กิจกรรมเสริมพัฒนาการเด็กเล็ก
กิจกรรมเสริมพัฒนาการเด็กเล็ก วัยขวบครึ่ง ถึง 3 ขวบ เป็นช่วงที่สำคัญมากๆ เนื่องจากลูกน้อยจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะทางด้านภาษา ความคิด การใช้ภาษา ความรับผิดชอบ ระเบียบวินับ และทักษะด้านสังคมอื่นๆ คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องคอยอธิบายกฎกติกาต่างๆ ในลูกน้อยฟัง เพื่อให้เด็กเข้าใจหน้าที่ของตัวเอง เช่น การเก็บของเล่นหลังจากเล่นเสร็จ ระหว่างกินข้าวจะไม่เล่น ไม่เดิน ต้องอาบน้ำก่อนที่จะเล่น เพราะการฝึกวินัยผ่านการใช้กติกา หากเริ่มในวัยนี้ จะช่วยทำให้เด็กพัฒนาการมีวินัย และการควบคุมตนเอง (Self-Regulation) ได้ดีมากๆ กิจกรรมที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ ได้แก่
1. ฝึกขว้างสิ่งของ
วัยนี้ เหมาะมากๆ ที่จะให้เด็กได้สนุกกับการฝึกขว้าง โดยอาจจะให้ลูกลูกบอลลงตะกร้า หรือเล่นรับส่งลูกบอลก็ได้ค่ะ เพื่อที่จะได้เป็นการพัฒนาการประสานมือตา การเดินบนกระดานทรงตัว การวิ่งเล่นผ่านทางลาดชัน การกระโดด และการปีนป่ายต่างๆ สำหรับการพัฒนาด้านการจดจำได้เป็นอย่างดี คุณพ่อคุณแม่อาจเพิ่มคำสั่ง โดยการบอกลำดับต่างๆ ให้ลูกลองทำตามดูก็ได้นะคะ เช่น ลูกหยิบลูกบอลสีแดงให้แม่หน่อย ส่วนลูกบอลสีฟ้าให้หยิบไปใส่ตะกร้า เป็นต้น สำหรับการฝึกการยับยั้งชั่ง อาจทำผ่านกิจกรรมสนุกๆ ได้เช่นกัน เช่น แม่อาจจะสั่งลูกว่า พอลูกเดินไปถึงประตู แล้วให้เดินกลับมาหาแม่เลยนะ ถ้าแม่บอกว่า “หมาป่ามาแล้ว” ให้วิ่งกลับมาหาแม่เลย เพื่อฝึกให้เขาคุ้นเคยกับการฉุกคิด แล้วหยุดทำ
2. การร้องเพลง
เวลาที่ลูกน้อยเต้น ร้องเพลง หรือทำท่าเลียนแบบท่าทางต่างๆ รวมทั้งการขยับนิ้วมือ ตามเพลง ก็เป็นกิจกรรมที่พัฒนา Working Memory ได้ดีมากๆ เช่นกันค่ะ
3. กิจกรรมเข้าจังหวะ
กิจกรรมนี้จะทำให้ลูกน้อยได้ฝึกการเคลื่อนไหวช้า หรือเร็ว หรือหยุดการเคลื่อนไหว ตามกติกาที่กำหนด เช่น การเต้นตามเพลง แล้วเร่งจังหวะของเพลงให้เร็วขึ้น สักพักก็ลดจังหวะของเพลงให้ช้าลง พอหยุดเพลงก็ให้เด็กหยุดอยู่กับที่ค้างท่านั้นเอาไว้ จนกว่าเพลงจะมาใหม่ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยสามารถฝึกให้เด็กรู้จักที่จะควบคุม และยับยั้งชั่งใจตนเอง (Self-Inhibition) ได้เป็นอย่างดี
4. ฝึกการเล่าเรื่อง
- ให้คุณพ่อคุณแม่นั่งดูเขาเล่น แล้วพูดคุย พร้อมกับสอบถามในสิ่งที่เขากำลังเล่นอยู่ เช่น ต่อตรงนี้เสร็จแล้วลูกจะทำตรงไหนต่อล่ะลูก มีวิธีอื่นอีกไหมลูก ฯลฯ การสนทนาในรูปแบบนี้จะช่วยฝึกทักษะการพูด และทักษะการคิดวาแผนให้กับลูกได้เป็นอย่างดี
- พูดคุยกับลูกถึงกิจกรรมที่ได้ทำร่วมกัน เช่น พูดคุยถึงการไปเที่ยวสวนสัตว์ ว่าวันนี้เราไปเจออะไรมาบ้างนะ หรืออาจจะพูดคุยถึงหนังสือที่อ่านด้วยกันก็ได้นะครับ กิจกรรมง่ายๆ เหล่านี้ จะช่วยพัฒนา Working Memory ให้กับเด็กได้อย่างมากเลย
- การพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับอารมณ์ที่ลูกรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับลูก ณ ขณะนั้น เช่น คุณพ่อคุณแม่อาจจะถามลูกว่า “ดูเหมือนลูกจะรู้สึกโกรธอยู่ใช่ไหมนะ ทำไมถึงโกรธล่ะ …” หรือคุณพ่อคุณแม่อาจจะพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ได้ เช่น “เมื่อเช้าตอนที่ลูกรู้สึกเสียใจ นี่เสียใจเรื่องอะไรล่ะ ทำไมถึงต้องร้องไห้อย่างนั้นด้วยล่ะ” เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ จะค่อยๆ ช่วยพัฒนาทักษะในการควบคุมอารมณ์ของตนเอง ให้กับลูกได้ เพราะการตั้งคำถาม ให้เขาฉุกคิดถึงสาเหตุของการเกิดอารมณ์ และความรู้สึกต่างๆ จะช่วยทำให้เขาสามารถดึงสติของตัวเองกลับมาได้เร็วขึ้น เมื่อเขาเติบโตขึ้นครับ
5. เล่นเกมจับคู่
พ่อแม่ควรให้เด็กได้ฝึกเล่นเกมจับคู่เหมือน การจับกลุ่มสิ่งของที่อยู่ในประเภทเดียวกัน เช่น มีสีเดียวกัน รูปทรงเหมือนกัน ขนาดเท่ากัน เป็นสัตว์เหมือนกัน เป็นพืชเหมือนกัน เป็นภาชนะเหมือนกัน เป็นยานพาหนะเหมือนกัน ฯลฯ
6. เกมขนาดและรูปทรง
เกมจำพวกที่ต้องหยิบชิ้นวัตถุเพื่อใส่ในช่องที่ตรงกับขนาด และรูปทรงของมันก็เป็นกุโศลบายในการฝึกทักษะการยับยั้งชั่งใจได้ดีมากๆ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะทำตัวอย่างที่ไม่ดีให้ลูกดูแบบขำๆ ก็ได้นะคะ เช่น พยายามเอาชิ้นส่วนขนาดใหญ่พยายามยัดลงในช่องขนาดเล็ก ที่ไม่ใช่ช่องของมัน เด็กจะรู้สึกขำ และจะแก้ไขด้วยการหยิบชิ้นใหญ่ชิ้นนั้น ไปหยอดลงในช่องที่ถูกต้องของมัน จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะท้าทายให้เด็กเล่นเองดูครับ กิจกรรมแบบนี้ จะช่วยทำให้เด็กมีความยับยั้งชั่งใจ พอทำอะไรอย่างหนึ่งไม่ได้ ก็จะไม่ติดนิสัยดันทุรังทำจนอารมณ์เสีย เด็กจะรู้จักที่จะหยุด และคิดหาวิธีใหม่ในการแก้ปัญหาได้ดีค่ะ
7. บทบาทสมมติ
การเล่นบทบาทสมมุติ” เช่น เล่นทำกับข้าว เล่นเป็นคุณหมอ เล่นขายของ อาจจะเอาตุ๊กตาต่างๆ มาเล่นเป็นตัวละครประกอบด้วยก็ได้นะคะ ฯลฯ การเล่นบทบาทสมมติ จะช่วยเสริมพัฒนาการทางด้านภาษา การคิดแก้ปัญหา การลำดับขั้นตอน นอกจากนี้ยังเป็นกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนในเรื่องมารยาท และปลูกฝังอุปนิสัยอันพึงประสงค์ได้อีกด้ว เช่น การเข้าคิว การรู้จักรอคอย การแบ่ง หรือผลัดกันเล่น การยอมรับในกติกาการเล่นร่วมกัน เป็นต้น
ที่มา: EducationFacet
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
กิจกรรมเสริมพัฒนาการเด็ก วัย 6-18 เดือน จากฮาวาร์ด พ่อแม่ควรเล่นกับลูกอย่างไร
ลูกเป็นไมเกรน สาเหตุจากอะไร ไมเกรนในเด็ก อันตรายไหม วิธีป้องกันไมเกรนในเด็ก
หยุดเปรียบเทียบลูก ถ้าไม่อยากให้ลูกกลายเป็นเด็กดื้อต่อต้าน-ขี้อิจฉา