6 สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ หากเจอลูกอมนิ้วหมายความว่าอย่างไร

ใครว่าอาการ “อมนิ้ว” ของลูกจะเจอเฉพาะเด็กเล็ก ยังมีเด็กหลายคนติดดูดนิ้วต่อเนื่องจนถึงอายุ 5-6 ขวบ ซึ่งทำให้พ่อแม่รู้สึกวิตกกังวลและเป็นห่วง

หากเจอ ลูกอมนิ้ว หมายความว่าอย่างไร

หากเจอ ลูกอมนิ้ว หมายความว่าอย่างไร ในความเป็นจริงแล้วเรื่องเกี่ยวกับการอมนิ้วของลูกที่พ่อแม่ควรรู้และเข้าใจ อาจไม่ได้เป็นปัญหาอย่างที่คิด

คุณแม่ควรรู้ หากเจอลูกอมนิ้วหมายความว่าอย่างไร

1. อย่าโทษตัวเองเพียงเพราะว่าคุณหย่านมช้าหรือเร็วเกินไป

มันไม่ใช่เพราะลูกๆ ของคุณกินนมจากขวดแทนที่จะกินจากนมจากเต้า หรือกินจากเต้าแทนกินนมจากขวด มันไม่ใช่เพราะคุณปล่อยให้ลูกทำสิ่งนี้นานเกินไป หยุดคิดและอย่าโทษตัวเอง

2. มันคือความต้องการของลูก

การที่ลูกอมนิ้วมันอาจจะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกหรือลักษณะนิสัยของลูกก็ได้ ซึ่งสิ่งนี้คนเป็นพ่อแม่จะต้องพยายามสังเกตและคอยตั้งคำถาม เพราะหากลูกอมนิ้วนั่นหมายถึงเขาอาจจะเกิดความวิตกกังวลเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ได้

3. เป็นเรื่องที่ซับซ้อน

อย่าไปคาดหวังว่าคุณจะแก้ปัญหาเรื่องการอมนิ้วหัวแม่มือของลูกได้ในวันเดียว ได้ด้วยวิธีการเดียว หรือได้ด้วยขนมชิ้นเดียว มันต้องทำเป็นขั้นตอน และเมื่อคุณเตรียมพร้อมแล้ว ปัญหาการอมนิ้วของลูกก็จะค่อยๆ คลี่คลาย

4. การทำโทษก็ช่วยอะไรไม่ได้

ไม่สำคัญเลยว่าคุณเอานิ้วออกมาจากปากของลูกกี่ครั้ง หรือตีที่มือเล็กๆ ของเขาเพื่อทำโทษ มันก็ไม่ได้ทำให้ลูกหยุดอมนิ้วมือได้เลย ตรงกันข้ามลูกจะพยายามไม่อมนิ้วเวลาที่อยู่ต่อหน้าพ่อแม่เท่านั้นเอง แต่ถึงยังไงลูกก็จะทำมันอยู่ดีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

5. มันเป็นสัญญาณในการควบคุมตัวเองของลูก

ซึ่งลูกอาจจะใช้วิธีการอมนิ้วเพื่อการควบคุมตัวเอง หรือปลอบใจตัวเอง ในจุดนี้หากคุณมองเห็นก็สามารถที่จะเข้าไปซักถามสิ่งที่เกิดขึ้นกับอารมณ์ของลูกได้

6. เพราะมันเป็นพัฒนาการ

โดยธรรมชาติแล้วการดูดนิ้วไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี เพราะจริงๆ แล้วลูกน้อยของเราอมนิ้วตั้งแต่อยู่ในท้องมาแล้ว แต่เมื่อเด็กโตขึ้นก็จะมีพฤติกรรมอื่นที่มาทดแทนการดูดนิ้ว อย่างไรก็ตามพัฒนาการเหล่านี้จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความแตกต่างของเด็กแต่ละคนด้วย

