า อาจมีผลมาจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • มีประวัติการคลอดก่อนกำหนด
  • มีประวัติการแท้งลูก
  • ตั้งครรภ์แฝด หรือมีจำนวนบุตรในครรภ์มากกว่า 1 คน
  • ตั้งครรภ์ตอนอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป
  • มีปัญหาเกี่ยวกับมดลูก มดลูก หรือปากมดลูกมีรูปร่างผิดปกติ หรือเคยตรวจพบชิ้นเนื้อที่ปากมดลูก
  • มีความผิดปกติในน้ำคร่ำ เช่น มีน้ำคร่ำมากเกินไป
  • มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์เป็นพิษ หรือครรภ์เป็นพิษอย่างรุนแรง
  • มีเลือดออกที่ช่องคลอดระหว่างตั้งครรภ์
  • มีความพิการเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์
  • ได้รับการดูแลในช่วงก่อนการคลอดน้อยเกินไป หรือไม่เคยฝากครรภ์

  • ระยะการตั้งครรภ์จากบุตรคนที่ผ่านมาน้อยกว่า 6 เดือน
  • มีการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อมะเร็งปากมดลูก การติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปบี (Group B Streptococci) การติดเชื้อทริโคโมแนส หรือช่องคลอดอักเสบจากเชื้อพยาธิ รวมถึงการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส
  • มีประวัติของโรคโลหิตจาง โรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง หรือโรคเหงือก
  • มีการใช้ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของ Diethylstilbestrol ระหว่างตั้งครรภ์
  • มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวมากเกินไป หรือน้อยเกินไป ก่อน หรือในช่วงการตั้งครรภ์
  • เกิดการตั้งครรภ์ในระหว่างที่ใช้ห่วงอนามัย
  • มีการสูบบุหรี่ หรือใช้ยาเสพติด
  • ความเครียด ยกของหนัก หรือได้รับบาดเจ็บในระหว่างตั้งครรภ์

บทความที่เกี่ยวข้อง : ผลวิจัยเผย ภาวะโลกร้อน มีผลต่อภาวะแท้งในหญิงตั้งครรภ์ เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด

การวินิจฉัยการคลอดก่อนกำหนด

เบื้องต้นสามารถทำการวินิจฉัยได้ โดยแพทย์จะนำเครื่องมือมาติดที่บริเวณหน้าท้อง เพื่อวัดอัตราการเต้นหัวใจของทารก และบันทึกอัตราการหด และคลายตัวของมดลูก หรือแพทย์อาจทำการทดสอบร่วมด้วย โดยมีวิธีการ และรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • การตรวจภายใน แพทย์จะทำการตรวจความกว้าง และระยะห่างของปากมดลูก ขนาดตัว และตำแหน่งของทารกในครรภ์
  • การอัลตราซาวด์ เพื่อทำการวัดความยาวของปากมดลูก รวมไปถึงขนาดตัว น้ำหนัก อายุ และตำแหน่งของทารก อาจต้องเว้นระยะในการตรวจเพื่อเห็นการเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาการของทารกในครรภ์
  • การเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งไปตรวจ เพื่อตรวจหา Fetal Fibronectin ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ทารกสร้างขึ้น เพื่อเป็นการประเมินความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด ถ้าตรวจพบแสดงว่าจะมีการคลอดเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้
  • การเจาะตรวจน้ำคร่ำ (Amniocentesis) โดยการเก็บตัวอย่างน้ำคร่ำ เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของปอดทารก และตรวจหาการติดเชื้อต่าง ๆ

การยับยั้งการคลอดก่อนกำหนด

การคลอดก่อนกำหนดจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อทั้งมารดา และทารกในครรภ์ แพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ทำการคลอดใกล้กำหนดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากเกิดภาวะเสี่ยงที่จะมีการคลอดก่อนกำหนดขึ้น แพทย์จะทำการยับยั้งเบื้องต้น อาจเป็นการดื่ม หรือทางน้ำเกลือแล้วแต่ความเหมาะสม และแพทย์อาจมีการใช้ยาร่วมด้วย เช่น ยาเทอร์บูทาลีน (Terbutaline) ยาอินโดเมธาซิน (Indomethacin) หรือยาอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) แพทย์จะแนะนำให้ฉีดเมื่อคลอดก่อนกำหนด ในช่วงสัปดาห์ที่ 24 – 34 ของการตั้งครรภ์ เป็นเวลาอย่างน้อย 48 – 72 ชั่วโมง เพื่อเร่งการพัฒนาปอดของทารก
  • แมกนีเซียมซัลเฟต (Magnesium Sulfate) แพทย์แนะนำให้ฉีดในช่วงสัปดาห์ที่ 24 และ 32 ของการตั้งครรภ์ เพื่อลดการหดตัวของมดลูก และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองพิการ
  • ยาโทโคไลติด (Tocolytics) ยาจะออกฤทธิ์เพื่อช่วยระงับการหดตัวของมดลูก
  • แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium-channel Blockers) เช่น ไนเฟดิปีน (Nifedipine) นิคาร์ดิปีน (Nicardipine)
  • ยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปบี

