ในปัจจุบันมิจฉาชีพมักจะสรรหากลโกงทุกรูปแบบมาใช้ในการหลอกเอาเงินผู้บริสุทธิ์ โดยมักมีกลอุบายที่ใช้ในการหลอกลวงได้อย่างแนบเนียน อย่างล่าสุด ทางเพจ Drama-addict ได้ออกมาโพสต์เตือนเกี่ยวกับมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบ เพจมิจฉาชีพ อ้างตัวเป็นโมเดลลิ่งเด็ก หลอกลวงพ่อแม่พาลูกถ่ายแบบ! โดยมีเนื้อหาดังนี้
“อันนี้คือเพจมิจ มาในรูปแบบเพจอ้างตัวเป็นโมเดลลิ่งเด็ก ชักชวนพ่อแม่พาลูกไปสมัครงานถ่ายแบบ
ถ้าใครหลงเชื่อ ทักไปคุยกับมัน มันจะชวนไปทำภารกิจ บลาๆ ให้มันแล้วต้องจ่ายเงินเพื่อให้เอาลูกไปร่วมถ่ายแบบกับพวกมันได้
จุดสังเกต เพจพวกนี้เปลี่ยนชื่อบ่อย
และแอดมินอยู่ประเทศสารพัดเลย กัมพูชา อินเดีย บังคลาเทศ ปาปัวนิวกินี พม่า จาไมก้า เอธิโทเปีย บลาๆ
https://www.facebook.com/Castingthailand2025”
ขอบคุณที่มาจาก : เพจ Drama-addict
โดยตอนท้ายของเนื้อหา ยังได้มีการระบุเพจมิจฉาชีพดังกล่าวไว้อีกด้วย
รู้ทัน วิธีการหลอกเหยื่อของเพจมิจฉาชีพ
โดยมิจฉาชีพจะสร้างเพจเฟสบุ๊คปลอม อ้างตัวเป็นโมเดลลิ่งเด็ก มักใช้ชื่อคล้ายกับโมเดลลิ่งที่มีชื่อเสียง จากนั้นจึงจะหาเหยื่อ ด้วยการโพสต์ข้อความเชิญชวนเด็กมาสมัครงานถ่ายแบบ โดยเสนอค่าตอบแทนที่สูง และเมื่อมีผู้ปกครองสนใจ มิจฉาชีพจะติดต่อผ่านข้อความส่วนตัว โดยจะหลอกให้ผู้ปกครองและเด็กทำภารกิจต่าง ๆ เช่น กดไลก์ กดแชร์ หรือสมัครสมาชิกเพจต่าง ๆ ซึ่งเมื่อเหยื่อทำภารกิจเสร็จ มิจฉาชีพจะเรียกร้องเงินค่าธรรมเนียม บอกว่าจำเป็นต้องจ่ายเพื่อให้เด็กได้ร่วมถ่ายแบบ เมื่อเหยื่อโอนเงินแล้ว มิจฉาชีพจะทำการบล็อกเฟสบุ๊คและทำให้ติดต่อไม่ได้ ทำให้เหยื่อสูญเสียทั้งเงินและข้อมูลส่วนตัว
จุดสังเกตเพจมิจฉาชีพ
- เปลี่ยนชื่อเพจบ่อย
- ไม่มีข้อมูลบริษัทหรือข้อมูลติดต่อที่ชัดเจน ควรตรวจสอบว่าเพจมีข้อมูลบริษัทที่ชัดเจน เช่น ชื่อบริษัท ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เว็บไซต์ หรือข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทหรือไม่
- แอดมินเพจอยู่ต่างประเทศ เช่น กัมพูชา อินเดีย บังคลาเทศ ปาปัวนิวกินี พม่า จาไมก้า เอธิโอเปีย
- รูปภาพและข้อมูลดูไม่น่าเชื่อถือ รูปภาพที่ใช้ดูไม่คมชัด แต่งภาพเกินจริง หรือเป็นภาพเก่าๆ ข้อมูลที่เขียนดูไม่น่าเชื่อถือ เต็มไปด้วยคำโฆษณาเกินจริง
- ข้อความในเพจใช้ภาษาที่ไม่เป็นทางการ เต็มไปด้วยคำสรรพนามไม่สุภาพ
- ขอให้โอนเงินก่อน โมเดลลิ่งที่ถูกต้องจะไม่เรียกร้องเงินค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ล่วงหน้า
- รีวิวปลอม ระวังรีวิวที่ดูเหมือนเขียนโดยมืออาชีพ หรือเป็นการคัดลอกจากที่อื่น
วิธีป้องกันตัวจากเพจมิจฉาชีพ
- ตรวจสอบข้อมูลของเพจโมเดลลิ่งอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจ
- อย่าหลงเชื่อ กับคำเสนอที่ดูดีเกินจริง
- อย่าโอนเงินให้เพจเด็ดขาด
- รายงานเพจปลอมโดยตรงไปที่เฟสบุ๊ค โดยการเลือก “Stop Child Exploitation” หรือ แจ้งความ กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
หากถูกหลอก ควรทำอย่างไร ?
หากพบว่าถูกมิจฉาชีพหลอก ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
1. รวบรวมหลักฐาน
- แคปหน้าจอเพจเฟสบุ๊คปลอม
- ข้อความสนทนา
- หลักฐานการโอนเงิน (ถ้ามี)
2. แจ้งความ
- ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่
- แจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ https://thaipoliceonline.go.th/
- เตรียมหลักฐานตามข้อ 1 ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่
3. แจ้งเฟสบุ๊ค
- ไปที่ https://www.facebook.com/help/355811251195044
- เลือก “ฉันคิดว่าเพจนี้ปลอมตัวเป็นบุคคลหรือธุรกิจที่ฉันรู้จัก”
- ทำตามขั้นตอนเพื่อแจ้งรายละเอียด
สุดท้ายนี้ อยากขอฝากถึงผู้ปกครองทุกท่าน โปรดใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลบนโลกออนไลน์ อย่าหลงเชื่อคำพูดที่หวานหู และหมั่นสอนลูกหลานให้รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ เพื่อร่วมกันป้องกันมิจฉาชีพ เพื่อให้เด็ก ๆ ของเราปลอดภัย ทั้งนี้ทางผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะระบุตัวเพจหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยวัตถุประสงค์ของบทความนี้คือเพื่อเตือนภัยและให้ความรู้แก่ผู้อ่าน
ที่มา : js100.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อยากให้ลูกเป็นดารา มีวิธีฝึกลูกอย่างไรบ้างให้ไปถึงฝั่งฝัน
ลูกน้อยชอบร้องเพลง อยากเป็นนักร้อง ทำอย่างไรให้ความฝันลูกเป็นจริง