อันตรายที่ควรคิดถึงเมื่อต้อง ห่อตัวทารกแรกเกิด ห่อตัวให้ลูกหลับไม่ใช่ให้เกิดโรคไหลตายในทารก!

การ ห่อตัวทารกแรกเกิด จะเป็นการช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย ลดความกลัวลงได้ เป็นอีกหนึ่งวิธีสำหรับการช่วยปลอบโยนทารก ไม่ทำให้ลูกน้อยร้องไห้โยเยบ่อยครั้ง

ในขณะที่ลูกน้อยลอยตัวอยู่ในท้องของคุณแม่ที่มีอุณหภูมิเหมาะสม และได้รับการปกป้องอย่างดีตลอดระยะเวลา 9 เดือน หลังจากที่เจ้าตัวน้อยได้ออกมาลืมตาดูโลกใบใหม่ โลกที่ยังต้องทำความคุ้นเคย การ ห่อตัวทารกแรกเกิด จะช่วยลดความกลัว ความหวาดระแวง และรู้สึกไม่ปลอดภัยลงได้

แต่จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Pediatrics ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 ด้วยวิธีการวิเคราะห์อภิมาน พบว่า การห่อตัวทารกอาจไม่ใช่วิธีที่ปลอดภัยสำหรับทารกอีกต่อไป เพราะอาจมีความเสี่ยงกับโรคไหลตายในทารกได้!!

ห่อตัวทารกแรกเกิด ห่อตัวให้ลูกหลับไม่ใช่ให้เกิดโรคไหลตายในทารก!

ความสำคัญของการห่อตัวทารกแรกเกิดนั้น เป็นการช่วยให้ลูกน้อยปรับตัวให้เคยชินกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง การห่อตัวโดยให้แขนขาของลูกน้อยได้แน่นกระชับกับลำตัว เสมือนกว่ากำลังนอนคดคู้อยู่ในท้องแม่ ทำให้ลดอาการสะดุ้งจากเสียงดังที่ต้องเจอหลังออกมาจากท้องแม่ และเพื่อรักษาความอบอุ่นในอุณหภูมิที่ยังคงคล้าย ๆ อยู่ในครรภ์ ไม่ให้ลูกรู้สึกหนาว ทำให้เด็กแรกเกิดนอนหลับได้นานขึ้นในระยะแรกเกิดถึง 1 เดือน

แม้ว่าการห่อตัวทารกจะช่วยให้ลูกนอนหลับได้ดีและยาวนาน แต่การห่อตัวนั้นกลับมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไหลตายในทารกได้ โดยอาจเกิดจากสาเหตุที่สามารถอธิบายได้คือ เมื่อทารกเริ่มพลิกตัวคว่ำนอนในขณะที่ห่อตัวอยู่นั้น อาจทำให้ขาดอากาศหายใจเนื่องจากการคว่ำหน้าลงบนวัสดุรองนอนและทารกไม่สามารถช่วยตัวเองเพื่อผลิกตัวกลับมานอนหงายเองได้เนื่องจากถูกห่อตัวไว้

นอกจากนี้การศึกษาในต่างประเทศพบว่า ทารกที่ได้รับการห่อตัวในขณะหลับจะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงกว่าทารกที่ไม่ได้รับการห่อตัวหากถูกกระตุ้นด้วยเสียงดัง ถ้าหากทารกมีความบกพร่องในการควบคุมการทำงานของหัวใจ และไม่สามารถปลุกให้ตื่นจากการนอนหลับ อาจนำไปสู่การลดการตอบสนองของหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด อันเป็นกลไกหลักที่ก่อให้เกิดโรคไหลตายในทารก หรือ sudden infant death syndrome (SIDS)

นอกเหนือจากภาวะเสี่ยงต่อโรคไหลตายในทารกแล้ว การห่อตัวทารกอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเจริญพัฒนาของสะโพกที่ผิดปกติ อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน ปอดบวม หรืออาจเกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบนด้วย

ห่อตัวทารกแรกเกิดอย่างไร เพื่อความปลอดภัยในการนอนของเจ้าตัวน้อยทั้งกลางวันและกลางคืน >>

จะห่อตัวทารกอย่างไร เพื่อความปลอดภัยในการนอนของทารกในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน

  • ให้ทารกได้นอนในท่าหงาย คอยตื่นมาดูลูกเป็นระยะเพื่อดูว่าเจ้าตัวน้อยไม่ผลิกตัวนอนคว่ำหรือนอนตะแคงข้างในขณะที่กำลังหลับ
  • เช็กดูผ้าห่อตัวทารกไม่ให้หลุดหรือหลวม ๆ เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้อุดปากหรือจมูก ทำให้ลูกน้อยหายใจไม่ออก เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตจากการขาดอากาศได้
  • เบาะนอนของทารกนั้นไม่ควรนิ่มจนบุ๋มลงเป็นแอ่ง และไม่วางของเล่น หมอนหนุน หมอนข้าง ไว้ข้างตัวทารกเพื่อลดความอุบัติเหตุจากการนอนทับหรือเรื่องที่ไม่คาดคิด
  • การห่อตัวอาจทำให้อุณหภูมิร่างกายของทารกสูงกว่าปกติ ดังนั้นควรเลือกใช้ผ้าห่อตัวให้เหมาะสมกับสภาวะอากาศภายในห้อวนอน และควรสังเกตร่างกายของลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ เช่น ลูกมีเหงื่อออกตามตัว ผมเปียกชื้น แก้มแดงกว่าปกติ มีผื่นขึ้นจากความร้อน หายใจเร็ว แสดงว่าร่างกายลูกร้อนกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม วงการแพทย์ก็ยังไม่ทราบถึงสาเหตุของการเกิดโรคไหลตายหรือ SIDS อย่างแน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่า ทารกน้อยจะหยุดหายใจในขณะหลับ และไม่สามารถตื่นขึ้นมาหายใจได้อีก ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่เกิดได้อีกหลายปัจจัย เช่น พัฒนาการที่ผิดปกติของทารก ความเครียดจากปัจจัยภายในและภายนอกร่างกาย เช่น การให้ทารกนอนคว่ำอยู่ในสภาพอาการที่ร้อน ได้รับควันบุหรี่ ขาดอาการหายใจจากการกดทับขณะนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ เป็นต้น

สำหรับการห่อตัวทารกนั้น แม้ว่าอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคไหลตายในทารก แต่ก็เป็นเพียงความคาดเดาเท่านั้น การห่อตัว ยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการปรับทารกเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่หลังการคลอด แม้ว่าจะมีระยะเวลาการห่อตัวที่ไม่กำหนดแน่นอน แต่หลัง 1 เดือนหากทารกเริ่มพลิกกลับตัวได้เอง คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถพิจารณาในการเลิกห่อตัวเบบี๋ได้ เพื่อลดจากภาวะความเสี่ยงจากอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับทารกหรือทำตามข้อแนะนำเบื้องต้น เพื่อความไม่กังวลใจอีกต่อไปนะคะ


ที่มา : www.pharmacy.mahidol.ac.th

บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ :

วิธีห่อตัวทารกแรกเกิด เตรียมพร้อมสำหรับแม่มือใหม่ ชมคลิป

ดูแลลูกน้อยหลังคลอด คู่มือที่จะช่วยให้คุณแม่เอาตัวรอดในสัปดาห์แรก

บทความโดย

Napatsakorn .R