รับมือ 5 อาการยอดฮิตเมื่อ ลูกป่วยครั้งแรก
เพราะทารกยังไม่มีระบบภูมิคุ้มกันที่มีแข็งแรง จึงง่ายต่อการเจ็บป่วย หากคุณแม่มีลูกน้อยวัยเบบี๋ นี่คือ 5 อาการที่ลูกมีโอกาสป่วยมากที่สุด และวิธีการดูแลเมื่อ ลูกป่วยครั้งแรก ที่คุณแม่ควรทราบค่ะ
1.ไข้หวัด
หวัด เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจส่วนบนที่กระทบต่อจมูกเป็นหลัก โดยมีไวรัสกว่า 200 ชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคหวัด จึงทำให้โรคหวัดเป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่พบบ่อยที่สุดในมนุษย์แม้แต่ในวัยทารก เด็กติดโรคหวัดโดยเฉลี่ย 6-12 ครั้งต่อปี
อาการของโรคหวัดมีทั้งไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล และไข้ซึ่งมักหายไปเองใน 7-10 วัน แต่บางอาการอาจอยู่ได้นานถึง 3 สัปดาห์
การป้องกันหวัดสามารถทำได้โดยการดื่มน้ำผลไม้ หรือทานผลไม้ที่มีวิตามินซีเยอะๆ เช่น ส้ม ส้มโอ ฝรั่ง แอปเปิ้ล กีวี ลิ้นจี่ มะละกอ สตรอเบอรี่ เงาะ เป็นต้น
การรักษาเมื่อลูกเป็นหวัด ไม่จำเป็นต้องใช้ยา เพียงดื่มน้ำเยอะๆ กลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่น รวมทั้ง ทำร่างกายให้อบอุ่น และนอนพักผ่อน
หากคัดจมูก น้ำมูกไหล ใช้วิคส์ ทาที่หน้าอกและคอ เพื่อให้หายใจโล่งขึ้น รวมถึงการใช้น้ำเกลือล้างจมูก หรือใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกออก
บทความแนะนำ เผยเกร็ด เคล็ดลับ ล้างจมูก ลูก Happy (มีคลิป)
หากเป็นไข้ อุณหภูมิที่จัดว่ามีไข้เริ่มที่ 37.5 องศาเซลเซียสควรเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น หรือน้ำประปาจากก๊อก และทานยาลดไข้ paracetamol สำหรับเด็ก ไม่ควรใส่เสื้อผ้าหนา ยกเว้นเมื่อลูกมีอาการหนาวสั่น ควรใส่เสื้อผ้าที่มีความอบอุ่นเพียงพอ แต่ไม่หนาเกินไป
ในเด็กอายุน้อยกว่า 1 เดือน ไม่จำเป็นต้องให้ยาลดไข้ ให้ใช้การเช็ดตัวอย่างเดียว
2.ไอ
การไอ เป็นกลไกของร่างกายที่ใช้กำจัดของสิ่งแปลกปลอมออกจากทางเดินหายใจ วิธีรักษาอาการไอที่ดีที่สุดควรรักษาที่ต้นเหตุของการไอ ไม่ใช่การกินยาให้หยุดไอ เพราะการไอจะช่วยขับเอาเสมหะ และฝุ่นละอองที่สูดหายใจเข้าไปออกจากปอด หลอดลม และหลอดคอ
หากลูกไอแบบมีเสมหะ ควรให้ลูกนอนหนุนหมอนให้ศีรษะสูงกว่าลำตัว หรือในลักษณะกึ่งนอนกึ่งนั่ง เพื่อช่วยให้การหายใจคล่องขึ้น เมื่ออาการดีขึ้นแล้วจึงค่อยนอนราบตามปกติ และจิบน้ำมะนาวอุ่นๆ ช่วยบรรเทาอาการ โดยใช้น้ำมะนาวผสมน้ำอุ่นผสมเกลือเล็กน้อย หรือใช้น้ำมะนาวผสมน้ำผึ้งจิบแก้ไอ
หากลูกไอแบบแห้งไม่มีเสมหะ แนะนำให้ใช้สับปะรด คั้นเอาน้ำผสมเกลือเล็กน้อยจิบ หรือทานทั้งผลก็ได้ สับปะรดมีรสเปรี้ยวอมหวาน ช่วยให้ชุ่มคอ หรือทาวิคส์ที่ฝ่าเท้าแล้วสวมถุงเท้านอนช่วยบรรเทาอาการไอแห้งตอนกลางคืนได้
บทความแนะนำ ลูกไอมาก ทำไงดี?
