อาการคนท้อง 5 เดือน ก็ยังเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ ทารกแข็งแรงมากแค่ไหน เรามาดู อาการคนท้อง 5 เดือน เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายกันค่ะ
ท้อง 5 เดือน กับร่างกายที่เปลี่ยนแปลง
- น้ำหนักขึ้น
เมื่อเวลาผ่านไป ลูกน้อยจะเริ่มตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งช่วงสัปดาห์ที่ 23 ของการตั้งครรภ์คุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5-7 กิโลกรัม และอาจมากหรือน้อยกว่านั้นแล้วแต่บุคคล จึงเป็นช่วงที่เริ่มสังเกตได้ชัดว่ากำลังตั้งครรภ์
- ผิวแตกลาย
เมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นก็อาจทำให้ขนาดตัวของคุณแม่ขยายใหญ่ขึ้น จนอาจส่งผลให้เกิดปัญหาท้องลาย ขาลาย หรือหน้าอกลาย แต่ปัญหาผิวแตกลายมักจะค่อย ๆ จางลงหลังคลอด
- หน้ามันและเป็นสิว
เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งทำให้ต่อมใต้ผิวหนังผลิตไขมันออกมามากขึ้น จนเป็นสาเหตุทำให้หน้ามัน และหากไขมันเหล่านั้นไปอุดตันในรูขุมขนก็จะทำให้เกิดการอักเสบและเป็นต้นเหตุของการเกิดสิว
- เหงือกบวมหรือมีเลือดออกตามไรฟัน
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์ทำให้เลือดไหลเวียนภายในเหงือกมากขึ้น จึงส่งผลให้เหงือกบวมและบอบบางกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคือง เป็นแผล หรือมีเลือดออกตามไรฟันได้ด้วย
- ข้อเท้าและเท้าบวม
เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่ที่ท้อง 5 เดือน ซึ่งการยกขาสูง การเดินออกกำลังกายเป็นประจำ หรือการดื่มน้ำมาก ๆ อาจช่วยบรรเทาอาการบวมได้ แต่หากเท้าหรือข้อเท้ามีอาการบวมอย่างมาก หรือบวมกะทันหัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะครรภ์เป็นพิษได้
- ปวดหลัง
การตั้งครรภ์ทำให้กระดูกสันหลังแอ่นตัวและสร้างความตึงเครียดให้กับกล้ามเนื้อหลัง โดยเฉพาะในช่วงที่ท้องประมาณ 5 เดือน หรือการตั้งครรภ์แฝด ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรังได้
- เจ็บท้องหลอก
แม้มักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ แต่ก็อาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือช่วงที่ท้อง 5 เดือนได้เช่นกัน โดยมีอาการคล้ายปวดประจำเดือน ปวดบีบแบบไม่สม่ำเสมอซึ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ และอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวบ้าง แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้ปากมดลูกเปิดเหมือนเจ็บคลอดจริง
- เส้นเลือดขอด
การขยายตัวของมดลูกในขณะตั้งครรภ์ทำให้ความดันของหลอดเลือดดำที่ขาเพิ่มขึ้น อีกทั้งฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนยังทำให้หลอดเลือดขยายตัวและมีการไหลเวียนของเลือดเพิ่มมากขึ้น จึงมีแนวโน้มทำให้เกิดเส้นเลือดขอดบริเวณขา ช่องคลอด และทวารหนัก ซึ่งมักจะมีอาการดีขึ้นหลังคลอด
- ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
น้ำหนักของมดลูกที่กดกระเพาะปัสสาวะอาจขัดขวางการไหลเวียนของน้ำปัสสาวะและทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น ซึ่งการดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานวิตามินซี เบต้าแคโรทีน และธาตุสังกะสี รวมถึงไม่อั้นปัสสาวะก็อาจช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้
- ท้องผูก
ฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้กล้ามเนื้อในทางเดินอาหารคลายตัว ทำให้อาหารเคลื่อนผ่านลำไส้เล็กช้าลง รวมถึงมดลูกที่ขยายตัวอาจไปกดทับไส้ตรงจนทำให้ท้องผูกได้
- ริดสีดวงทวาร
การขยายตัวของมดลูก ปัญหาท้องผูก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดริดสีดวงทวารได้ในช่วงตั้งครรภ์
พัฒนาการทารกในครรภ์