มีคุณแม่ของลูกวัย 7 เดือนถามหมอว่า “ ลูกดูดนิ้ว คุณแม่จะเอาจุกนมหลอกให้ลูกแทนดีมั้ย คุณแม่ไม่อยากให้ลูกดูดนิ้ว เพราะกลัวฟันเหยิน คุณหมอว่าให้ลูกติดดูดจุกนมหลอกดีกว่าติดดูดนิ้วมั้ยคะ?” ขอบอกตามตรงว่าเป็นคำถามที่หมอต้องคิดหนักพอดูค่ะ เพราะความจริงแล้วไม่อยากให้เด็กติดทั้งดูดจุกนมหลอกและดูดนิ้วเลย แต่ถ้าเปรียบเทียบการเลิก…การดูดจุกนมหลอกจะเลิกง่ายกว่าดูดนิ้วค่ะ เนื่องจากนิ้วเป็นสิ่งที่ติดตัวลูกอยู่ตลอดเวลา จะเอาเข้าปากดูดๆๆๆๆ เมื่อไรก็ได้

ทำไมเด็กจึงดูดนิ้ว

เด็กทารกวัย 0-1 ปีอยู่ในระยะ oral stage เด็กจะมีความสุขกับการดูดและการได้ทานอิ่ม การที่เด็กๆ ในวัยนี้เอานิ้วมือเข้าปากก็น่าจะมีเหตุผลหลายประการ ทั้งเป็นการสำรวจนิ้วมือของตัวเอง หรืออาการคันเหงือกจากฟันที่กำลังจะขึ้น รวมทั้งใช้แทนการสื่อสารว่า”หนูหิวแล้ว” ก็เป็นได้…. อาการดูดนิ้วของเด็กในช่วงขวบปีแรกจึงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจะลดลงได้เองในช่วงอายุ 2-4 ปี แต่หากเด็กติดดูดนิ้วไปจนอายุเกินกว่า 4 ปี อาจส่งผลให้ฟันยื่นเหยินและการสบฟันผิดปกติได้

เคล็ดลับให้ลูกเลิกดูดนิ้วมือ

ลูกชายคนโตของหมอก็ทำท่าจะดูดนิ้วเมื่ออายุ 6-7 เดือน เค้าทำความรู้จักสิ่งของต่างๆ โดยการเอาเข้าปากชิมมาตั้งแต่อายุไม่กี่เดือน ลูกชิมหนังสือ ชิมมือชิมเท้าตัวเอง รวมถึงชิมหน้าแม่ด้วย! ยิ่งเวลาคันเหงือกเมื่อฟันจะขึ้น ยิ่งมันเขี้ยว เคี้ยวนิ้วเคี้ยวมืออย่างเมามัน ถ้าเอายางกัดให้ถือก็จะเคี้ยวยางกัด ชอบยางที่แข็งๆอีกด้วย… วันหนึ่งหมอเห็นลูกชายเอานิ้วโป้งเข้าปากเคี้ยวอยู่ดีๆ ก็เปลี่ยนเป็นดูด หมอรีบจับนิ้วอื่นๆ ใส่เพิ่มเข้าไปในปากน้อยๆ ของลูกตามไปด้วย “คุณลูกขา ดูดเพิ่มอีกสัก 3-4 นิ้วนะคะ” แล้วเค้าก็ดูดทั้งกำปั้นเล็กๆ นั้น น้ำลายย้อยมาถึงข้อศอกเชียว เมื่อไรที่ทำท่าจะดูด 1 นิ้ว หมอก็จับนิ้วอื่นๆ ของลูกเพิ่มเข้าปากอีกทุกที ในที่สุดลูกคงรำคาญ พอหายคันเหงือกก็เลิกเอานิ้วเข้าปากเอง (แม่แอบดีใจ เย้เย้!)

สาเหตุที่หมอไม่ได้ดึงนิ้วลูกออก เพราะเขาอยู่ในวัยที่เขาจะมีความสุขกับการดูด ถึงแม้จะดึงออกลูกก็ดูดใหม่ได้อยู่ดี จึงใช้วิธีจับนิ้วของเขาใส่เข้าไปให้มากขึ้นแทน คิดเองว่าดูดทั้งกำปั้นน่าจะไม่ถนัดเท่าไรนัก ตอนแรกก็ไม่แน่ใจหรอกค่ะว่าวิธีนี้จะช่วยให้ลูกไม่ติดดูดนิ้วได้หรือไม่ เพราะไม่เคยมีทฤษฎีใดหรือใครบอกให้ทำแบบนี้ แต่ก็ไม่เคยเห็นเด็กติดดูดนิ้วทีละหลายๆ นิ้วพร้อมกัน หรือดูดทั้งกำปั้น! มีแต่ติดดูดนิ้วโป้งนิ้วเดียวที่พบบ่อยที่สุด และมีเด็กที่ดูดนิ้วชี้กับนิ้วกลางพร้อมกันอยู่บ้าง

