มีผลการศึกษาวิจัยจากศ.นายแพทย์ เอ็ม การีม คาน แห่งวิทยาลัยแพทย์ชุมชน (CBMC), Mymensingh ได้ยืนยันและเปิดเผยว่า “แม่สามารถให้นมทารกได้เหมือนเดิมในขณะที่ถือศีลอด ยิ่งกว่านั้น น้ำนมจะไม่ได้ลดปริมาณ หรือคุณค่าลง และแม่ไม่จำเป็นต้องชงนมขวดเพิ่มให้ทารก” แต่น้ำนมที่ได้ในขณะที่ถือศีลอดนั้นจะมีส่วนผสมที่แตกต่างจากในเวลาปกติบ้าง ซึ่งเป็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และจะกลับมาเป็นปกติตามเดิมเมื่อแม่กินอาหารละศีลอด แต่ส่วนประกอบหลักของน้ำนมแม่เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างที่ถือศีลอดและหลังถือศีลอดในเดือนรอมฎอนไม่มีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามอาหารสะฮูรที่คุณแม่รับประทานในระหว่างถือศีลอดก็มีคุณค่าเพียงพอต่อลูกเช่นกัน
ข้อควรปฏิบัติหรือการดูแลตนเองเมื่อถือศีลอดในเดือนรอมฎอน สำหรับแม่ให้นมลูก
- ตื่นมากินอาหารสะฮูร โดยให้รับประทานใกล้เวลาซุบฮี และปั้มนมในช่วงเวลานี้ ตี 3-5
- กรณีแม่ฟูลไทม์อยู่กับลูกตลอดเวลาให้ลูกดูดเต้าตามต้องการ หากมีโอกาสได้นอนในขณะให้นมลูก จะช่วยให้แม่ได้พักผ่อนไปด้วย ลดอาการอ่อนเพลียได้
- กรณีแม่ทำงาน ปั้มนมคืนสต็อกไว้ ทุก 3-4 ชั่วโมง หรือเท่าที่ไหว ปั้มนมอย่างน้อยนาน 15 นาที เพื่อจะได้ไม่ค้างเต้า และจะยังคงกระตุ้นการสร้างน้ำนมได้
- แม่นักปั้มล้วน ๆ หรือแม่ที่อยู่ห่างลูกไกลต้องส่งนม ควรปั้มนมทุก 3-4 ชั่วโมง เพราะหากคุณแม่ไม่ปั๊มหรือไม่ให้ลูกดูดจากเต้าในช่วง 3-4 ชั่วโมง ระดับของฮอร์โมนสร้างน้ำนมจะลดลง ซึ่งต้องคอยกระตุ้นจากการปั๊มหรือให้ลูกดูดนม เพื่อรักษาระดับการสร้างน้ำนมของร่างกาย
วิธีให้นมลูกตามช่วงวัยขณะถือศีลอด
สำหรับแม่ที่มีลูกอายุ 0-6 เดือน ซึ่งลูกทานนมแม่เป็นอาหารหลักอย่างเดียว กรณีแม่ไม่มีสต็อกเพียงพอ แนะนำให้ถือศีลอดชดใช้วันหลัง แต่ถ้าแม่มีสต็อกจำนวนมาก แนะนำให้ถือศีลอดได้ค่ะ ลูกต้องการนม 24 ออนซ์ต่อวัน หากแม่ทำงานเตรียมนมตามจำนวนชั่วโมงที่ห่างลูก เช่น ทำงาน 8-9 ชั่วโมง เตรียมนมไว้ 8-9 ออนซ์ โดยปั้มที่ทำงานกลับมาคืนตามจำนวนที่ใช้ไป ส่วนแม่ฟูลไทม์เข้าเต้าตามต้องการของลูกได้เลย
สำหรับแม่ที่ลูกอายุมากกว่า 6-12 เดือน เริ่มเสริมอาหารให้ลูกแล้ว แต่ลูกก็ยังต้องการนมวันละ 24 ออนซ์ ซึ่งแม่ทำงานก็ควรเตรียมนมสต็อกตามจำนวนชั่วโมงที่ห่างลูกเช่นกัน
สำหรับแม่ที่ลูกอายุ 1 ขวบขึ้นไป ให้เน้นข้าว 3 มื้อ และกินนมเป็นอาหารเสริมไม่เกิน 15 ออนซ์ต่อวัน หากปั้มคืนไม่เท่าที่ใช้ไป แนะนำให้ปั้มนมคืนในตอนกลางคืนต่อ ปั้มนมก่อนนอนอย่างน้อย 1 รอบ แต่หากอยู่กับลูกก็ให้เข้าเต้าได้ตลอด เพื่อลูกจะได้กระตุ้นการสร้างน้ำนมด้วย
อย่างไรก็ตาม ศาสนาได้ยืดหยุ่นให้สามารถถือศีลอดชดใช้ได้ หากคุณแม่มีร่างกายที่ไม่แข็งแรงหรือการถือศีลอดไปกระทบต่อลูก แต่คุณแม่หลายท่านที่มีศรัทธาเข้มแข็งก็พยายามจะถือศีลอดให้ครบในเดือนรอมฎอน เพราะจะได้ผลบุญมากกว่าในเวลาอื่น
ขอให้มีความสุขกับการตักตวงผลบุญในเดือนรอมฎอนอันประเสิรฐนี้ค่ะ
ขอขอบคุณบทความจากเพจ Sarinee Masor
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ประสบการณ์จริงในช่วงรอมฎอนของคุณแม่มุสลิมลูกสอง
อินทผลัม ผลไม้มหัศจรรย์ที่แม่ท้องควรกิน