จับตาสถานการณ์ ไข้เลือดออก ปี 2565 ภัยเงียบใกล้ตัวที่ไม่เคยหายไป ภายใต้เงาครึ้มของโควิด - 19

ไข้เลือดออก (Dengue Fever) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะ เป็นโรคที่มีการระบาดตลอดปี และจะระบาดสูงสุดในช่วงฤดูฝน ความน่ากลัวของโรคไข้เลือดออกก็คือ ยังมีคนจำนวนมากที่เป็นไข้เลือดออกแบบไม่แสดงอาการ และกลายเป็นพาหะนำโรคที่เพิ่มจำนวนการแพร่ระบาดได้แบบไม่รู้จบ ซ้ำร้ายใครที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้ว ก็ยังสามารถเป็นซ้ำได้อีก!!

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

แนวทางการรักษา ไข้เลือดออก ในปัจจุบัน ยังเป็นแบบประคับประคองตามอาการ เนื่องจากยังไม่มียารักษาจำเพาะ สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการของไข้เลือดออกแบบรุนแรง เช่น เกล็ดเลือดต่ำ มีเลือดออกในทางเดินอาหาร มือเท้าเย็น ช็อกเพราะไข้ขึ้น และลดลงอย่างรวดเร็ว หากถึงมือแพทย์ช้าก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 

"ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีตัวเลขการระบาดของ ไข้เลือดออก เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมแล้วมากกว่า 350,000 ราย แค่เฉพาะในปี พ.ศ. 2562 มีรายงานผู้ป่วยสูงสุดถึง 130,000 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวลมาก โดยเฉพาะหากมีการระบาดสูงอีกครั้งในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย เนื่องจากหลายหน่วยงาน รวมทั้งประชาชนเอง ก็ต่างโฟกัสไปที่การป้องกันโควิด-19 โดยหลงลืมไปว่าจริง ๆ แล้ว ไข้เลือดออกยังคงแพร่ระบาดอยู่อย่างหนัก และอยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด อีกทั้งเด็ก ๆ เองก็ยังคงเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มป่วย และเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกสูงขึ้นมาโดยตลอด"

 

ไข้เลือดออก โรคเขตร้อนที่ถูกลืม (Neglected Tropical Diseases)

 

โรคไข้เลือดออก จัดเป็นหนึ่งในโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย หรือ NTD (Neglected Tropical Diseases) โดยโรคไข้เลือดออกจะไม่ติดต่อจากคนสู่คน แต่มียุงลายเป็นพาหะ และสามารถแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วจากการวางไข่ในจุดเล็ก ๆ ที่มีน้ำขัง อย่าง ใบไม้ กระถางต้นไม้ กาบใบของไม้น้ำต่าง ๆ หรือตามเศษขยะที่ถูกทิ้งไว้ เช่น ถุงขนม ฝาขวดน้ำ ภาชนะใส่อาหารแบบเดลิเวอรี่ ซึ่งพบได้ง่ายทุกพื้นที่ในครัวเรือน จึงป้องกันและควบคุมได้ยาก 

นอกจากจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการแล้ว คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกที่ไม่มีอาการอีก 3-4 เท่าตัว แฝงอยู่ท่ามกลางประชาชนทั่วไปจำนวนมาก  เพราะการติดเชื้อแบบไม่มีอาการนั้นเป็นสัดส่วนประมาณ 3 ใน 4 เลยทีเดียว  หากคนกลุ่มนี้ถูกยุงกัดเข้า  ยุงก็จะกลายเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสเดงกีไปสู่ผู้อื่นได้อีกมากมาย จึงจัดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไข้เลือดออกกระจายออกไปในวงกว้าง และกลุ่มผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยที่เคยเป็นอาการไข้เลือดออกแล้ว ยังอาจติดเชื้อซ้ำ และป่วยด้วยโรคนี้ได้อีกตลอดเวลา จึงถือเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

แพทย์หญิง ดารินทร์ อารีย์โชคชัย รองผู้อำนวยการ กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทับซ้อนกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า รายงานตัวเลขผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลดต่ำลงอาจเป็นเพราะการที่มีประกาศ Work from Home อยู่เป็นระยะ ๆ เมื่อประชาชนมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น ก็ปัดกวาดเช็ดถู เก็บเศษขยะ ทำความสะอาดบ้านได้ทุกวัน ผลพลอยได้ก็คือ เรามีโอกาสในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ยังต้องคอยจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป เนื่องจากไข้เลือดออกจะมีลักษณะการระบาดแบบปีเว้นปี หรือปีเว้น 2 ปี โดยในปี พ.ศ. 2564 มีอุบัติการณ์ของไข้เลือดออกลดต่ำลง จึงมีแนวโน้มว่าในปี พ.ศ. 2565 สถานการณ์โรคไข้เลือดออกอาจมีความรุนแรงมากที่สุด และอาจมีผู้ป่วยสูงถึง 95,000 ราย   

