ท้องแล้ว ควรฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี การฝากครรภ์มีประโยชน์ต่อคุณแม่อย่างไร?

คุณแม่ส่วนใหญ่มักทราบข่าวดีจากการใช้ที่ตรวจครรภ์ เมื่อผลปรากฏว่าขึ้น 2 ขีด นั่นหมายความว่า ได้เวลาฉลองแล้วล่ะ คุณกำลังมีข่าวดี รู้อย่างนี้แล้วสิ่งแรกที่ควรทำคือบอกให้คนในครอบครัวร่วมแสดงความยินดีกับว่าที่คุณแม่คนใหม่ แล้วจากนั้นล่ะ ควรทำอะไรต่อ? ลำดับต่อไปที่ควรทำก็คือ การฝากท้อง หรือ การฝากครรภ์ นั่นเอง

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ทำไมต้องฝากครรภ์

เพราะร่างกายของมนุษย์มีความซับซ้อนอย่างมาก การจะดูแลลูกในครรภ์ตลอด 9 เดือนให้พร้อมที่จะออกมาสู่โลกภายนอกอย่างแข็งแรง จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคุณหมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ในการตั้งครรภ์ และการคลอดบุตร โดยการฝากครรภ์มีประโยชน์ต่อทั้งแม่และลูกที่อยู่ในครรภ์ ดังนี้

 

การฝากครรภ์มีประโยชน์ต่อคุณแม่อย่างไร

  1. ส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจให้กับคุณแม่ เนื่องจากคุณหมอจะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวระหว่างตั้งครรภ์ รวมถึงตอบคำถามต่างๆ ที่คุณแม่สงสัยในการตั้งครรภ์ เพื่อให้คุณแม่ดูแลร่างกายและจิตใจ ให้มีสุขภาพสมบูรณ์ที่สุด
  2. ตรวจสอบว่าการตั้งครรภ์ดำเนินไปโดยปกติหรือไม่ การเข้ารับการตรวจครรภ์อย่างต่อเนื่อง คุณหมอจะช่วยวินิจฉัยโรคบางอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อแม่และลูก เช่น โลหิตจาง ซิฟิลิส ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น เพื่อดำเนินการป้องกัน แก้ไข และช่วยเหลืออย่างทันท่วงที รวมทั้ง หากพบว่าท่านอนของลูกในครรภ์ผิดปกติ จะได้ป้องกันแก้ไขตั้งแต่ต้น
  3. ป้องกันหรือลดอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปอย่างปกติที่สุด จนกระทั่งถึงกำหนดคลอด หากมีโรคแทรกซ้อน คุณหมอจะได้ช่วยให้เกิดอันตรายน้อยที่สุด ติดเชื้อน้อยที่สุด และเสียเลือดน้อยที่สุด

 

การฝากครรภ์มีประโยชน์ต่อลูกในครรภ์อย่างไร

  1. ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับทารกในครรภ์ การฝากครรภ์ช่วยลดอัตราการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ลูกเสียชีวิตในท้อง หรือคลอดแล้วเสียชีวิต ป้องกันการอักเสบติดเชื้อในตัวลูกน้อย
  2. ช่วยดูแลทารกในครรภ์ ทำให้ลูกน้อยเติบโต สมบูรณ์แข็งแรง มีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม

 

ควรฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี

เมื่อรู้ถึงประโยชน์ของการฝากครรภ์แล้ว ควรฝากท้องตอนไหน คำตอบก็คือ คุณแม่ควรไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด ทันทีที่รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ อย่าปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปเป็นอันขาด เพราะหากเกิดอาการแทรกซ้อนก็อาจสายเกินแก้ ถึงขั้นสูญเสียลูกในท้องได้

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ฝากครรภ์ที่ไหนดีที่สุด

การเลือกสถานที่ฝากครรภ์ ควรเลือกโรงพยาบาล หรือคลินิกที่สะดวกที่สุด เช่น ใกล้โรงพยาบาล หรือใกล้บ้าน หากเป็นสถานพยาบาลที่คุณแม่มีประวัติการรักษาโรคประจำตัวมาก่อนยิ่งดีใหญ่ เพราะคุณหมอจะมีประวัติว่าคุณแม่เคยเป็นโรคอะไร ใช้ยาอะไร และจะมีผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์หรือไม่

