ข้อเท็จจริงและอันตราย จากภาวะรกค้างในมดลูก
หลังจากคลอดลูกน้อยออกมาก็นับว่างานหนักของคุณผ่านพ้นไปเกือบหมดแล้ว แต่การคลอดยังไม่สิ้นสุดลงนะคะ คุณยังต้องคลอดรกซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตลูกน้อยตอนอยู่ในครรภ์ออกมาในระยะที่สามของการคลอดซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายด้วย ถ้าคุณโชคดี รกจะตามหลังลูกน้อยออกมาติด ๆ แต่ส่วนมากแล้วจะไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อต้องคลอดรก คุณสามารถเลือกได้ว่าจะคลอดเองตามธรรมชาติหรือใช้การกระตุ้นช่วยเหลือ เราได้กล่าวถึงความแตกต่างของการคลอดรกทั้งสองแบบนี้ไว้ในอีกบทความหนึ่ง แต่หากคุณเลือกคลอดรกด้วยวิธีธรรมชาติ กระบวนการในขั้นตอนนี้อาจกินเวลาตั้งแต่ 20-50 นาที
ข้อเท็จจริงและอันตรายจากภาวะรกค้างในมดลูก
สัญญาณของภาวะรกค้าง
เมื่อคลอดรกแล้ว มดลูกจะเริ่มหดรัดตัวเพื่อปิดเส้นเลือดทั้งหมดและเตรียมกลับสู่สภาพปกติ ถ้ามีส่วนหนึ่งส่วนใดของรกค้างอยู่ มดลูกจะไม่สามารถหดรัดตัวได้ ทำให้แผลไม่สมาน ตกเลือดไม่หยุดและคุณจะสังเกตได้ว่ามีเลือดออกหลังคลอดรกออกมาด้วย
นอกจากเลือดออกมากทางช่องคลอด คุณยังอาจมีไข้สูง ถ้ามีรกค้างในมดลูก ร่างกายจะเริ่มแสดงอาการในสองสามวันหลังคลอด เลือดจะเป็นสีแดงสด ไหลต่อเนื่องไม่หยุดหรือทะลักออกมาเป็นระลอกและอาจนำไปสู่การติดเชื้อ แต่กรณีเช่นนี้มีน้อยมาก ภาวะรกค้างเกิดขึ้นน้อยกว่าร้อยละ 1 ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด
สาเหตุของภาวะรกค้าง
สาเหตุของภาวะรกค้างมีอยู่ 3 ประการ
- มดลูกหยุดหดรัดตัวหรือหดรัดไม่มากพอที่จะลอกรกออกจากผนังมดลูก
- รกอาจลอกจากผนังมดลูกทั้งหมด แต่ติดอยู่ตรงปากมดลูกที่เริ่มปิด
- กระเพาะปัสสาวะที่เต็มอาจขวางทางรกไว้ แต่ตามปกติ แพทย์จะใช้สายสวนปัสสาวะออกมาอยู่แล้ว
การรักษาภาวะรกค้าง
วิธีการรักษานั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะรกค้าง ในหลายๆ กรณี แพทย์จะฉีดฮอร์โมนอ็อกซิโทซิน (Oxytocin) ทางเส้นเลือดเพื่อเร่งมดลูกให้หดรัดตัวและขับรกส่วนที่ค้างออกมา วิธีการนี้มักได้ผล แต่ถ้ารกยังไม่ออกมา แพทย์ต้องช่วยเอาออกมาด้วยมือ แต่ไม่ต้องวิตกนะคะ วิสัญญีแพทย์จะฉีดยาชาให้คุณในบริเวณนั้นเพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บปวด
หากมีเลือดออกมากเป็นเวลานานหลายวันหลังคลอด แพทย์จะใช้อัลตราซาวด์ตรวจหาลิ่มเลือดหรือส่วนของรกที่ตกค้าง ในกรณีนี้ คุณต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ช่วยนำรกออก จริงอยู่ว่านี่เป็นกระบวนการที่ อาจทำให้คุณไม่สบายทั้งกายและใจแต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นและจะเสร็จสิ้นลงอย่างรวดเร็ว
รกค้าง ภาวะเสี่ยงเฉียบพลันสำหรับคุณแม่หลังคลอด แม้จะคลอดทารกออกมาแล้ว แต่หากไม่คลอดรก ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เรามาทราบถึงความเสี่ยง อาการ และความผิดปกติต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น และแนวทางที่จะช่วยให้คุณแม่ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง หากต้องตกอยู่ใน ภาวะรกค้าง
“รก” สายใยแม่และลูก
รกเป็นอวัยวะพิเศษของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์ ที่ถูกสร้างมาพร้อม ๆ กับทารก โดยหลังจากคุณแม่ตั้งครรภ์ร่างกายจะเริ่มสร้างเซลล์ 2 ส่วนไปพร้อมกัน ส่วนที่ 1 คือ เซลล์ที่ประกอบกันเป็นทารก และอีกส่วน คือ รก ซึ่งเกาะอยู่ด้านในผนังมดลูก โดยรกประกอบด้วย สายสะดือ เยื่อหุ้มรก และเนื้อรก หน้าที่สำคัญของรก ได้แก่ การส่งผ่านเลือด ลำเลียงอาหารและอากาศ ขับถ่ายของเสีย และสร้างฮอร์โมนเพื่อความเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของทารก และระบบการตั้งครรภ์ เช่น สารภูมิคุ้มกันและต้านทานโรคต่าง ๆ ฮอร์โมนกระตุ้นการผลิตน้ำนม ฮอร์โมนที่ช่วยลดความเจ็บปวดในการคลอดและลดความเสี่ยงในการแท้งอีกด้วย
รู้หรือไม่? คลอดลูกแล้ว ต้องคลอดรก
ขั้นตอนในการคลอดลูกตามธรรมชาติแล้ว เมื่อครรภ์พร้อมคลอด ปากมดลูกเปิด 10 เซนติเมตร ทารกจะค่อย ๆ เคลื่อนออกมาทางช่องคลอด ตามแรงเบ่งของคุณแม่ หลังจากทารกคลอดออกมาอย่างสมบูรณ์ประมาณ 5-10 นาที จะมีการคลอดรกก็คือ มีรกและเยื่อหุ้มทารกหลุดตามออกมาทางช่องคลอด แต่หากคลอดทารกเกิน 30 นาที แต่รกยังไม่คลอดออกมา นั่นเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งบอกถึง ภาวะรกค้าง ซึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการทำคลอดรกต่อไป
แค่ รกค้าง ถึงตาย จริงหรือ??