ทารกจะมีขนเส้นบาง ๆ ขึ้นตามลำตัว เพื่อช่วยให้ไขทารกเกาะอยู่บนผิวหนัง และอาจเริ่มอมนิ้วหัวแม่มือของตัวเอง มีเส้นผมและคิ้วขึ้นมาอย่างชัดเจน และร่างกายของทารกจะเริ่มผลิตไขมันสีน้ำตาลขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เผาผลาญพลังงานให้เกิดเป็นความร้อนในยามที่อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำลง ทารกเคลื่อนไหวดวงตาได้เร็วขึ้น เริ่มสังเกตเห็นรอยบนฝ่ามือหรือฝ่าเท้า ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นลายนิ้วมือ ลายมือ และลายเท้าต่อไป ทารกบางรายอาจสะอึกด้วย ส่งผลให้ช่องท้องของคุณแม่เกิดอาการกระตุกได้ ในระยะนี้อาจสังเกตเห็นว่าผิวของทารกเหี่ยวย่น โปร่งแสง และมีสีชมพูหรือแดง เนื่องจากเริ่มมีการสร้างเซลล์เลือด ทำให้มองเห็นสีของเลือดผ่านหลอดเลือดฝอยที่มีอยู่ทั่วร่างกาย
กระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์
- ฟังเพลง
ระบบประสาทการรับฟังของลูกน้อยในครรภ์จะเริ่มทำงานตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 5 เดือน การใช้เสียงกระตุ้นจะทำให้เครือข่ายใยประสาทที่ทำงานเกี่ยวกับการได้ยินของลูกมีพัฒนาการดีขึ้น เสียงที่ดีที่ควรใช้ในการกระตุ้นก็คือ เสียงเพลง โดยเฉพาะเพลงที่มีความไพเราะและคุณแม่ชอบฟัง ไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงคลาสสิคอะไรที่ฟังไม่รู้เรื่องหรอก เวลาคุณแม่ฟังเพลง ควรจะเปิดเสียงเพลงให้อยู่ห่างจากหน้าท้องประมาณ 1 ฟุต และเปิดเสียงดังพอประมาณเพื่อลูกในครรภ์จะได้ฟังเสียงเพลงไปด้วย การที่ลูกในครรภ์ได้รับฟังเสียงเพลงคลื่นเสียง จะไปกระตุ้นให้ระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินมีการพัฒนาระบบการทำงานได้เร็วขึ้น ทำให้เมื่อลูกคลอดออกมา มีความสามารถในการจัดลำดับความคิดในสมอง รู้สึกผ่อนคลาย และจดจำสิ่งต่างๆได้ดี
- พูดคุยกับลูก
การพูดคุยกับลูกในครรภ์บ่อย ๆ จะช่วยให้ระบบประสาทและสมองที่ควบคุมการได้ยินมีพัฒนาการที่ดีและเตรียมพร้อมสำหรับการได้ยินหลังคลอด คุณแม่ควรพูดกับลูกบ่อย ๆ ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล ประโยคซ้ำ ๆ เพื่อให้ลูกคุ้นเคย อย่าไปเล่าเรื่องทุกข์ใจ เพราะเดี๋ยวลูกจะเครียดตั้งแต่อยู่ในท้อง
- ลูบหน้าท้อง
การลูบหน้าท้องจะกระตุ้นระบบประสาทและสมองส่วนรับรู้ความรู้สึกของลูกให้มีพัฒนาการดีขึ้น การลูบท้องควรลูบเป็นวงกลม จะจากบนลงล่างหรือจากล่างขึ้นบน บริเวณไหนก่อนก็ได้
คุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างไร
- ไปพบแพทย์ตามนัดฝากครรภ์
คุณแม่ที่ท้อง 5 เดือนจะต้องไปพบแพทย์ตามนัดหมายเสมอ เพื่อตรวจเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด ความผิดปกติทางพันธุกรรม และอัลตราซาวน์เพื่อตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์
- ดื่มน้ำมาก ๆ
หรือดื่มอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพราะอาจช่วยให้ลำเลียงสารอาหารไปยังทารกในครรภ์ได้ดีขึ้น รวมทั้งยังช่วยป้องกันและบรรเทาอาการท้องผูก การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ หรือริดสีดวงทวารได้เช่นเดียวกัน
- นอนตะแคง
ท้องที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอาจไปกดทับเส้นเลือดใหญ่บริเวณหลังจนอาจทำให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงทารกในครรภ์ได้น้อยลง การนอนตะแคงไม่เพียงช่วยลดการกดทับเส้นเลือดใหญ่ แต่อาจช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้ ซึ่งคุณแม่อาจเริ่มจากการใช้หมอนหนุนหลัง และใช้หมอนอีกใบรองไว้ระหว่างขาหรือหัวเข่า เพื่อให้ร่างกายคุ้นเคยกับการนอนตะแคงมากขึ้น
- ออกกำลังกายด้วยวิธีที่ปลอดภัย
เช่น การว่ายน้ำ หรือการเดิน เป็นต้น เพราะนอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพของว่าที่คุณแม่แล้ว ยังส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ด้วย
- สวมเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี
