ลูกเรียกแม่ตอนกี่เดือน
ลูกเรียกแม่ตอนกี่เดือน ลูกเรียกคำไหนได้ก่อนกันระว่างพ่อหรือแม่ เชื่อว่าพ่อแม่หลายคนคงเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่ลูกจะเรียกพ่อหรือแม่ได้กันนะ ซึ่งการสื่อสารของทารกเริ่มแรกคือเสียงร้องไห้ ก่อนที่จะมาเป็นการส่งเสียงอ้อแอ้ และการแสดงออกมาเป็นคำพูด
ลูกพูดคำแรกเมื่อไหร่
ทารกจะเริ่มพูดเป็นคำๆ เร็วสุดในช่วงวัยประมาณ 6-7 เดือน ซึ่งในช่วงเวลานี้เด็กบางคนอาจเริ่มเรียก “มาม๊า” หรือแม่ได้แล้ว แต่หากลูกน้อยของคุณยังเรียกไม่ได้ก็ไม่เป็นไรค่ะ เพราะเด็กส่วนใหญ่จะเริ่มออกเสียงเรียกแม่ได้ในช่วงประมาณเดือนที่ 8 ค่ะ โดยที่ยังไม่รู้ความหมายของคำๆ นั้น แต่อาศัยการฟัง ทำความเข้าใจ และเริ่มที่จะพูดตาม สำหรับบางบ้านลูกอาจเรียก “ปาป๊า” ได้ก่อนเรียก “มาม๊า” เสียอีก เพราะฉะนั้นคุณแม่ก็ไม่ต้องน้อยใจนะคะ แล้วถ้าลูกอายุเท่านี้แล้วแต่ยังไม่เรียกพ่อหรือแม่ จะทำอย่างไร
วิธีช่วยกระตุ้นให้ลูกพูด
วิธีที่จะช่วยให้ลูกพูดได้ดีที่สุดคือการพูดคุยกับลูกมากๆ ค่ะ ลูกจะได้รู้สึกอยากจะพูดตาม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะเริ่มจากการบรรยายว่าสิ่งของรอบตัวมีอะไรบ้าง ลูกเห็นไหมว่าอันนี้เรียกว่าอะไร พยายามอธิบายสิ่งต่างๆ ให้ลูกฟังไม่ว่าจะเป็นเรื่องตามท้องถนน เรื่องในบ้าน หรือแม้แต่อาหารค่ะ ถ้าอยากรู้ว่าลูกน้อยกำลังสนใจฟังสิ่งที่คุณเล่าหรือเปล่าให้ดูจากท่าทีค่ะ ถ้าลูกกำลังยิ้ม หรือหัวเราะ หรือว่าส่งเสียงอะไรออกมา แสดงว่าหนูน้อยกำลังสนใจเรื่องที่คุณเล่าอยู่นั่นเอง แล้วแบบนี้จะทำให้ลูกพูดได้อย่างไร มาดูกันค่ะ
1. พูดกับลูกช้าๆ ชัดๆ
ในช่วงเริ่มต้นของการเรียนรู้ เด็กอาจต้องใช้เวลาในการจดจำก่อน ดังนั้นเวลาที่แม่เล่าเรื่อง หรืออ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง คุณแม่ต้องเลือกหนังสือภาพที่มีภาพชัดๆ หรือหนังสือที่สามารถอธิบายคำต่างๆ ด้วยรูปภาพ เพื่อที่แม่สอนให้ลูกพูดคำๆ นั้น ลูกน้อยจะได้เข้าใจและจดจำได้ว่าคำนี้มีความหมายว่าอย่างไร
2. ใช้เพลงเข้าช่วย
การร้องเพลงจะช่วยให้ลูกน้อยสามารถจดจำและเรียนรู้การใช้ภาษาได้ดี ในช่วงเริ่มต้นคุณแม่คุณพ่ออาจต้องเลือกเนื้อเพลงที่ฟังชัดๆ ไม่ซับซ้อน เนื้อหาเข้าใจง่าย และมีจังหวะสนุก น้องๆ จะได้สนุกสนานกับการเรียนรู้และเพลินเพลินกับการออกเสียงค่ะ
3. พูดซ้ำๆ
เวลาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการที่จะให้ลูกพูดคำไหนได้ พ่อแม่ควรที่จะสอนลูกซ้ำๆ ย้ำๆ ไม่ใช่การพูดเพียงครั้งเดียว เพราะการที่ทำแบบเดิมซ้ำไปซ้ำมาจะทำให้ลูกน้อยจดจำได้ง่าย และช่วยให้ลูกน้อยเข้าใจคำๆ นั้นมากขึ้นในช่วงสถานการณ์ต่างๆ
4. เว้นจังหวะให้ลูกพูดบ้าง
พ่อแม่บางคนพอบอกว่าให้พูดกับลูกมากๆ ก็เอาแต่พูดกับลูกอย่างเดียวโดยที่ไม่ปล่อยให้ลูกพูดโต้ตอบบ้าง แล้วก็มาบอกว่าทำไมลูกไม่ยอมพูดเลย สาเหตุหนึ่งก็มาจากที่พ่อแม่พูดแบบไม่มีจังหวะให้ลูกพูดแทรกเลย หากคุณพ่อคุณแม่ยังทำแบบนี้ก็จะยิ่งทำให้ลูกพูดได้ช้า ดังนั้น ทุกครั้งที่พูดกับลูกอย่าลืมเปิดโอกาสให้ลูกพูดบ้างนะคะ
5. ใช้น้ำเสียงที่ต่างกัน
หากคุณแม่อยากสอนคำศัพท์ใหม่ๆ ให้กับลูก ลองเปลี่ยนโทนเสียงใหม่ๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ลูกเกิดการเลียนแบบและพูดตามค่ะ เพราะเด็กคิดว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งแปลกใหม่ทำให้หนูน้อยอยากจะทำแบบนั้นได้บ้าง
ลูกพูดช้าแค่ไหนต้องพาไปพบคุณหมอ
พ่อแม่หลายคนคงร้อนใจว่าตอนนี้ลูกอายุ 9 เดือนแล้ว หรือ 1 ขวบแล้วทำไมลูกยังพูดไม่ได้เลย แบบนี้ปกติไหม ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการช้าหรือเร็วไม่เท่ากัน เด็กบางคนขวบกว่ากว่าจะพูด แต่ถ้าลูกของคุณอายุได้ 15 เดือน หรือ 1 ขวบ กับอีก 3 เดือนแล้วยังไม่พูด แสดงว่าอาการแบบนี้น่าเป็นห่วงแล้วค่ะ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ปรึกษาคุณหมอจะดีที่สุด เพราะหมายถึงลูกมีพัฒนาการที่ช้าแล้ว
ที่มา: parents, whattoexpect
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
คุณครอบครองลูกได้กี่ปี พ่อแม่มีโอกาสทองที่จะครอบครองลูกได้กี่ปี? มีเวลาดูแล สั่งสอนลูกได้นานแค่ไหน
ทารกจามบ่อยอันตรายไหม ทำไมลูกถึงจามบ่อย พ่อแม่ควรทำอย่างไรดี
6 เมนูไข่สำหรับทารก สูตรอาหารเด็กเล็กทำง่าย อร่อย คุณค่าทางอาหารสูง