น้ำตาล: ภัยร้ายใกล้ตัวลูก
น้ำตาลไม่ดีต่อร่างกายจริงหรือ?
ขนมหวานนิดหน่อยอาจดูไร้พิษภัยสำหรับเด็ก แต่รู้หรือไม่ว่าในความเป็นจริงมีอาหารมากมายที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม และทำให้เด็กติดนิสัยกินหวาน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในฐานะผู้ปกครอง เราควรจัดการกับปัญหานี้อย่างไร?
น้ำตาล: หวานเป็นลม
อย่าบอกลูกแค่เพียงว่า “น้ำตาลไม่ดีต่อร่างกาย” แต่ลองพยายามอธิบายให้เขาฟังว่าการบริโภคน้ำตาลมากเกินไปจะเป็นผลเสียต่อร่างกายอย่างไร ดังต่อไปนี้:
ไขมันพอก: อาหารที่อุดมไปด้วยน้ำตาลมักเป็นอาหารที่มีแคลอรีสูงแต่ไม่มีประโยชน์ทางโภชนาการ ซึ่งจะทำให้เรากินของหวาน ๆ มากเกินไป ไม่ใช่เพราะของหวานนั้นอร่อยเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะของหวานมักไม่ทำให้เรารู้สึกอิ่ม เราจึงสามารถกินเข้าไปได้เรื่อย ๆ และแน่นอนว่าทุกแคลอรีที่เรากินเข้าไปจะถูกสะสมไว้ในรูปของไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
บทความใกล้เคียง: 20 อาหารแคลอรี่ต่ำ
เสี่ยงเป็นเบาหวาน: น้ำตาลไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน แต่การบริโภคของหวานมากเกินไปจะทำให้เกิดไขมันสะสมมากขึ้น และไขมันเหล่านี้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ระบบอินซูลินในร่างกายผิดปกติและโรคเบาหวาน
ต้นเหตุโรคหลอดเลือดหัวใจ: การบริโภคน้ำตาล (และคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว) มากเกินไปจะทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหัวใจสูงขึ้น
ขาดสารอาหาร: เด็กที่ได้รับแคลอรีจากน้ำตาลมากเกินไปมักจะไม่ได้ค่อยรับสารอาหารที่จำเป็นอื่น ๆ อย่างวิตามิน เกลือแร่ และสารต้านอนุมูลอิสระจากอาหารที่มีประโยชน์อื่น ๆ อย่างเพียงพอ ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะขาดสารอาหารและพัฒนาการที่ช้าลง
ฟันผุ: อย่าลืมให้ลูกแปรงฟันทุกครั้งหลังกินของหวาน เพราะน้ำตาลเป็นอาหารของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฟันผุ
น้ำตาลทำให้เด็กไฮเปอร์ จริงหรือ? อ่านหน้าถัดไป >>>
น้ำตาลทำให้เด็ก “อยู่ไม่สุข” จริงหรือ?
แม้ว่าจะไม่มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าการบริโภคน้ำตาลจะทำให้เด็กเป็นไฮเปอร์โดยตรง แต่ร่างกายของเด็กแต่ละคนมีการตอบสนองต่อระดับน้ำตาลแตกต่างกัน จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เรามักเห็นเด็กจดจ่อกับกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดีกว่าเมื่อลดการบริโภคน้ำตาลลง
อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่าง:
1. การกินอาหารเช้าที่มีน้ำตาลมากเกินไปและช่วงสมาธิที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
2. การดื่มน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลในปริมาณมากและความเครียด ภาวะไฮเปอร์ และปัญหาอื่น ๆ ในวัยรุ่น
3. วัตถุแต่งสีกลิ่นรส เช่น ทาร์ทราซีน, Red 3 และ 40, Blue 1 และ 2, Green 3, Orange B และเบนโซเอท ซึ่งมักพบในอาหารที่มีน้ำตาลสูง กับปัญหาด้านพฤติกรรม
เราเสพติดน้ำตาลได้หรือไม่?
น้ำตาลสามารถกระตุ้นให้สมองเกิดอาการเสพติดได้ ผลการสแกนสมองแสดงให้เห็นว่าร่างกายจะหลั่งสารโดพามีนและโอปิออยด์เมื่อมีการบริโภคน้ำตาล ในกรณีของคนที่ร่างกายไวต่อน้ำตาล อาจทำให้เกิดอาการ “ติดน้ำตาล” ได้
กินน้ำตาลเท่าไหร่ถึงเหมาะสม หน้าถัดไป>>>
กินหวานไปหรือเปล่า?
เรามีปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมสำหรับเด็กในแต่ละช่วงอายุมาแนะนำ
เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ: ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เติมน้ำตาล นี่จะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกของคุณติดกินหวาน
เด็กอายุ 2-8 ปี: ไม่ควรกินอาหารที่ใส่น้ำตาลมากกว่า 3 ช้อนชา
เด็กอายุ 8-18 ปี: ไม่ควรกินอาหารที่ใส่น้ำตาลมากกว่า 5-8 ช้อนชา
เคล็ดลับในการลดน้ำตาลสำหรับเด็ก
- ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวาน อย่างน้ำอัดลม น้ำเกลือแร่ หรือน้ำผลไม้ที่ผสมน้ำตาล
- ดื่มนมที่ไม่แต่งรส หรือน้ำผลไม้สด
- ให้เด็กกินธัญพืชใส่ผลไม้สด แทนซีเรียลที่อุดมไปด้วยน้ำตาลเป็นอาหารเช้า
- กินอาหารที่ปรุงสดใหม่ด้วยกันทั้งครอบครัว ให้ลูกได้ช่วยเตรียมอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพซึ่งไม่เติมน้ำตาล
- อ่านฉลากอาหารและหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาล หรือน้ำเชื่อมสูง
- จำกัดการบริโภคอาหารสำเร็จรูป เช่น ธัญพืชแท่ง คุ้กกี้ ขนมหวาน ลูกกวาด แยม น้ำเชื่อม และผลไม้กระป๋อง
- มีอาหารหวานตามธรรมชาติติดบ้านไว้ เช่น ผลไม้สด เด็ก ๆ จะได้กินแต่อาหารที่ดีต่อสุขภาพ
- อย่าใช้อาหารหรือขนมเป็นเครื่องล่อใจหรือรางวัล
หากคุณมีข้อสงสัยหรือปัญหาเกี่ยวกับอาหารการกินของลูก ลองปรึกษากุมารแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