โรคภูมิแพ้สามารถเกิดได้จากกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขสาเหตุที่เกิดจากทางกรรมพันธุ์ได้ แต่หากดูแลลูกน้อยด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตลอดจนการรับประทานอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้ได้
กินอย่างไรที่ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้ในเด็ก
- การให้เด็กดื่มนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนหรือมากกว่า จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคภูมิแพ้ขึ้นได้
- สำหรับเด็กที่เป็นผื่นแพ้ผิวหนังอาจพบมีการแพ้อาหารร่วมด้วย ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมจะสามารถลดอัตราการเกิดของการแพ้อาหารได้
- การดื่มนมมารดาหรือนมสูตรพิเศษ (extensively hydrolyzed formulaหรือ partially hydrolyzed formula) ที่มีผลวิจัยรับรอง ซึ่งเป็นนมที่มีการย่อยสลายโปรตีนที่ทำให้เกิดการแพ้ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ได้ นอกจากนี้การดื่มนมที่ผสมจุลินทรีย์สุขภาพ (probiotic bacteria) เช่น แลคโตบาซิลลัส และบิฟิโดแบคทีเรียม ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันและลดอัตราการเกิดผื่นแพ้ผิวหนังได้
- สำหรับเด็กที่ไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ นอกจากดื่มนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน การรับประทานอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูงในปริมาณที่เหมาะสม หรือเพิ่มสารอาหารอื่นๆ จะช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายและช่วยป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ ได้แก่ สังกะสี วิตะมินเอ ซิลีเนียม และนิวคลีโอไทด์ นอกจากนั้น การบริโภคกรดไขมันไม่อิ่มตัวบางชนิดเช่น docosahexaenoic acid (DHA) ในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ได้
- ในเด็กที่มีประวัติครอบครัวที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ควรดื่มนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน หากไม่สามารถให้นมแม่ได้ ควรให้นมลูกด้วยนมสูตรพิเศษจนกระทั่งเด็กมีอายุ 1 ปี หลีกเลี่ยงการดื่มนมวัวสูตรปกติ หรือรับประทานอาหารที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบหลัก รวมถึงนมถั่วเหลือง นมแพะ นมแกะ ทั้งนี้เนื่องจากมีโอกาสที่จะทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้เช่นเดียวกับการแพ้นมวัว
นอกจากการรับประทานอาหารที่เหมาะสมแล้ว การกำจัดและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสีย, ควันไฟ, ฝุ่นละอองจากแหล่งต่างๆ, หมั่นทำความสะอาดที่นอน เครื่องเรือน เครื่องใช้ภายในบ้านเป็นประจำ รวมถึงการดูแลสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน ฯลฯ การปฏิบัติดังกล่าว หากได้ดูแลและปกป้องลูกตั้งแต่อายุน้อยๆ จะสามารถป้องกันโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจได้
ที่มา : รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
www.si.mahidol.ac.th
อยากรู้ว่าโรคภูมิแพ้คืออะไร คลิก!