อาการเจ็บไข้ได้ป่วย ผู้ใหญ่เป็นก็ว่าหนักหนาแล้ว แต่เด็กนี่สิ ยิ่งน่าสงสาร ดูทรมานมากกว่าผู้ใหญ่เสียอีก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ หรือทารก ที่ยังพูดไม่ได้ สื่อสารยังไม่เป็น แล้วคนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องสังเกตยังไง วัดไข้ทารก อย่างไร ลูกมีไข้กี่องศา ถึงเสี่ยงชัก เจ็บป่วยแค่ไหนถึงต้องพาไปโรงพยาบาล
อาการป่วยไข้ของทารก
อาการไข้ พบบ่อยสุด ๆ ในวัยทารก มักจะมีอาการอื่น ๆ ของร่างกายรวมอยู่ด้วย โดยทารกหรือเด็กเล็กที่มีอายุ ต่ำกว่า 5 ปี หากมีไข้สูงมาก ๆ จะทำให้เกิดอาการชักได้
แล้วไข้คืออะไร? ไข้คืออาการที่เกิดขึ้น เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงกว่าปกติ แม่สังเกตได้จากการกอด อุ้มทารก ลองคลำที่หน้าผาก ซอกคอ หรือข้อพับต่าง ๆ ก็จะรู้สึกร้อนขึ้นมา
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทารกติดโรค จากผู้ใหญ่ ทารกป่วยบ่อย ติดเชื้อจากพ่อแม่ ครอบครัว คนป่วยต้องอยู่ให้ห่างลูก
วิธีวัดไข้ทารก
ทำได้โดยวัดปรอททางรักแร้ ขั้นตอนแรก แม่ต้องซับรักแร้ของลูกให้แห้งเสียก่อน สลัดปรอทให้ต่ำลงถึง 35 องศาเซลเซียส แล้วจึงค่อย ๆ กางแขนลูก เพื่อนำปรอทใส่บริเวณกึ่งกลางของรักแร้ ใส่ให้พอดี ปลายปรอทต้องไม่โผล่จากด้านหลัง แล้วทิ้งปรอทไว้ 3-5 นาที จากนั้นหยิบปรอทมาอ่านผล
การอ่านผลปรอททำได้ง่าย ๆ เพียงแม่อ่านค่าอุณหภูมิที่ได้ บวกเพิ่มอีก 0.5 องศาเซลเซียส โดยถือปรอทไว้ระดับสายตาคุณแม่ ถ้ามองเห็นตัวเลขว่า มากกว่าหรือเท่ากับ 38 องศาเซลเซียส นั่นแปลว่า ลูกมีไข้แล้วนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับการใช้ปรอทวัดไข้เมื่อลูกไม่สบาย
อ่านลูกมีไข้กี่องศา ถึงเสี่ยงชัก ต้องพาไปโรงพยาบาล ต่อหน้าถัดไป
ลูกมีไข้กี่องศาถึงเสี่ยงชัก
ถ้าลูกมีไข้สูงถึง 39-40 องศาเซลเซียส อาจเกิดอาการชักได้ ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงแรกที่มีไข้
แต่หากมีอาการชักเกิดหลังจากวันที่มีไข้ เป็นไปได้ว่า มีสาเหตุอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะติดเชื้อระบบประสาท
สำหรับสาเหตุของการมีไข้นั้นมีหลายข้อ เช่น
- ลูกติดเชื้อ ทั้งการอักเสบของทางเดินหายใจ หูชั้นกลางอักเสบ ปอดบวม ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ก็เป็นสาเหตุให้เกิดอะการไข้ได้
- ร่างกายของลูกเกิดทำปฏิกิริยากับสิ่งแปลกปลอม เช่นเดียวกับหลังการฉีดวัคซีน ที่ทำให้เด็กๆ เกิดไข้ขึ้นได้
- เป็นไปได้ว่าร่างกายลูกขาดน้ำ เช่น อุจจาระร่วง อุณหภูมิภายนอกร่างกายสูงมากๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
- ลูกมีการบาดเจ็บ หรือเกิดบาดแผลในร่างกาย
พอเกิดเหตุเหล่านี้ จะไปกระตุ้นการหลั่งสารกระตุ้นสมองส่วนหน้าให้ตั้งระดับอุณหภูมิสูงขึ้น เป็นการตอบสนองของร่างกายที่เพิ่มความร้อนจากการเพิ่มอัตราการเผาผลาญของเซลล์และการสั่นของกล้ามเนื้อ ทั้งยังลดการระบายความร้อนออกจากร่างกายโดยการตีบตัวของหลอดเลือดใต้ผิวหนัง ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น จนเกิดอาการไข้นั่นเอง
วิธีลดไข้เบื้องต้น