ฝากครรภ์ ทำกันยังไง ครั้งแรกหมอตรวจอะไรบ้าง คลิกหน้าถัดไป

ฝากครรภ์ครั้งแรกหมอตรวจอะไรบ้าง

เมื่อไปฝากครรภ์ครั้งแรก คุณหมอจะซักประวัติคุณแม่

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ มาสม่ำเสมอหรือไม่
  • ก่อนตั้งครรภ์คุมกำเนิดด้วยวิธีใดหรือไม่
  • เคยมีโรคหรืออาการผิดปกติอะไรบ้าง
  • เคยมีการแพ้ยาหรือไม่ หากคุณแม่กำลังใช้ยาบางตัวอยู่ ซึ่งอาจเป็นอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ แม้แต่ยาแก้ไข้แก้หวัด ก็ควรบอกคุณหมอด้วย
  • ประวัติความเจ็บป่วยของคนในครอบครัวที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคเลือด การมีลูกแฝด เป็นต้น

หลังจากซักประวัติคุณหมอจะทำการตรวจร่างกาย ดังนี้

  • ชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูง หากคุณแม่สูงน้อยกว่า 145 เซนติเมตรมักจะมีเชิงกรานเล็ก ขนาดของลูกในครรภ์กับช่องเชิงกรานไม่ได้สัดส่วน ทำให้คลอดเองลำบาก มีโอกาสผ่าคลอดสูง
    การวัดส่วนสูงเทียบกับน้ำหนัก เพื่อให้ทราบว่าน้ำหนักตัวอยู่ในค่ามาตรฐานหรือไม่ และต้องชั่งน้ำหนักทุกครั้ง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงว่าน้ำหนักเพิ่มมากน้อยเกินไปหรือไม่ ผิดปกติหรือไม่
  • ตรวจปัสสาวะ หากคุณแม่มีน้ำตาลในปัสสาวะมากอาจแสดงถึงโรคเบาหวาน ต้องทำการเจาะเลือดเพื่อหาเบาหวานต่อไป
  • วัดความดันโลหิต หากความดันโลหิตสูงผิดปกติ อาจเป็นจุดเริ่มแรกของครรภ์เป็นพิษ แต่หากความดันโลหิตต่ำมักไม่ค่อยมีปัญหาอะไร
  • ตรวจฟัน หากคุณแม่มีฟันผุต้องรีบอุดเสียก่อนปล่อยให้อักเสบเรื้อรัง อาจมีผลให้อวัยวะอื่นๆ อักเสบตามไปด้วย
  • ตรวจต่อมไทรอยด์ โดยทั่วไป หญิงตั้งครรภ์ปกติจะมีต่อมไทรอยด์โตเล็กน้อย หากโตมาก ต่อมไทรอยด์อาจเป็นพิษได้
  • ฟังเสียงหัวใจและปอด หากพบสิ่งผิดปกติ คุณหมออาจให้การรักษาหรือปรึกษาแพทย์เฉพาะทางต่อไป
  • ตรวจครรภ์ เพื่อดูว่าขนาดหรือระดับมดลูกสัมพันธ์กับอายุครรภ์หรือไม่ มีก้อนเนื้อผิดปกติในท้องหรือไม่
    หากไม่มีความผิดปกติ คุณหมอก็จะให้ยาบำรุง ได้แก่ วิตามินบีรวม และธาตุเหล็กมาบำรุงคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
  • ตรวจขา เพื่อดูเส้นเลือดขอด ซึ่งทำให้เลือดไหลกลับไปหัวใจไม่สะดวก หากเป็นมากเส้นเลือดอาจอุดตัน ทำให้ขาบวม หรืออาจเป็นอันตรายหากก้อนเลือดที่อุดตันหลุดเข้าไปในกระแสเลือด
  • ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ เจาะเลือดเพื่อหาว่าเลือดจางหรือไม่ ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส โรคเอดส์ โรคตับอักเสบไวรัสบี ภูมิต้านทานหัดเยอรมัน

การตรวจนี้โรงพยาบาลบางแห่งอาจตรวจให้ในครั้งแรก แล้วนัดไปตรวจท้อง รวมถึงดูผลตรวจเลือดและปัสสาวะอีกครั้งใน 1-2 สัปดาห์ บางแห่งก็ตรวจท้องก่อน แล้วจึงเจาะเลือดและตรวจปัสสาวะ โดยจะนัดฟังผลใน 1-2 สัปดาห์ เช่นกัน

ที่มา : คู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด โดย ศ.(คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

คุณแม่ตั้งครรภ์ น้ำหนักตัวควรเพิ่มขึ้นเท่าไหร่

3 ข้อหลักที่คุณแม่ตั้งครรภ์มักกังวลมากที่สุด