หมอเด็กแนะนำให้ผู้ปกครองพาเด็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 12 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หลังมีรายงาน เด็กติดโควิด เพิ่มมากขึ้น และยิ่งน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะโควิด สายพันธุ์โอไมครอน ที่ติดเชื้อได้ง่าย และส่วนใหญ่จะติดจากคนในครอบครัว และอาจจะติดเพิ่มมากขึ้นในช่วงเปิดเทอมที่กำลังจะมาถึง
เด็กติดโควิด เพิ่มขึ้น แพทย์แนะนำให้เร่งฉีดวัคซีน
นพ.เจริญ เดโชธนวัฒน์ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ กล่าวว่าในสถานการณ์การระบาด ของโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดมากขึ้นในช่วงนี้ อยากแนะนำให้ผู้ปกครองเร่งพาลูกหลานที่อายุต่ำกว่า 12 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เนื่องจากโควิด สายพันธุ์โอไมครอน ที่กำลังระบาดอยู่ตอนนี้ ติดง่าย และหลังจากหายแล้ว ยังต้องระวังอาการหลังจากหายป่วยอีกด้วย โดยโรงพยาบาลจุฬารัตน์ทั้ง 14 แห่ง ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์เพื่อรองรับและดูแลผู้ป่วยอย่างสุดกำลัง
ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทยในขณะนี้ พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2565 มีเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 13,600 ราย โดยแบ่งเป็น
- เด็กอายุ 0-2 ปี 4,448 ราย
- เด็กอายุ 3-4 ปี 3,212 ราย
- เด็กอายุ 12-17 ปี 12,126 ราย
โดยเด็กที่อายุ 0-4 ปี และ 5-9 ปี มักจะได้รับเชื้อจากคนในครอบครัว ในขณะที่ เด็กโตวัย 10-14 ปีและ 15-19 ปี จะได้รับเชื้อจากนอกบ้าน เด็กที่ควรระมัดระวังตัวเองมากขึ้นคือเด็กวัย 6-12 ปี เพราะสายพันธุ์โอไมครอนที่ติดได้ง่าย จึงอาจจะระบาดมากขึ้นจากทั้งคนในครอบครัว และจากสถานศึกษาที่เปิดเรียนแล้ว นอกจากนี้ยังมีเด็ก ๆ อีกหลายคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ทำให้เกิดการระบาดมากขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะเด็กวัย 5-11 ปี
เด็กติดโควิด อาการไม่รุนแรง
เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนมากอาการไม่รุนแรง ส่วนกลุ่มที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ เด็กเล็กอายุไม่เกิน 1 ปี เด็กที่มีโรคประจำตัว ณ ตอนนี้ทางโรงพยาบาลในเครือจุฬารัตน์ มีผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเหลืองและสีแดงประมาณ 200 ราย
เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 บางรายหลังจากหายแล้วประมาณ 2 เดือน อาจมีอาการ Multisystem inflammatory syndrome in children (MIS-C) จะมีอาการดังนี้ มีไข้สูง ผื่นขึ้นตามตัว ตาแดง ปากแดง มีอาการช็อก ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาโดยแพทย์อย่างถูกต้อง
การดูแลและป้องกันเด็ก ๆ จากโรคโควิด-19 ผู้ปกครองไม่ควรพาเด็กเล็กออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น หรือหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์บ่อย ๆ ไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้า เลี่ยงการสัมผัสวัตถุต่าง ๆ ในที่สาธารณะ สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ยกเว้นเด็กแรกเกิด – เด็กอายุไม่ถึง 2 ขวบ เพราะระบบการหายใจยังไม่แข็งแรงพอ และที่สำคัญควรพาบุตรหลานที่อายุ 5 ปี ขึ้นไป เข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) เพื่อป้องกันอาการป่วยหนัก และยังช่วยลดการเกิดภาวะ MIS-C อีกด้วย เพราะถึงแม้เด็ก ๆ ที่ติดเชื้อจะอาการไม่รุนแรง อัตราการเสียชีวิตต่ำ แต่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
สาวน้อย ดีไซเนอร์ ชาวไทย เริ่มทำแบรนด์เสื้อผ้าตั้งแต่วัยเพียง 7 ขวบ
ช็อก ! ยายปล่อยหลานให้ออกไปเล่น แต่พอกลับมาต้องคิดหนักจะตีดีไหม
สุดเศร้า! โรนัลโด ดาวเตะซูเปอร์สตาร์ สูญเสียลูกแฝดเพศชาย
ที่มา : linetoday