แม่ต้องเช็ดตัวให้ลูกเพื่อป้องกันการชัก โดยเฉพาะในเด็กที่อายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี และต้องให้ความสำคัญ กับเด็กที่มีประวัติชักเมื่อมีไข้สูง (ไข้ชัก) ซึ่งการเช็ดตัวลดไข้ จะช่วยให้ความร้อนในร่างกายลดลงได้
สิ่งของที่ต้องเตรียมสำหรับเช็ดตัวทารก
ภาพและข้อมูล จากบทความวิธีเช็ดตัวเด็กลดไข้ (Tepid sponging) รัชนี ชัยประเดิมศักดิ์ อาจารย์พยาบาล สาขาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น
- ผ้าเช็ดตัว/ผ้าขนหนู รองใต้ตัวเด็กหรือทารก เลือกที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวเด็กเล็กน้อย
- ผ้าขนหนูที่อ่อนนุ่ม ขนาดพอพันข้อมือของแม่ เวลาใช้คือพันรอบมือทั้ง 4 นิ้วเหลือนิ้วโป้งไว้ และพับส่วนปลายตลบมาสอดไว้ที่ฐานของผ้าและวางนิ้วโป้งกดไว้เวลาเช็ดตัว
- เตรียมกะละมังหรืออ่างน้ำขนาดความจุประมาณ 5 ลิตร
- เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้ายบางๆ สำหรับสวมใส่หลังเช็ดตัว
- น้ำที่จะใช้เช็ดตัว อุณหภูมิน้ำประมาณ 29.4 – 35 องศาเซลเซียส เทน้ำธรรมดาใส่กะละมัง (ขนาด 5 ลิตร) ผสมน้ำร้อนประมาณ 200 ซีซี. หรือ 1 แก้ว เพื่อน้ำจะไม่ร้อนมากเกินไป
- ขณะเช็ดตัวลดไข้ หากเด็กมีอาการเริ่มหนาวสั่น ให้หยุดเช็ดตัวทัน ที ห่มด้วยผ้าห่มหรือผ้าขนหนูที่แห้ง จนกระทั่งหยุดสั่น ควรวัดอุณหภูมิของเด็กทุก 10 – 15 นาที ถ้าเป็นปรอทธรรมดา วัดทางรักแร้ 5 นาที ขณะทำการเช็ดตัว
- ถ้าเป็นทารกและมีอุณหภูมิกายต่ำกว่า 36.7 องศาเซลเซียส ให้ทำการห่อตัว โดยเฉพาะส่วนศีรษะ ดังภาพ ห่อหุ้มศีรษะ ห่อด้วยผ้าขนหนู เนื่องจากส่วนศีรษะมีพื้นที่ผิวกายคิดเป็นสัดส่วนถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของร่างกาย ห่อตัว จนกระทั่งเด็กอุณหภูมิปกติหรือใกล้เคียงปกติ (ประมาณ 37.0 – 37.5 องศาเซลเซียส/ Celsius) จึงหยุดห่อตัว
- ท่าที่พ่อแม่ต้องจับลูก นำตัวเด็กนอนบนเตียงถ้าไม่มีเตียงอาจให้เด็กยืนหรือนั่งบนเก้าอี้ได้ แต่ถ้ามีประวัติชักแนะนำให้นั่ง โดยปูผ้าขนหนูรองตัวเด็ก ถอดเสื้อผ้าเด็กออก
- ใช้ผ้าชุบน้ำที่เตรียมไว้ บิดผ้าให้หมาด โดยเริ่มจากแขนและขาก่อน เด็กจะปรับตัวกับอุณหภูมิของน้ำที่ใช้เช็ดตัว แล้วจึงเช็ดเข้าสู่ลำตัว เช็ดแขนและขาข้างละ อย่างน้อย 5 นาที ที่ลำตัวหลังและก้นอย่างน้อย 10 -15 นาที วิธีเช็ด โดยเช็ดจากปลายแขนเข้าสู่ต้นแขน เพื่อเป็นการกระตุ้นการไหลเวียนเลือดกลับเข้าสู่หัวใจ
- เมื่อลูบผ้าไปตามแขน-ขา ควรมีการพักผ้า ที่ข้อพับต่างๆ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีหลอดเลือดมาเลี้ยงมาก (วิธีนี้จะช่วยให้เลือดพาความเย็นไปด้วยเพิ่มขึ้น)
- ทำการชุบน้ำใหม่เมื่อผ้าร้อนขึ้นกว่าเดิม ใช้เวลาในการเช็ดตัวอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที โดยอุณหภูมิที่คาดหวังหลังการเช็ดตัวคือ ต่ำกว่า 37.5 องศาเซลเซียส
ที่สำคัญอย่างยิ่ง เมื่อทารกหรือเด็กเล็ก ๆ มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน ต้องไปพบแพทย์ทันที แม่ ๆ ยังสามารถสังเกตอาการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ลูกซึม ท้องเสีย ไม่กินนม อาเจียน อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนให้ต้องรีบไปโรงพยาบาล แม่ ๆ อย่าเมินกันนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