สำหรับเด็กเล็กการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่แพ้ง่าย อย่างไข่ นม และอาหารทะเล เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากสารที่อยู่ในอาหารจำพวกนี้ จะตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันของร่างกาย จึงทำให้แสดงอาการขึ้นกับระบบต่าง ๆ ของร่างกายนั้นเองค่ะ แล้วแบบนี้ เด็กเล็กกินอาหารทะเลได้ตอนกี่เดือน กันนะ มาดูกันค่ะ
เด็กเล็กกินอาหารทะเลได้ตอนกี่เดือน
อาหารทะเล ควรให้ลูกได้ทานเมื่อลูกมีอายุอย่างน้อย 9 เดือน หรืออาจจะเริ่มให้ลูกได้เริ่มทานเมื่ออายุครบ 1 ขวบขึ้นไปก็ได้ค่ะ เนื่องจากอาหารทะเล โดยเฉพาะ กุ้ง ปู ปลาหมึก หอย เป็นกลุ่มอาหารที่เด็กมักแพ้บ่อยๆ ค่ะ หากเด็กมีอาการแพ้อาหารทะเลแล้วส่วนใหญ่มักจะเป็นแล้วไม่หายไปค่ะ
สาเหตุที่ทำให้เป็นเด็กแพ้อาหารทะเล
-
กรรมพันธุ์
พบว่าหากในครอบครัวมีสมาชิกที่เป็นโรคภูมิแพ้ 1 คน ความเสี่ยงในการเกิดการแพ้อาหารจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 หากมีสมาชิกในครอบครัวสายตรงเป็นโรคภูมิแพ้ 2 คน ความเสี่ยงในการเกิดการแพ้อาหารจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80
-
ขาดวิตามินดี
การขาดวิตามินดี อาจส่งผลทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการแพ้อาหารได้ค่ะ
วิธีสังเกตว่าลูกเป็นเด็กแพ้อาหารทะเล
หากลูกเกิดอาการแพ้อาหารทะเล อาการจะเกิดก็ต่อเมื่อลูกทานอาหารไปประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง โดยลักษณะอาการจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระบบภูมิต้านทานภายในร่างกาย ลักษณะ และปริมาณอาหารอาหารทะเลที่ทาน โดยอาการที่จะแสดง ได้แก่
-
ผิวหนัง
อาการคัน ผื่นแดง ผื่นลมพิษ ผิวหนังบวม
-
ตา
อาการคัน น้ำตาไหล ตาแดง อาการบวมรอบตา
-
ทางเดินหายใจส่วนบน
อาการคัน แน่นจมูก น้ำมูกไหล จาม เสียงแหบ กล่องเสียงบวม
-
ทางเดินหายใจส่วนล่าง
อาการไอ เสียงหวีดในลำคอ หายใจไม่ออก แน่นหรือเจ็บหน้าอก
-
ทางเดินอาหาร
อาการคันในช่องปาก อาการบวมของริมฝีปาก ลิ้น หรือ เพดานปาก คันหรือแน่นในคอ ปวดท้องเรื้อรัง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
-
หัวใจ และหลอดเลือด
หัวใจเต้นเร็ว มึนงง สลบหรือเป็นลม ความดันโลหิตต่ำ
ซึ่งอาการแพ้อาหารทะเลของลูกน้อยจะมาก หรือน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับปฏิกริยาต่อระบบอวัยวะของร่างกายค่ะ ถ้าร้ายแรงมากที่สุด อาจเกิดผลเสียต่อชีวิตได้
วิธีเริ่มทานอาหารทะเลสำหรับเด็ก
- เริ่มทีละอย่างและทีละน้อย
- สังเกตทุกครั้งว่า มีอาการแพ้ หรือผิดปกติหลังจากการกินหรือไม่
- ในขั้นต้นขอแนะนำให้เริ่มกินอาหารทะเลจำพวกปลาก่อน เพราะย่อยง่ายมีโอเมก้า 3 สูง และมีโอกาสแพ้น้อยกว่าอาหารทะเลประเภทอื่น ๆ
- ไม่ควรให้กินอาหารทะเลซ้ำ ๆ เพียงชนิดเดียวเป็นเวลานาน แต่ควรกินให้หลากหลายและหมุนเวียนกันไป เพื่อเลี่ยงการสะสมของสารอันตราย และการสะสมของสารอาหารต่าง ๆ ที่อาจมากเกินความต้องการของร่างกาย
- อาหารทะเลที่เลือกซื้อมาปรุงอาหารต้องสด ใหม่ ก่อนนำมาปรุงอาหารก็ต้องล้างทำความสะอาดให้ดี และนำมาปรุงให้สุกเสียก่อนจึงจะดีและปลอดภัยกว่าการกินแบบดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ
ข้อควรระวังในการเลือกซื้ออาหารทะเลให้ลูก
- โลหะหนักประเภทตะกั่ว ทองแดง ปรอท ซีลีเนียม แคดเมียม สังกะสี ฯลฯ มักตรวจพบเจออยู่บ่อย ๆ ในอาหารทะเล หากร่างกายเกิดการสะสมของสารเหล่านี้มาก ๆ จะส่งผลต่ออวัยวะและระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย โดยเฉพาะเด็ก ๆ วัยเบบี๋ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ และระบบอวัยวะภายในร่างกายยังเจริญเติบโต และทำงานได้ไม่เต็มที่ก็ต้องระวังมากยิ่งขึ้น
- แบคทีเรียที่ปนเปื้อนในอาหารทะเลมีหลายชนิด ซึ่งหากร่างกายได้รับเข้าไปอาจทำให้มีอาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และปวดท้องอย่างรุนแรง
- ในอาหารทะเลก็มีพยาธิ เช่น พยาธิ ตัวจี๊ด พยาธิตัวแบน พยาธิตัวตืด อยู่ด้วยเหมือนกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูกแพ้อาหารกลุ่มเสี่ยงที่แม่กิน ผ่านทางนมแม่ อุทาหรณ์ที่อยากเตือนแม่ให้นม
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง เรื่องใกล้ตัวของครอบครัว เด็กขี้แพ้
ลูกแพ้อาหารควรทําอย่างไร อาการทารกแพ้อาหารผ่านน้ำนม แม่ควรทําอย่างไร