ก้อนที่เต้านมระหว่างตั้งครรภ์ ก้อนเนื้อที่นม สามารถพบได้บ่อยครั้ง แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นก้อนที่เกี่ยวกับการสร้างน้ำนม หรือเนื้อเต้านมที่โตเพิ่มขึ้นจนดูคล้ายว่าจะเป็นก้อนเนื้องอก แต่มีโอกาสน้อยมากที่จะเป็นเนื้องอกจริง ๆ ซึ่งมีทั้งเนื้องอกชนิดธรรมดา ที่เรียกว่า ไพโบรอะดีโนมา (fibroadenoma) รวมทั้งมะเร็งเต้านม และบางครั้งก็เป็นถุงน้ำ
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดก้อนเนื้อผิดปกติบริเวณเต้านมนั้น ก็เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์ เต้านมของผู้หญิงจะมีการเตรียมตัวในการให้นมลูก ดังนั้นต่อมน้ำนม และเนื้อเยื่อในเต้านมต่าง ๆ จะตอบสนองต่อฮอร์โมน ทำให้มีการเจริญเติบโตมากกว่าปกติ เพื่อเตรียมสร้างน้ำนม ดังนั้น ตั้งแต่เดือนที่ 4-5 เป็นต้นไป เต้านมจะค่อย ๆ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสังเกตได้ชัดขึ้น โดยคุณแม่อาจคลำเจอก้อนผิดปกติที่เต้านมได้
ก้อนที่เต้านมระหว่างตั้งครรภ์ ก้อนเนื้อที่นม อันตรายไหม
สำหรับก้อนเนื้อชนิดธรรมดาที่พบได้บ่อยกว่า มักจะเป็นก้อนที่อาจโตมานานก่อนการตั้งครรภ์ หรือเพิ่งคลำพบ โดยก้อนที่เต้านมจะมีขอบเขตชัดเจน และมักจะวินิจฉัยได้ไม่ยาก โดยการคลำเต้านมของศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็เพียงพอ หรืออาจจะใช้เพียงแค่อัลตราซาวด์เต้านม ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อลูกในท้อง ในขณะที่การตรวจเช็คบางอย่าง เช่นการทำเอกซเรย์แมมโมแกรม ก็อาจมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ โดยเฉพาะ ในระยะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก
อย่างไรก็ดี การที่คลำเจอก้อนผิดปกติที่เต้านมระหว่างตั้งครรภ์ แม่ว่าก้อนที่คลำได้ส่วนใหญ่มักจะไม่ใช่มะเร็งเต้านม และมักจะเป็นก้อนที่โตตามสรีระวิทยา หรือเกิดจากการอุดตันของท่อน้ำนม หรือเกิดจากการอักเสบก็ตาม แต่สิ่งที่ควรทำอันดับแรกก็คือไปพบคุณหมอ เพื่อทำการตรวจประเมินครับ
การผ่าตัดเอาก้อนเนื้อที่เต้านมออกในระหว่างตั้งครรภ์ มีอันตรายแค่ไหน
ในกรณีที่เป็นก้อนเนื้องอกชนิดธรรมดา และแพทย์จำเป็นต้องผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกเพื่อพิสูจน์ชิ้นเนื้อ หรือเพื่อการรักษา ซึ่งหากทำในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ก็อาจจะมีความเสี่ยงต่อการแท้งได้บ้าง โดยเฉพาะถ้าต้องดมยาสลบ
แต่ถ้าก้อนเนื้อมีขนาดเล็ก แล้วต้องผ่าตัดด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ โดยไม่ต้องดมยาสลบ ก็จะไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก มีโอกาสแท้งน้อย และแผลก็จะหายได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไป
แต่ในกรณีที่คลำพบในช่วงใกล้คลอด และเป็นเนื้องอกธรรมดา ก็ยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัด และสามารถเลื่อนการผ่าตัดออกไปได้ นั่นเป็นเพราะการผ่าตัดในช่วงใกล้คลอดจะทำได้ลำบาก เพราะเต้านมที่กำลังขยายตัว จะมีเลือดมาเลี้ยงในปริมาณมาก และยังมีน้ำนมคอลลอสตรัมอยู่เต็มเต้านม จึงอาจทำให้เลือดออกมากกว่าปกติ ละเกิดการคั่งค้างของน้ำนม จนเกิดการอักเสบ หรือมีน้ำนมคั่ง และไหลออกตามรอยแผลผ่าตัดหลังการตัดไหมได้ ดังนั้น ถ้าคุณหมอวินิจฉัยแล้ว พบว่า ก้อนเต้านมไม่มีอันตรายอะไร ก็อาจจะเลื่อนการผ่าตัดไปในช่วงหลังคลอด หรือหลังหย่านมแล้วก็ยังได้ โดยคุณหมอมักจะนัดให้มารับการตรวจเป็นระยะทุก 3 เดือนครับ
ปกติแล้ว เราควรตรวจสุขภาพเต้านมอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยทุก ๆ เดือนแต่หากอยู่ในช่วงที่ตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงที่ต้องให้นมบุตร ก็อาจจะต้องตรวจบ่อยขึ้น หรือวิธีง่าย ๆ ก็คือ ทุกครั้งที่อาบน้ำถูสบู่ ก็ให้ลองลูบคลำเต้านม หากพบก้อนอะไรที่ผิดปกติ ก็ให้รีบไปพบคุณหมอนะครับ
ที่มา si.mahidol.ac.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เช็คด่วนก่อนจะสาย! 5 สัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม ที่หญิงไทยต้องรู้
วิธีนับลูกดิ้น นับอย่างไร ถึงจะรู้ว่าลูกปลอดภัย ไม่เสียชีวิตในครรภ์
อาหารบำรุงครรภ์ คนท้องควรทานอะไร อาหารแบบไหนแม่ท้องห้ามกิน