เช่น ผ้าฝ้าย เป็นต้น เพราะอากาศร้อนอาจส่งผลต่ออารมณ์ของคุณแม่และอาจส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้
- ทาครีมที่หน้าท้อง
เพื่อลดการเกิดปัญหาท้องลายและอาการคันผิวหนัง
- ไปพบทันตแพทย์
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดในร่างกาย ทำให้เหงือกบวมหรือมีเลือดออกตามไรฟันได้ง่าย รวมถึงอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและการก่อตัวของคราบพลัคได้
ลูกดิ้นบ่งบอกถึงอะไร
แน่นอนว่าการดิ้นของทารกในครรภ์ทำให้คุณแม่สัมผัสได้ถึงการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของลูกน้อย นอกจากนี้การดิ้นของลูกยังแสดงถึงการตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวของทารก เช่น การขยับหรือยืดแขนขาเหมือนเป็นการตอบสนองต่อเสียงหรือต่ออาหารที่คุณแม่ทานเข้าไป ทั้งนี้ยังมีการศึกษาพบว่าการดิ้นของทารกสามารถบอกได้ถึงพัฒนาการทางสมองที่นำไปสู่พฤติกรรมของทารกเมื่อเติบโตขึ้นในอนาคต
ลูกดิ้นแรงแค่ไหน
คุณแม่จะเริ่มรู้สึกได้ถึงการเตะเบา ๆ หรือการขยับตัวจากการสะอึกของทารก จากนั้นในสัปดาห์ต่อ ๆ มา กิจกรรมทางกายของทารกก็จะเพิ่มขึ้นและชัดเจนขึ้น โดยอาจพบว่าเด็กจะมีการขยับตัว เช่น เตะ หมุนตัว หรือตีลังกามากขึ้นในช่วงเย็นของวันซึ่งเป็นช่วงที่คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย นอกจากนี้เวลารับประทานอาหารก็จะเป็นช่วงที่เด็กขยับตัวบ่อย
ลูกไม่ดิ้น หรือดิ้นน้อย อันตรายหรือไม่
แม้การขยับตัวของทารกจะเป็นสัญญาณถึงพัฒนาการของเด็ก แต่ผู้ที่พบว่าตัวเองไม่รู้สึกถึงการขยับตัวของทารก หรือทารกไม่ดิ้นเลย ก็อาจไม่ต้องกังวลจนเกินไป เพราะการที่เด็กไม่ดิ้นหรือดิ้นน้อยอาจมีสาเหตุมาจากทารกในครรภ์กำลังหลับช่วงเวลาที่ทารกหลับจะเป็นช่วงที่มีการขยับตัวน้อยที่สุด
คุณแม่สามารถทำเล็บ หรือทำผม ได้หรือไม่
เนื่องจากคุณแม่ตั้งครรภ์เข้าสู่ ไตรมาสที่ 2 แล้ว จึงสามารถทำสีผมได้ เนื่องจากร่างกายของทารกสมบูรณ์แข็งแรงแล้ว ส่วนเรื่องการทำเล็บ ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือเรื่องของความสะอาดของอุปกรณ์ในการทำเล็บ เนื่องจากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ต้องระวังเรื่องการติดเชื้ออย่างมาก เพราะอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นมาตรฐานของร้าน และความสะอาดของอุปกรณ์ต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ
สารเคมีจะเข้าไปทำอันตรายต่อทารกหรือไม่
โดยปกติแล้วเมื่อสารเคมีซึมซับเข้าสู่ร่างกายจะถูกขับออกจากร่างกายในรูปแบบของปัสสาวะ แต่สารเคมีที่ใช้ในการย้อมผมนั้นไม่ได้มีปริมาณที่สูงมาก จึงไม่ส่งผลต่อทารกในครรภ์ น้ำยาทาเล็บก็ไม่ส่งผลอันตรายกับคุณแม่เช่นกัน แต่อาจจะมีวิงเวียนศีรษะในเรื่องของกลิ่นบ้าง
หากเกิดอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์
- ปวดท้องหรือปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานอย่างหนัก ปวดบ่อยครั้ง หรือปวดผิดปกติ
- มีสัญญาณเตือนของการคลอดก่อนกำหนด เช่น ปวดหรือรู้สึกแน่นที่ท้องส่วนล่างอย่างสม่ำเสมอ มีเลือดออกทางช่องคลอด น้ำคร่ำแตก และรู้สึกได้ถึงแรงดันในอุ้งเชิงกรานหรือช่องคลอด เป็นต้น
- ไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์มาสักระยะหนึ่ง
- หากพบอาการหรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่สบายตัวหรือไม่สบายใจคุณแม่ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์
ที่มา : (pobpad),(คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล)
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :
มาดูไปพร้อมกัน คนท้องย้อมผมได้ไหม ทำสีผมตอนท้องได้ไหม?
เพลงกล่อมลูก 04 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 100
คนท้องว่ายน้ำเสริมพัฒนาการทารกในครรภ์ดีเยี่ยม