จับตาเป็นพิเศษ หากโรงเรียนยังเปิด ๆ ปิด ๆ อาจกลายเกิดวิกฤตไข้เลือดออกระบาดซ้ำ

เนื่องจากสถานการณ์โควิด - 19 ยังไม่น่าไว้วางใจ จึงทำให้มีการประกาศเปิดเรียนแบบ On Site สลับกับการเรียน Online อยู่เป็นระยะ ทำให้น่ากังวลว่าหากเด็ก ๆ ต้องกลับไปเรียนในโรงเรียนในทันที

โดยที่ยังไม่ได้มีมาตรการในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และควบคุมการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกอย่างจริงจัง อาจทำให้เด็ก ๆ มีโอกาสโดนยุงลายกัดสูงขึ้นกว่าการเปิดเรียน On Site แบบ 100% ซึ่งทางโรงเรียนจะมีแนวทางในการกำจัดลูกน้ำยุงลายก่อนเปิดเรียนอย่างจริงจัง ซึ่งช่วยลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้มากกว่า

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กฯ เผย “เด็กวัยเรียน” มีแนวโน้มป่วยไข้เลือดออกสูงสุด!

 

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกในกลุ่มเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน และกลุ่มวัยรุ่น รวมทั้งกลุ่มผู้ใหญ่ตอนต้นในประเทศไทยว่าปัจจุบันมีรายงานผู้ป่วยที่มีอาการโรคไข้เลือดออกรุนแรงในกลุ่มของวัยรุ่น และผู้ใหญ่ตอนต้นเพิ่มมากขึ้น โดยในกลุ่มของผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มีตัวเลขรายงานว่ามีจำนวนผู้ป่วย และเสียชีวิตน้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ อาจเป็นเพราะมีคุณพ่อคุณแม่คอยดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา และเมื่อลูกมีอาการป่วย ก็จะรีบพามาพบแพทย์ทันที ส่วนในกลุ่มของเด็กวัยเรียน อายุระหว่าง 5 - 14 ปี กลับพบว่ามีอัตราป่วยสูงที่สุด คิดเป็น 1:4 หรือ 25% ของผู้ป่วยทุกช่วงอายุ แต่มีอัตราการเสียชีวิตไม่สูงมาก 

แต่กลุ่มผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกมากขึ้น กลับเป็นกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น อายุระหว่าง 15 - 24 ปี ซึ่งเมื่อมีอาการป่วย ก็จะอดทน ซื้อยาทานเอง และจะมาหาหมอก็ต่อเมื่อมีอาการหนักขึ้น ทำให้ได้รับการรักษาช้าเกินไป และมีโอกาสเสียชีวิตสูงขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ก็จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิตได้ หากมีการติดเชื้อไวรัสเดงกีจากยุงลาย

 

แพทย์ชี้ คนที่แข็งแรงที่สุด กลับมีความเสี่ยงป่วยไข้เลือดออกรุนแรงมากที่สุด

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

จากมุมมองของแพทย์ผู้รักษา จะทราบกันดีว่า โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่ค่อนข้างประหลาด คือ คนที่แข็งแรงสุด จะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงมีอาการป่วยรุนแรงมากที่สุด โดยสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยไข้เลือดออกเสียชีวิต ไม่ใช่เกิดจากตัวโรคเองแบบที่หลายคนเข้าใจ หากแต่เกิดจากกระบวนการโต้ตอบไวรัสของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ซึ่งยิ่งตอบโต้รุนแรงมากเท่าไร ก็จะทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะ ส่งผลให้และระบบต่าง ๆ ในร่างกายล้มเหลวลง 

โดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาวที่มีระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงมากที่สุด ทำให้ต่อสู้กับไวรัสได้อย่างเต็มที่ บ่อยครั้งที่แพทย์ตรวจเลือดแล้วพบว่าไวรัสหายไป แต่อาการของผู้ป่วยกลับเป็นรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำการตอบโต้เพื่อเร่งกำจัดไวรัสอย่างรุนแรง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันซึ่งแต่เดิมเคยทำหน้าที่ปกป้องร่างกายอย่างเข้มแข็ง กลับมาเป็นกลไกให้เกิดอาการรุนแรง และ อาจถูกโจมตีด้วยโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ในภายหลัง ดังนั้น ถ้าถามว่าโรคอะไรที่สามารถล้มวัยรุ่นที่มีร่างกาย และภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงลงได้ง่าย ๆ คำตอบ คือ โรคไข้เลือดออก นั่นเอง และยิ่งถ้ามีน้ำหนักมาก ท้วมหรืออ้วน ก็จะยิ่งเสี่ยงกับโรคนี้มากขึ้น รักษายากขึ้น

 

ชวนเช็ก อาการ ไข้เลือดออก ถึงมือหมอไว ลดการเสียชีวิตได้มากขึ้น

 

ระยะฟักตัวของไวรัสเดงกีที่เกิดจากการถูกยุงลายกัดจะอยู่ที่ประมาณ 5 - 8 วัน ก็จะเริ่มแสดงอาการของโรค ซึ่งจะมีความรุนแรงแตกต่างกันไป ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ที่มีแนวโน้มเป็นไข้เลือดออก จึงควรหมั่นสังเกตอาการป่วยของตนเอง หรือสมาชิกในบ้านอยู่เสมอ โดยสามารถสังเกตอาการต่าง ๆ ซึ่งจะมีรูปแบบเฉพาะตัวคร่าว ๆ ทั้ง 3 ระยะ คือ ระยะไข้ ระยะวิกฤต/ช็อก และระยะฟื้นตัว ดังนี้

