จากการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โรคคอตีบโดยกรมควบคุมโรคนั้นพบว่า ในปี 2559 59 มีผู้ป่วยรวม 20 ราย เสียชีวิตจำนวน 5 ราย จาก 10 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยร้อยละ 95 เป็นชาวพม่าร้อยละ 5 กลุ่มอายุที่พบบ่อยที่สุดคือ 7 – 9 ปี รองลงมาคือ 35 – 44 ปี และ 10 – 14 ปี ตามลำดับ
ส่วนในปี 2560 มีรายงานผู้ป่วยสงสัยโรคคอตีบแล้วจำนวน 8 ราย และมีรายงานผู้ป่วยเข้าข่ายโรคคอตีบ เสียชีวิต 1 ราย จากจังหวัดปัตตานี เป็นเด็กขายอายุ 4 ปี 6 เดือน มีประวัติเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ เพียงครั้งเดียว ตอนอายุ 2 เดือน และอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความครอบคลุมวัคซีนต่ำ
จากการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่ามีโอกาสจะพบผู้ป่วยคอตีบเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจัย และข้อมูลที่พบแนวโน้มการเกิดโรคในกลุ่มเด็ก 7 – 9 ปี โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความครอบคลุมของวัคซีนต่ำ หรือมีแรงงานย้ายถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้าน
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคคอตีบ คือ ประชาชนไม่เคยฉีดวัคซีนคอตีบมาก่อน หรือฉีดวัคซีนไม่ครบ และไม่ไปรับการกระตุ้นซ้ำทุก 10 ปี ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันต่อโรคลดต่ำลง
ทำความรู้จักกับโรคคอตีบ
โรคคอตีบ (Diphtheriae) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Corynebacterium diphtheriae) บริเวณที่ติดเชื้อมักจะเป็นในระบบทางเดินหายใจ ต่อมทอนซิล ลำคอ กล่องเสียงหรือจมูก พบมากในเด็กก่อนและระยะต้น ๆ ของวัยเรียน คือช่วงอายุ 2-5 ปี หรือพบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
อาการของโรคคอตีบคือ จะมีไข้ เจ็บในหลอดคอ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล อ่อนเพลีย ถ้าเป็นคอตีบของกล่องเสียง จะมีอาการบวมมาก อาจทำให้หายใจไม่ออก ทำให้เด็กเล็กๆ เสียชีวิตได้ง่าย นอกจากนี้โรคแทรกซ้อนก็น่ากลัวค่ะ โดยอาจเกิดโรคหัวใจอักเสบ หรือมีอาการอักเสบของประสาทสมอง โรคอัมพาตเนื่องจากพิษทางประสาท
การป้องกัน โรคคอตีบ ทำได้อย่างไร
ขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกน้อยไปรับการฉีดวัคซีนรวมสำหรับป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยักให้ครบดังนี้ คือ
- ฉีดเข็มแรกเมื่อลูกอายุ 2-3 เดือน
- ฉีดเข็ม 2 และ 3 ห่างกันเข็มละ 2 เดือน
- แล้วฉีดกระตุ้นหลังเข็มสุดท้ายประมาณ 1 ปี
- จากนั้นเว้นไปฉีดกระตุ้นอีกทีตอนลูกอายุ 4-6 ปี
และเมื่อลูกอายุ 11-12 ปีควรจะได้รับวัคซีนรวมป้องกัน 3 โรคเดิม หรือจะเป็นวัคซีนรวมที่ป้องกันเฉพาะโรคคอตีบและบาดทะยักก็ได้อยู่ค่ะ จากนั้นก็ควรกระตุ้นด้วยวัคซีนรวมสำหรับป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยักทุกๆ 10 ปี และสำคัญที่สุดก็คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องห้ามลืมวันนัดฉีดวัคซีนของลูกโดยเด็ดขาดนะคะ!
การป้องกันโรค สามารถทำได้โดยการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ จึงขอแนะนำผู้ปกครองนำบุตรหลานรับวัคซีน ให้ครบตามช่วงเวลาที่กำหนด และสังเกตอาการของโรค คือ มีไข้ เจ็บคอ มีแผ่นขาวในช่องปาก ให้รีบพบแพทย์ทันที หรือโทรปรึกษาสายด่วน กรมควบคุมโรค 1422
ที่มา: Good Life Update และกรมควบคุมโรค
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เรื่องที่แม่อยากรู้…ลูกฉีดวัคซีนเป็นไข้กี่วัน?
วัคซีนโรคหัด เจ้าหนูไม่ฉีด ถึงตายได้