หมอได้ลองวิธีนี้อีกครั้งกับลูกเพื่อน เมื่อเราคุยกันเรื่องลูกดูดนิ้ว ลูกสาวเค้าอายุ 3 เดือน ดูดนิ้วโป้งอย่างเอร็ดอร่อย พอดึงออก เธอก็ดึงกลับไปดูดใหม่ หมอแนะนำให้จับนิ้วใส่เข้าปากลูกเพิ่มเหมือนกัน ผลปรากฎว่า 6 เดือนต่อมา หมอเจอเพื่อนอีกครั้ง แต่ครั้งนี้…ลูกสาวเธอเลิกดูดนิ้วไปแล้วค่ะ!

ลูกดูดนิ้ว ให้ลูกใส่ถุงมือจะช่วยได้หรือไม่

มีคุณยายท่านหนึ่งเล่าให้หมอฟังว่า คุณยายทำถุงมือใส่ให้หลานสาววัยเกือบ 3 ขวบ เป็นถุงมือผ้ายาวเลยข้อมือ เมื่อสวมมือแล้ว คุณยายจะพันเทปลงบนถุงมือผ้าบริเวณข้อมือให้ไม่แน่นจนรัดข้อมือหลานเกินไป แต่แน่นพอที่หลานจะไม่สามารถดึงถุงมือออกได้ หลานมักจะเผลอดูดนิ้วตอนหลับ เมื่อใส่ถุงมือก็ดูดไม่ได้ ใส่อยู่เกือบ 1 เดือน ก็เลิกดูดนิ้วไปได้ค่ะ

คุณแม่อีกท่านหนึ่งบอกว่าลูกอายุ 3 ขวบกว่า ชอบดูดนิ้วตอนนั่งรถเพลินๆ หมอเสนอให้คุณแม่เปิดเพลงเด็กให้ลูกร้องไปตลอดทาง เมื่อปากไม่ว่างก็จะได้ไม่ดูดนิ้ว ก็ได้ผลดี นอกจากเด็กดูดนิ้วน้อยลงแล้ว ยังสามารถร้องเพลงเด็กได้ทั้งแผ่นอย่างคล่องแคล่วอีกด้วย แต่วิธีการนี้คุณแม่จะต้องฟังแต่เพลงเด็กทุกครั้งที่ลูกนั่งรถไปลูก

อีกบ้านหนึ่ง แม่ของลูกฝาแฝด 3 ขวบ ดูดนิ้วทั้งคู่เล่าว่า ลูกอยู่บ้านกับพี่เลี้ยงตอนกลางวัน พี่เลี้ยงดูหนังยิงกันเลือดท่วมจอให้เด็กๆ ดูอยู่ด้วย จากนั้นพี่เลี้ยงก็หันมาบอกเด็กน้อยว่า ถ้าดูดนิ้วต่อไปเลือดจะไหลแบบนี้เลย (เด็กๆ คงรู้สึกสยองแน่ๆ) พอตกเย็นเมื่อแม่กลับมาพบว่า เด็กๆ ไม่ดูดนิ้วแล้ว และเลิกดูดนิ้วไปเลย ผ่านไป 2 วันแม่ถามพี่เลี้ยงจึงได้ทราบสาเหตุว่าเพราะพี่เลี้ยงพาดูหนังโหด แม่ถึงกับอึ้งไป ใจก็อยากจะดุพี่เลี้ยง แต่น้องก็เลิกดูดนิ้วทันทีเพราะเธอ!