อาการยอดฮิตอื่นๆ และวิธีรับมือเมื่อ ลูกป่วยครั้งแรก คลิกหน้าถัดไป
3.ท้องเสีย
อาการอุจจาระร่วงเฉียบพลัน หมายถึง การถ่ายอุจจาระอย่างน้อย 3 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายมีมูกหรือปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง หรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 1ครั้งใน 1 วัน
หากลูกท้องเสียในระยะเริ่มแรก ให้กินเกลือแร่โออาร์เอสทดแทนในแต่ละครั้งที่ถ่ายอุจจาระ โดยปริมาณที่เหมาะกับอายุ คือ
- อายุน้อยกว่า 2 ปี ให้ 2 ออนซ์
- อายุ 2-6 ปี ให้ 4 ออนซ์
- อายุมากกว่า 10 ปี ให้ 8 ออนซ์
เด็กที่กินนมแม่ ให้กินต่อไป ถ้าเด็กเริ่มทานอาหารแล้ว ให้กินโจ๊กหรือข้าวต้มใส่เนื้อไก่หรือเนื้อปลาลงไปด้วย เมื่ออาการดีขึ้นให้เพิ่มมื้ออาหารอีก 1 มื้อ
คุณแม่รู้ไหม? เด็กที่กินนมแม่มักจะไม่เป็นโรคอุจจาระร่วง เพราะในน้ำนมแม่มีสารที่ช่วยป้องการการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร นมแม่ดีอย่างนี้ คุณแม่ควรให้นมลูกให้นานที่สุดเลยนะคะ
อาการท้องเสียที่ควรพาลูกไปหาหมอ
- ถ่ายอุจจาระหลายครั้ง หรือมากกว่า 1 ครั้ง ทุก 2 ชั่วโมง
- ถ่ายอุจาระมีปริมาณมากเพียง 1 ครั้ง ในทารกช่วง 1 เดือนแรก
- กระหายน้ำ ชอบสะอึก ไม่ฉี่นานกว่า 6 ชั่วโมง
- อาเจียนบ่อย กินอาหารและน้ำไม่ได้ มีอาการซึม
- มีไข้สูงและถ่ายเป็นมูกเลือด
4.หูติดเชื้อ
หูติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุดคือ การติดเชื้อของหูชั้นนอก มักเกิดจากการแคะหู การมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหู หรือการมีขี้หูอุดตัน
การติดเชื้อของหูชั้นกลางและของหูชั้นในมักเกิดตามหลังการติดเชื้อในทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด หรือโรคไข้หวัดใหญ่ หรือเกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น จากโรคภูมิแพ้
เด็กทารกที่ไม่ได้กินนมแม่จะมีโอกาสเกิดหูติดเชื้อได้บ่อยกว่าเด็กที่กินนมแม่ เพราะขาดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่จะได้รับผ่านทางนมแม่
บทความแนะนำ เด็กที่กินนมแม่นานไอคิวดีกว่า
อาการแรกของการติดเชื้อที่หูคือ อาการปวดหู ต่อมาคือ มีการสูญเสียการได้ยิน มีหนอง หรือน้ำ/ของเหลวใสๆ ไหลจากหู ในเด็กเล็กอาจมีไข้สูง ร้องกวน ใช้มือดึงใบหู
หากลูกมีอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์ด้านหู คอ จมูก เพื่อตรวจวินิจฉัยว่า การติดเชื้อว่าอยู่ในหูชั้นใด
หูติดเชื้ออาจเป็นสาเหตุให้การได้ยินลดลง ส่งผลให้เด็กพูดได้ช้า นอกจากนั้น หากรักษาล่าช้า หรือเชื้อดื้อยา การติดเชื้ออาจลุกลามเข้าสู่สมองทำให้ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบเป็นหนอง ซึ่งอาจรุนแรงจนเสียชีวิตได้
5.ท้องผูก
เด็กทารกไม่จำเป็นต้องถ่ายอุจจาระทุกวัน ถ้าไม่มีอาการอื่นผิดปกติคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรกังวล สำหรับเด็กนมแม่ล้วนอาจไม่ถ่ายนาน 2-3 สัปดาห์ ก็ยังถือว่าปกติ หากถ่ายไม่แข็ง หรือแข็งแค่ส่วนต้น
แต่หากลูกน้อยเบ่งหน้าดำหน้าแดง ถ่ายแข็งจนเจ็บก้น หรือมีเลือดออก อาการเช่นนี้จึงเรียกว่า ท้องผูก ควรให้ความช่วยเหลือดังนี้
หากลูกยังไม่เริ่มอาหารเสริม
- ให้คุณแม่พยายามทานผักผลไม้ที่ช่วยระบาย โดยเฉพาะมะละกอ ส้ม พรุน มะขาม
- ให้คุณแม่ดื่มน้ำเยอะๆ
- เน้นให้ลูกกินนมส่วนต้นซึ่งมีแลคโตสช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น
- นวดท้องลูก เพื่อช่วยให้ลูกถ่ายออกมาได้เร็วขึ้น
หากลูกทานอาหารได้แล้ว ให้กินน้ำผลไม้ผสมน้ำต้มสุกเจือจาง กินน้ำลูกพรุน ส้ม มะละกอ เป็นต้น
คำเตือน ไม่ควรสวนอุจจาระ เพราะการสวนอุจจาระเด็กเป็นการรบกวนกระบวนการทำงานของสำไส้ และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทั้งยังทำให้ลูกเคยตัว และไม่ยอมอึด้วยตัวเอง หากแก้ปัญหาไม่ได้ ควรพาลูกไปพบคุณหมอค่ะ
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.lokehoon.com, https://haamor.com/, สมุดบันทึกสุขภาพลูกน้อย โรงพยาบาลวิภาวดี
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
กันไว้ดีกว่าแก้!!!ใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก
ยาแก้แพ้ vs ยาลดน้ำมูก เหมือนกันไหม?