ระยะไข้

  • มีไข้สูงเฉียบพลัน อุณหภูมิเกิน 38.5 องศาเซลเซียส และไข้สูงลอย 2 - 7 วัน
  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดเบ้าตา
  • ในผู้ป่วยเด็กอาจมี อาการชัก 
  • มีอาการหน้าแดง (flushed face)
  • เบื่ออาหาร อาเจียน ปวดท้อง

ระยะวิกฤต/ช็อก

  • มีอาการมือและเท้าเย็น
  • มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • มีอาการเลือดออก ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่ากรณี เลือดออกตามผิวหนัง
  • อาจมีอาเจียน หรือ ถ่ายเป็นเลือดปนสีดำ 
  • มีอาการตับโต ปวดท้องด้านขวาบน กดเจ็บ
  • อาจมี ภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว หรือ ภาวะช็อก

ระยะฟื้นตัว

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • ในผู้ป่วยที่ไม่ช็อกเมื่อไข้ลดลงจะมีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • ในผู้ป่วยที่มีอาการช็อก หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว จะฟื้นตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนภายใน 2 - 3 วัน

 

การที่ผู้ปกครองคอยสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด และรีบพามาพบแพทย์ทันทีที่สงสัยว่าลูกอาจเป็นไข้เลือดออก ก็จะช่วยให้เด็ก ๆ ปลอดภัยจากการได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะการถึงมือแพทย์เร็วเท่าไร ก็จะสามารถช่วยลดเปอร์เซ็นต์ในการเสียชีวิตได้มากยิ่งขึ้น 

 

11 องค์กรพันธมิตร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ผลักดันประเทศไทย สู่สังคมปลอด ไข้เลือดออก ในปี 2569

 

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการกำจัด และควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นแนวทางในการลดการระบาดของโรคไข้เลือดออกมาโดยตลอด แต่การแพร่ระบาดของโรคนี้ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง 

จากตัวเลขที่น่ากังวลนี้ จึงได้เกิดการส่งเสริมให้มีการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก รวมทั้งมีการพัฒนา และต่อยอดระบบการป้องกันที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมการระบาด และนำพาประเทศไทยเข้าสู่สังคมปลอดไข้เลือดออก จึงเป็นที่มาของของความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐและเอกชน 11 องค์กร ได้แก่ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมนักบริหารโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย และบริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก Dengue-Zero ขึ้น 

 

ภายใต้พันธกิจหลักร่วมกัน 3 ประการ ได้แก่

  1. ลดอัตราการป่วยจากโรคไข้เลือดออกลงให้ได้ร้อยละ 25 หรือให้ไม่เกิน 60,000 รายต่อปี
  2. ลดอัตราการเสียชีวิตให้ต่ำกว่า 1:10,000 ราย
  3. ควบคุมแหล่งกำเนิดของลูกน้ำยุงลายในชุมชนให้ต่ำกว่า 5 หลังคาเรือน จากการสำรวจ 100 หลังคาเรือน

 

ซึ่งพันธกิจทั้ง 3 ข้อนี้ คาดว่าจะลุล่วงสำเร็จภายใต้กรอบระยะเวลาการทำงาน 5 ปี หรือภายในปี พ.ศ. 2569 ซึ่งทางองค์กรพันธมิตรจะผนึกกำลัง ร่วมกันผลักดัน และส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการควบคุม และป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนให้การสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างดีที่สุด

 

มิสเตอร์ ปีเตอร์ สตรีบัล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำทางด้านชีวเภสัชภัณฑ์ระดับโลกที่ขับเคลื่อนด้วยการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีกว่าและอนาคตที่สดใสขึ้น  ได้กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกทั้งในประเทศไทย และทั่วโลกว่า

 

“ไข้เลือดออกมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ในแต่ละปีมีประชากรทั่วโลกติดเชื้อมากกว่า 390 ล้านคน แต่จำนวนผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนั้นอาจสูงถึง 3,900 ล้านคน* โดยในจำนวนนี้ มีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงสูงถึงกว่า 96 ล้านคน และในประเทศไทยก็ยังพบว่ามีอัตราการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่า โรคนี้ไม่เคยหายไปจากเรา และยังสร้างความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพยากรมากมาย การเอาชนะโรคนี้ได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่มีความมุ่งมั่นเดียวกันในการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออกให้ได้มากที่สุด ทาเคดา มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก Dengue-Zero นี้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า ทาเคดา มุ่งมั่นมอบสุขภาพที่ดีกว่าให้คนไทย และพร้อมสนับสนุนทุกความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายไปด้วยกัน”

 

ข้อมูลอ้างอิง:

1.https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/dengue-and-severe-dengue

2.https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=44

 

 

บทความโดย

theAsianparent Editorial Team