บ้านไหนเลี้ยงสัตว์ ระวังกระทบเพื่อนบ้าน
ในมุมของคนเลี้ยงน้องหมา น้องแมว หรือคนรักหมา รักแมว เสียง กลิ่น การขับถ่ายไม่เป็นที่ของสัตว์เลี้ยงเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร และถือเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เลี้ยง และไม่ได้อยู่ในกลุ่มคนรักหมาแมว ส่วนใหญ่ก็มองว่านี่คือปัญหา แต่เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรระหว่าง “คนเลี้ยง คนรัก” กับ “คนไม่เลี้ยง และคนไม่รัก” ทำยังไงให้ บ้านไหนเลี้ยงสัตว์ ไม่กระทบกับเพื่อนบ้าน
สิ่งหนึ่งที่สำคัญ นั่นก็คือ การที่เราเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกชนิด เราก็ต้องรับผิดชอบเขาในทุกกรณี ทั้งการเลี้ยงดูเขาไปจนถึงดูแลมิให้เขาไปสร้างผลกระทบกับผู้อื่น ก็ใจเขาใจเรานั่นแหละ เพราะหากเราละเลยสัตว์เลี้ยงของเรา จนไปสร้างผลกระทบกับเพื่อนบ้าน นอกจากจะก่อให้เกิดกระทบกระทั่งกันกับเพื่อนบ้านแล้ว อาจถูกฟ้องร้องตามกฎหมายได้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของ สัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ จำต้องใช้ค่าสินไหม ทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิด แต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวัง อันสมควร แก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์ อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น
อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิ ไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่ เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้นๆ ก็ได้
ยังไม่นับรวม กฎหมายอาญา ในบางมาตราที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเอาผิดกับเจ้าของสัตว์เลี้ยงได้ เช่น
- มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือ ปรับไม่เกินหกพันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
- มาตรา 377 ผู้ใดควบคุม สัตว์ดุ หรือ สัตว์ร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลำพัง ในประการที่อาจทำอันตรายแก่บุคคล หรือ ทรัพย์ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
เลี้ยงน้องหมาแมว ต้องรับผิดชอบ
สำหรับการระมัดระวังสัตว์เลี้ยงของเราที่อาจจะะไม่กระทบกับเพื่อนบ้าน ก็ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การดูแลเขาให้ดี
1. ใส่ใจเพื่อนบ้าน กรณีที่เราเพิ่งย้ายเข้ามาในหมู่บ้านนั้นก็ดี หรืออยู่มานานแล้ว แต่เพิ่งมีสัตว์เลี้ยง สิ่งที่ควรทำ ก็คือ การบอกกล่าวเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง ว่าเรามีสัตว์เลี้ยง อาจจะมีเสียงบ้าง หรือมีกลิ่นบ้างในบางครั้ง หากมีอะไรที่สร้างผลกระทบก็ต้องขออภัยไว้ก่อน หรือเปิดโอกาสให้เพื่อนบ้านได้มาบอกเล่าถึงปัญหาของสัตว์เลี้ยงของเรา ซึ่งวิธีการบอกกล่าว จะช่วยลดความรู้สึกไม่พอใจที่มีต่อกันลงได้ในระดับหนึ่ง
2. เสียง เรื่องของเสียงเห่าต่างๆ โดยเฉพาะน้องหมา ในทีนี้หมายถึงการเห่าต่อเนื่อง เห่ายาวนานจนทำให้เกิดการรบกวน แต่ถ้านานๆ เห่าที ก็เชื่อว่าเพื่อนบ้านคงไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก อาจจะต้องหาวิธีฝึกเขาให้เห่าเสียงเบา หรือถ้าเขาเริ่มเห่าต่อเนื่อง ต้องรีบเข้าไปดู หาสาเหตุ และเร่งแก้ปัญหา
3. อึ-ฉี่ ต้องไม่กวนใจอันนี้คงเป็นประเด็นใหญ่สุดสำหรับเพื่อนบ้านหลายคน ซึ่งเจ้าของน้องหมาแมว หรือสัตว์เลี้ยงทุกชนิด ต้องดูแลไม่ให้สัตว์เลี้ยงของเราไปรบกวนเพื่อนบ้าน ไม่ปล่อยให้เขาไปขับถ่ายไม่เป็นที่ หรือไปอึ-ฉี่หน้าบ้าน ยางล้อรถของเพื่อนบ้าน กรณีที่ห้ามไม่ทัน ในฐานะเจ้าของสัตว์เลี้ยงนั้น ก็ควรจัดการเก็บ ทำความสะอาดให้ด้วย เพื่อป้องกันปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนบ้าน ซึ่งถ้าเจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถฝึกให้เขาขับถ่ายเป็นที่ได้ ก็จะยิ่งลดปัญหาเหล่านี้
4. พาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่น ควรพกถุงเก็บอึ-ฉี่ ในการพาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่น ให้เขาได้ออกกำลังกายบ้าง ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ควรพกถุงเก็บอึ-ฉี่ไปด้วย เพื่อป้องกันมิให้น้องหมาแมวไปอึ-ฉี่ในที่สาธารณะหรือหน้าบ้านผู้อื่น
5. ออกจากบ้านต้องมีสายจูง วิธีนี้จะช่วยลดปัญหาที่สัตว์เลี้ยงของเราวิ่งสะเปะสะปะกระทบผู้คนที่เดินอยู่ในที่สาธารณะ หรือแม้กระทั่งลดความเสี่ยงที่สัตว์เลี้ยงของเราจะไปกัดคนอื่น โดยเฉพาะกับเด็กๆ จะยิ่งมีความอันตราย
The Asianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น The Asianparent ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งานฟรี เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุดและผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว
การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก The Asianparent เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง”
บทความข้างต้นเผยแพร่ครั้งแรกที่ DDproperty.com เว็บไซต์สื่อกลางอสังหาริมทรัพย์ ที่รวบรวม ข่าวอสังหาฯ คู่มือซื้อขาย และรีวิวโครงการใหม่ ไว้กว่า 10,000 บทความ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
ขนสัตว์เข้าปอด ขนหมา ขนแมว เข้าคอลูก ทำเด็กตายได้จริงหรือ
#เจ๊เปาผู้ไม่กลัวสิ่งใด ดูภาพเป่าเปาเที่ยวสวนสัตว์ น่ารักสุดๆ