หากพบว่าผู้ที่ตั้งครรภ์มีการหดตัวของมดลูกที่ลดลงแล้ว แพทย์จะให้กลับบ้าน และแนะนำให้นอนพักมาก ๆ ลดการทำกิจกรรมต่าง ๆ จนกว่าจะถึงกำหนดคลอด หรือแพทย์อาจให้ทำการคลอดก่อนกำหนด ในกรณีที่ผู้ตั้งครรภ์มีการติดเชื้อในน้ำคร่ำ มีความดันโลหิตสูง หรือครรภ์เป็นพิษอย่างรุนแรง หรือในกรณีที่รกเกาะต่ำ รกฉีกขาดหรือมีเลือดออกมาก รวมถึงในกรณีที่เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์

บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่แชร์ประสบการณ์ คลอดก่อนกำหนด ลูกสำลักน้ำคร่ำ ต้องใส่สายเครื่องช่วยหายใจ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ภาวะแทรกซ้อน และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกที่คลอดก่อนกำหนด

โดยปกติ การตั้งครรภ์จะใช้ระยะเวลาประมาณ 40 สัปดาห์ แต่สำหรับการคลอดก่อนกำหนดจะเกิดขึ้นในช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 37 ทารกในครรภ์ ยังเจริญเติบโตได้ไม่สมบูรณ์เต็มที่ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ปัญหา รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อทารกที่คลอดก่อนกำหนด โดยมีอาการ และรายละเอียดดังต่อไปนี้

ปัญหาเกี่ยวกับตา และการมองเห็น ในช่วง 3 เดือนสุดท้าย หรือช่วงสัปดาห์ที่ 28 – 40 ของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่ตามีการพัฒนามากที่สุดของทารกในครรภ์ มองภายนอกอาจดูเหมือนปกติแต่จะมีปัญหาในการมองเห็น รวมไปถึงอาการต่าง ๆ เหล่านี้

  • จอประสาทตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด (Retinopathy of Prematurity หรือ ROP) พบมากในทารกที่คลอดก่อนกำหนดในช่วงสัปดาห์ที่ 31 หรือก่อนหน้านั้น ทำให้เลือดไปเลี้ยงจอประสาทตาได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดการบวม เลือดออก และทำให้จอประสาทตาแยกออกจากลูกตา จะส่งผลต่อการมองเห็น หรือถึงขั้นตาบอดได้
  • สูญเสียการมองเห็น ในทารกบางรายอาจเกิดมาโดยมีอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ลูกตา หรือม่านตา จึงทำให้สูญเสียการมองเห็น แต่ค่อนข้างพบได้น้อย

ปัญหาเกี่ยวกับหู และการได้ยิน ในทารกบางราย อาจพบทั้งปัญหาที่เกี่ยวกับตา หรือหูอย่างใดอย่างหนึ่ง บางรายอาจพบปัญหาทั้ง 2 ประการร่วมกัน รวมไปถึงภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังนี้

  • สูญเสียการได้ยินแต่กำเนิด เป็นการสูญเสียการได้ยินเพียงบางส่วน หรือทั้งหมด โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับหูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง มักเป็นผลมาจากความบกพร่องทางพันธุกรรม หรือในผู้ที่มีการติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์
  • ความผิดปกติทางกายภาพของหู มักเกิดจากปัญหาสุขภาพของมารดาในช่วงตั้งครรภ์ ส่งผลต่อโครงสร้างของหู เช่น มีรอยบุ๋ม ติ่งเนื้อ เป็นต้น

ปัญหาเกี่ยวกับสมอง เช่น ภาวะเลือดออกในโพรงสมอง (Intraventricular Hemorrhage) จะพบในทารกที่คลอดก่อนกำหนดน้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม ทำให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ประสาท มักเกิดขึ้นร่วมกับอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ และอาจรวมไปถึงอาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ระดับเซลล์เม็ดเลือดแดงในปริมาณต่ำ หรือโรคโลหิตจาง ร้องไห้มีเสียงแหลม อัตราการเต้นของหัวใจต่ำ หยุดหายใจชั่วขณะ ชัก รวมถึงไม่สามารถดูดนมได้ตามปกติ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ปัญหาเกี่ยวกับไต เช่น ปัญหาในการกรองของเสียออกจากเลือด ปัญหาในการกำจัดของเสีย การผลิตปัสสาวะ เป็นต้น โดยวินิจฉัยจากการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ หรือเลือดไปตรวจระดับของเสีย เช่น โพแทสเซียม ยูเรีย และครีอะตินิน เพื่อวัดสมรรถนะในการทำงานของไต

ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีระบบทางเดินหายใจที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ เช่น การขาดสารลดแรงตึงผิวในปอด จะทำให้ปอดไม่สามารถขยาย และหดตัวได้ตามปกติ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจต่อไป

ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจเกิน (Patent Ductus Arteriosus หรือ PDA) เกิดจากการเปิดของเส้นเลือดหลัก 2 เส้นที่หัวใจ ซึ่งควรจะปิดลงหลังทารกคลอด ทำให้มีเลือดสูบฉีดผ่านปอดเป็นจำนวนมาก และอาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอด และหัวใจล้มเหลวได้ในอนาคต

ปัญหาการติดเชื้อ ทารกที่คลอดก่อนกำหนด จะสามารถติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากทารกมีระบบภูมิคุ้มกันที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ได้รับสารภูมิต้านทาน หรือแอนติบอดี้ (Antibody) จากมารดามาปริมาณเล็กน้อย จะทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย และทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะต้องได้รับการดูแลรักษาหลายอย่าง เช่น การต่อท่อปัสสาวะ หรือท่อช่วยหายใจ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการที่เชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อราจะเข้าสู่ร่างกายของทารก

ปัญหาอื่น ๆ เช่น ความบกพร่องทางปัญญา พัฒนาการช้า ปัญหาด้านพฤติกรรม สมาธิสั้น ฟันขึ้นช้า หรือขึ้นผิดตำแหน่ง ตัวเล็กศรีษะโต มีขนปกคลุมที่ร่างกายมากกว่าปกติ อุณหภูมิในร่างกายต่ำ มีความยากลำบากในการดูดและกลืนอาหาร เป็นต้น

การป้องกันการคลอดก่อนกำหนด

การคลอดก่อนกำหนด อาจจะยังไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่สามารถบอกสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่สิ่งที่สามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด คือการเตรียมความพร้อมในระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงของมารดา และทารก โดยสามารถปฏิบัติได้ตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • การทำหัตถการ การเย็บผูกปากมดลูก (Cervical Cerclage)

แพทย์จะแนะนำสำหรับหญิงที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์ พบประวัติการคลอดก่อนกำหนด แท้ง ติดต่อกันตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป และทำการอัลตราซาวด์และพบว่าปากมดลูกสั้นกว่า 2.5 เซนติเมตร โดยแพทย์จะทำการเย็บโดยใช้ไหมที่มีความแข็งแรงสูง ปกติจะทำการถอดไหมออกในช่วงสัปดาห์ที่ 36 ของการตั้งครรภ์ หรืออาจจะเร็วกว่านั้นหากมีเงื่อนไขที่จำเป็น

  • การฝากครรภ์

โดยแพทย์ และพยาบาลที่เกี่ยวข้องจะให้คำแนะนำ เพื่อสุขภาพที่ดีของมารดา และทารกในครรภ์ โดยเฉพาะในผู้ที่เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนดเพื่อเข้ารับการตรวจ และทดสอบครรภ์ อาจช่วยให้ลดโอกาสการคลอดก่อนกำหนดอีกครั้งได้

  • การรับประทานอาหาร และวิตามิน

อาหาร และวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อการตั้งครรภ์ เช่น กรดโฟลิค ธาตุเหล็ก ไอโอดีน แคลเซียม วิตามินดี วิตามินซี วิตามินอี วิตามินบี 12 ไนอาซิน หรือสังกะสี เพื่อชดเชยวิตามิน และแร่ธาตุที่ขาดหายไปในอาหารที่มารดารับประทาน ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เรื่องขนาด และปริมาณของวิตามิน และแร่ธาตุที่ควรจะได้รับในเงื่อนไขของผู้ที่ตั้งครรภ์

  • งดการสูบบุหรี่ และงดการดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างตั้งครรภ์

รวมถึงการอยู่ในสถานที่ที่มีควันบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติที่จะเกิดขึ้นกับบุตรในครรภ์

  • ระยะห่างของการตั้งครรภ์

ควรเว้นระยะห่างจากการตั้งครรภ์ครั้งล่าสุด อย่างน้อย 6 เดือน อาจสามารถลดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ในครรภ์ต่อไปได้

  • เพิ่มความระมัดระวังการทำกิจกรรม

การออกกำลังกาย การยกของหนัก การทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก รวมถึงการกระแทก เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด

ที่มา : พบแพทย์

แชร์ประสบการณ์หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการคลอดก่อนกำหนด ได้ที่นี่!

คลอดก่อนกำหนด เกิดจากอะไรได้บ้างคะ แล้วแบบไหนคือสัญญาณคลอดก่อนกำหนดคะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความโดย

Arunsri Karnmana