คุณพ่อคุณแม่ชอบวิธีการใด ก็สามารถนำไปลองปฏิบัติกันได้นะคะ

การจัดการนิสัยดูดนิ้วมือสำหรับทันตแพทย์

หมอขอนำความรู้เพิ่มเติมจากหนังสือ “การจัดการนิสัยดูดนิ้วสำหรับทันตแพทย์” เขียนโดย รศ.ทพญ.ประภาศรี ริรัตนพงษ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มาลงไว้เพื่อเป็นข้อมูลโดยย่อดังนี้

  1.  การดูดนิ้วในเด็กอายุ 1 ปี เป็นพฤติกรรมที่ปกติ
  2.  นิสัยดูดนิ้วมือ สามารถเลิกได้เองในช่วงอายุ 2-4 ปี
  3.  ถ้าเด็กหยุดการดูดนิ้วได้ก่อนอายุ 4 ปี ความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการดูดนิ้ว (ที่อาจทำให้ฟันหน้าบนเริ่มยื่นนั้น) จะเป็นเพียงชั่วคราว
  4.  ถ้าอายุเกิน 4 ปีแล้วยังคงดูดนิ้ว จะพบความผิดปกติของการสบฟันรุนแรงขึ้น เช่น ฟันหน้าบนยื่น และสบเปิด (ฟันหน้าบนยกขึ้นจนกัดเส้นก๋วยเตี๋ยวไม่ได้)
  5.  การรักษาโดยทันตแพทย์จะเริ่มในช่วงเด็กอายุ 4-6 ปีไปแล้ว
  6.  เด็กเล็กวัยก่อน 4 ปี ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ลูกลดการดูดนิ้ว
  • หากลูกดูดนิ้วในช่วงที่เหงาหรือกังวล ผู้ปกครองควรแสดงความรักโดยการโอบกอดเด็ก ให้ความมั่นใจ และเบี่ยงเบนความสนใจเด็กไปจากการดูดนิ้ว หากิจกรรมที่ต้องใช้มือหรือปากให้เด็กทำ
  • หากลูกดูดนิ้วก่อนนอน เพราะเด็กพยายามกล่อมให้ตัวเองหลับ ผู้ปกครองควรเป็นผู้กล่อมให้ลูกหลับเองโดยเล่านิทาน ร้องเพลง กอดกันนอนและจับมือลูกไว้ อีกตัวช่วยหนึ่งคือ ให้ลูกทำกิจกรรมในช่วงบ่ายจนเหนื่อย พอถึงเวลานอนก็พาเข้านอนตอนง่วงพอสมควรแล้ว จะช่วยให้ลูกหลับง่ายขึ้น
  1.  การลงโทษ/ตำหนิ ไม่ช่วยแก้ไขปัญหา แต่ยิ่งทำให้เด็กกังวลและดูดนิ้วมากขึ้น
  2.  เด็กบางรายเลิกดูดนิ้วได้เองจากการที่ผู้ปกครองเลิกสนใจกับการดูดนิ้วของเขา
  3.  การใส่ถุงมือผ้า การใช้ผ้าหรือเทปพันที่นิ้ว การดัดแปลงชุดนอนให้แขนเสื้อยาวมากเกินปกติ เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับเด็กที่ต้องการเลิกนิสัยดูดนิ้วและต้องการตัวช่วยให้เค้าไม่เผลอเอานิ้วเข้าปาก โดยเฉพาะตอนนอน
  4. การให้รางวัล เป็นแรงเสริมสนับสนุนให้เด็กอยากเลิกดูดนิ้วได้ผลดีกว่าคำตำหนิหรือลงโทษ วิธีนี้ใช้ได้ผลกับเด็กวัยอนุบาลขึ้นไป อาจทำเป็นปฏิทินแล้วให้ดาวเมื่อเด็กไม่ดูดนิ้ว หรือแม้แต่กำลังจะดูดแล้วแม่เตือนเบาๆลูกก็ไม่ดูด ก็ควรได้ดาว เมื่อสะสมดาวได้ครบ 10 ดวง 15 ดวง แล้วแต่จะตกลงกัน ก็จะได้รางวัลชิ้นหนึ่ง ไม่ต้องใหญ่โตอะไร แต่เป็นสิ่งที่ลูกอยากได้ ก็จะมีแรงจูงใจให้เด็กพยายาม

อ่านวิธีการเลิกนิสัยดูดนิ้วของลูก คลิกที่นี่

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

คำสอนของแม่กับนิ้วมือทั้งห้า

หุ่นนิ้วเสริมพัฒนาการทารก

บทความโดย

Napatsakorn .R