วัคซีนป้องกันวัณโรคหรือวัคซีนบีซีจี
ภายใน 2-3 สัปดาห์หลังฉีดคุณพ่อคุณแม่จะเห็นเป็นรอยนูนแดงขนาดประมาณ 5-15 มิลลิเมตรในตำแหน่งที่ฉีด จากนั้นจะเริ่มแตกออกเป็นแผล ต่อมาตรงกลางของรอยนูนแดงจะนุ่มลง ระยะนี้ใช้เวลา 3-4 สัปดาห์ ในสัปดาห์ที่ 6-10 จะเป็นแผลเป็นแบนๆ ขนาด3-7 มิลลิเมตร นอกจากนี้ต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงที่ฉีดวัคซีนบีซีจีอาจโตได้โดยเฉพาะที่บริเวณรักแร้มีขนาดเล็กเท่าเมล็ดถั่วเขียว
วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี
หลังฉีดลูกน้อยอาจมีอาการปวด บวมบริเวณที่ฉีดหรือมีไข้ต่ำๆ อาการมักเริ่มราว 3-4 ชั่วโมงหลังฉีดและเป็นไม่เกิน 24 ชั่วโมง
วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน
ปัจจุบันวัคซีนสำหรับป้องกัน 3 โรครวมนี้มีด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดที่วัคซีนไอกรนเป็นแบบปกติหรือเต็มเซลล์ซึ่งจะอยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข (EPI) กับชนิดที่วัคซีนไอกรนเป็นแบบไร้เซลล์ซึ่งจะอยู่นอกแผน EPI (คุณพ่อคุณแม่จึงต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง) โดยทั้ง 2 ชนิดนี้หลังฉีดอาจทำให้ลูกน้อยปวดบวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีดได้ และอาจมีไข้ อ่อนเพลีย ไม่สบาย ร้องกวน อาเจียน อาการทั้งหมดมักไม่รุนแรง อาการไข้ควรหายไปภายใน 2-3 วัน
นอกจากนี้ยังอาจมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงขึ้น แต่พบน้อย ได้แก่ ชัก ร้องไห้ไม่หยุด ตัวอ่อนปวกเปียก ไข้สูงจัด อย่างไรก็ตามวัคซีนรวมชนิดที่วัคซีนไอกรนเป็นแบบไร้เซลล์จะมีอาการข้างเคียงน้อยกว่าชนิดปกติ 2 – 3 เท่าแต่ราคาค่อนข้างสูง อาจจำเป็นต้องใช้ในกรณีที่ลูกน้อยมีโรคชัก โรคทางสมอง หรือมีปฏิกิริยาต่อการฉีดไอกรนชนิดธรรมดาอย่างมากเช่น ไข้สูง
วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ
ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคนี้มีอยู่ 2 ชนิดได้แก่ชนิดรับประทานและชนิดฉีด โดยวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด มักผสมมารวมกับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนให้เป็นเข็มเดียวกัน ซึ่งอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังได้รับวัคซีนชนิดรับประทานมีน้อยมาก เด็กมักไม่มีไข้ อย่างไรก็ตามจากการที่ไวรัสสายพันธุ์ชนิดที่ 2 (Virus vaccine type 2, Sabin strain) ที่เป็นส่วนประกอบในวัคซีนชนิดรับประทานอาจทำให้เกิดอาการของโปลิโอได้
น.พ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขจึงแจ้งว่า สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขจะนำวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดมาใช้ในเด็กไทย 1 เข็มเมื่ออายุ 4 เดือน เสริมจากที่ได้รับวัคซีนโปลิโอชนิดกินอยู่แล้ว 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, 18 เดือน และ 4 ปีตามลำดับ โดยจะเริ่มให้วัคซีนชนิดฉีดเสริมในวันที่ 1 ธ.ค.58 เป็นต้นไป และในเดือนเมษายน 2559 ประเทศไทยจะเปลี่ยนจากการใช้วัคซีนโปลิโอรูปแบบกินรวมไวรัส 3 ชนิดเป็นวัคซีนโปลิโอรูปแบบกินรวมไวรัส 2 ชนิดแทน ซึ่งวัคซีนชนิดฉีดอาจมีอาการเจ็บปวดเฉพาะที่เล็กน้อยไม่มีปฏิกิริยารุนแรงต่อร่างกาย อาการสามารถทุเลาเองได้ อาการข้างเคียงส่วนใหญ่มักเกิดจากวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ที่ฉีดร่วมกัน
วัคซีนป้องกันโรค หัด-คางทูม-หัดเยอรมัน
หลังฉีดลูกน้อยอาจมีอาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีดได้ หลังรับวัคซีน 6-12 วัน อาจมีไข้ ผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งอาการมักไม่รุนแรง และหายได้เองภายใน 2 – 3 วัน อาการปวดข้อพบบ่อยในผู้ใหญ่และหายได้เองใน 1-3 สัปดาห์ค่ะ
วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี
ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคนี้มีอยู่ 2 ชนิดได้แก่ชนิดเชื้อตาย (Killed JE vaccine) และชนิดเชื้อเป็น (Live JE vaccine ) ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้หลังฉีดลูกน้อยอาจพบอาการปวดบวมบริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งมักหายได้เองในเวลา 2-3 วัน นอกจากนั้นอาจมีอาการไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ไม่สบาย อย่างไรก็ตามสำหรับวัคซีนชนิดเชื้อตายกรณีจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นไม่ควรให้วัคซีนเพิ่มเกิน 2 ครั้ง (รวม 5 ครั้ง) หากฉีดมากครั้งเกินไปอาจเกิดอาการข้างเคียงระยะยาวทางสมองได้
วัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อฮิบ
อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนพบได้เล็กน้อย โดยลูกน้อยอาจมีอาการ เช่น ปวด บวม แดงและร้อนบริเวณที่ฉีด นอกจากนี้อาจพบไข้สูง ผื่น และอาการหงุดหงิดได้บ้าง แต่พบไม่บ่อย วัคซีนนี้เมื่อฉีดพร้อมกับวัคซีนป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ไม่ได้ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเพิ่มขึ้น ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อฮิบ มีชนิดที่สามารถฉีดรวมกับวัคซีนป้องกันคอตีบ– บาดทะยัก–ไอกรน–โปลิโอ และวัคซีนป้องกันตับ อักเสบบีได้
วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ
อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนพบเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่ลูกน้อยจะมีอาการเฉพาะที่ในตำแหน่งที่ฉีดยา ซึ่งไม่รุนแรง อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น ไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย
วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส
อาการข้างเคียงของลูกน้อยหลังฉีดวัคซีนพบได้เล็กน้อย โดยลูกน้อยอาจมีปฏิกิริยาต่าง ๆ ได้เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด ไข้ต่ำ ๆ ตุ่มขึ้นหลังจากฉีด (ไม่เกิน 1 เดือน) อาการข้างเคียงรุนแรง เช่น ชักจากไข้ ซึ่งพบได้น้อยกว่าหนึ่งในพันราย
วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนพบได้เล็กน้อย โดยลูกน้อยอาจมีอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ ปวดเมื่อย มักจะเริ่มไม่นานหลังฉีด แล้วควรหายภายใน 1-2 วัน การแพ้ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตมีน้อยมาก ถ้าหากเกิดขึ้นจะปรากฏภายใน 2 -3 นาทีถึง 2- 3 ชั่วโมงหลังฉีด โดยอาจมีอาการหายใจไม่สะดวก เสียงแหบ หรือหายใจมีเสียงดังลมพิษ ซีดขาว อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หรือเวียนศีรษะ
วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกตหรือวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี
อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนพบได้เล็กน้อย โดยลูกน้อยอาจพบอาการข้างเคียงได้บ้าง หลังฉีดวัคซีนอาจมีอาการไข้ หงุดหงิด หรือซึมเล็กน้อย เบื่ออาหาร และปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีดได้บ้าง อาการเหล่านี้จะหายไปเองภายใน 1-2 วัน อาการอื่นๆ พบได้น้อยมาก
วัคซีนโรต้า
อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน ได้แก่ ลูกน้อยอาจมีอาการท้องร่วงหรืออาเจียนภายใน 7 วันหลังรับวัคซีนได้ แต่อาการจะมีเพียงเล็กน้อยและมีโอกาสพบน้อย ไม่พบทำให้เกิดอาการข้างเคียงรุนแรง
การดูแลรักษาอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน
โดยทั่วไปหลังฉีดวัคซีนหากลูกน้อยมีอาการปวด บวมบริเวณที่ฉีดให้คุณพ่อคุณแม่ประคบบริเวณนั้นด้วยผ้าเย็น หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ในขนาดที่เหมาะสม หากอาการข้างเคียงเป็นรุนแรง หรือเป็นมากควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที และบอกอาการให้แพทย์ทราบโดยละเอียด
อย่างไรก็ตามสำหรับวัคซีนป้องกันวัณโรคหรือวัคซีนบีซีจีนั้นคุณพ่อคุณแม่จะต้องพิถีพิถันเพิ่มขึ้นในการรักษาผิวหนังบริเวณที่ฉีดของลูกน้อยให้สะอาด โดยการใช้สำลีสะอาดชุบน้ำต้มสุกที่เย็น แล้วเช็ดผิวหนังรอบๆ บริเวณที่ฉีดแล้วซับน้ำให้แห้ง อย่าบ่งตุ่มหนอง แผลจากการฉีดวัคซีนบีซีจี จะมีอาการพุพอง เป็นๆ หายๆ ได้อยู่ 3-4 สัปดาห์ ไม่จำเป็นต้องใส่ยาหรือปิดแผลเพียงใช้สำลีสะอาดชุบน้ำเช็ดรอบแผลให้สะอาดก็พอแล้ว ถ้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงที่ฉีดอักเสบโตขึ้นและเป็นฝีให้ปรึกษาแพทย์ค่ะ
ที่มา : สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
อัพเดทวัคซีนป้องกันโรคฮิตช่วงปลายฝนต้นหนาวปีนี้
ตารางวัคซีน และการเลือกวัคซีนรวมให้ลูกเจ็บตัวน้อยลง