ภาวะรกค้างสามารถเกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ คือ รกค้างทั้งรก ที่อาจจะเกิดจากความผิดปกติของมดลูก เช่น รกลอกตัวไม่สมบูรณ์ ความผิดปกติของกล้ามเนื้อปากมดลูก ทำให้รกคลอดออกมาเองไม่ได้ หรือความผิดปกติจากการหดรัดตัวของมดลูกเอง ซึ่งหากรกไม่คลอดออกมา รกนั้นจะไปขัดขวางการหดรัดตัวของมดลูกหลังคลอด ทำให้เลือดไหลไม่หยุด เกิดภาวะตกเลือดจนเสียชีวิตได้ ในการรักษาคุณหมอจะทำการคลอดรกด้วยการฉีดฮอร์โมน เพื่อเร่งรกส่วนที่ค้างอยู่ให้หลุดลอกออกมา แต่หากไม่สำเร็จอาจจะต้องทำการล้วงรกเพื่อให้รกหลุดออกมาอย่างสมบูรณ์
ส่วน รกค้าง เพียงบางส่วน จากเศษรกที่ออกมาไม่หมดแล้วตกค้างอยู่ในโพรงมดลูก ทำให้เกิดการติดเชื้อ และเข้าสู่ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบตามมา คุณหมอจะทำการอัลตร้าซาวน์เพื่อหาเศษรกที่ติดอยู่ภายใน และทำการขูดมดลูก เพื่อกำจัดเศษรก และรักษาการติดเชื้อต่อไป จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะรกค้างทั้งรก หรือเศษรกค้างบางส่วนก็เป็นอันตรายถึงชีวิตได้จริง ๆ
คลอดธรรมชาติ หรือ ผ่าคลอด แบบไหนปลอดภัยจาก รกค้าง
คุณแม่หลายคนคงสงสัยว่า วิธีการคลอดธรรมชาติ หรือผ่าคลอด วิธีไหนมีความเสี่ยงต่อภาวะรกค้างน้อยกว่ากัน ในความเป็นจริงภาวะรกค้าง มีสาเหตุและปัจจัยจากสุขภาพร่างกายและมดลูกของคุณแม่เป็นทุนเดิม เช่น เคยผ่าคลอดมาก่อน มีภาวะรกลอกยาก รกเกาะต่ำ มีความเสี่ยงจากการแท้งมาก่อน เป็นต้น ดังนั้น วิธีการคลอดจะด้วยการคลอดตามธรรมชาติ หรือการผ่าคลอด จึงอาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องต่อความเสี่ยงจากภาวะรกค้าง
คุณแม่ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะรกค้าง
- คุณแม่ที่เคยผ่าคลอด มีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดเศษรกค้างจากรกฝังตัวแน่น ทำให้ในการคลอดรก อาจจะคลอดยากหรือคลอดไม่สมบูรณ์ และมีเศษรกค้างได้
- ตรวจพบว่ามีภาวะรกเกาะต่ำ คือ รกลงมาเกาะอยู่บริเวณส่วนล่างของมดลูก เมื่อคลอดทารกแล้ว รกไม่คลอดตามมา ทำให้เลือดไหลไม่หยุดและเกิดภาวะตกเลือด
- เคยขูดมดลูกมาก่อน คุณแม่ที่เคยขูดมดลูกมาก่อนจะมีความเสี่ยง เนื่องจากเยื่อบุโพรงมดลูกจะบาง ทำให้รกที่สร้างมาใหม่ เกาะแน่นผิดปกติ รกจึงคลอดยาก
- การติดเชื้อในเยื่อบุโพรงมดลูกจากการแท้ง ทำให้เนื้อเยื่อรกไม่แข็งแรง ฉีกขาดง่าย และส่งผลให้รกไม่สามารถคลอดออกมาได้เอง
- คุณแม่ที่เคยรกค้างในครรภ์มาจากการท้องก่อนหน้านี้ ย่อมมีความเสี่ยงต่อภาวะรกค้างในการท้องครั้งต่อ ๆ ไป
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สามารถพบได้จากการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ เช่น ความผิดปกติของมดลูกจากการตั้งครรภ์ก่อนหน้านี้ การแท้งที่มีสาเหตุจากมดลูก คุณแม่อายุมาก หรือจากโรคประจำตัวของคุณแม่ เป็นต้น
ข้อเท็จจริงและอันตราย จากภาวะรกค้างในมดลูก