มีพฤติกรรมอะไรบ้างที่พ่อแม่เผลอทำโดยลืมที่จะคำนึงถึงความรู้สึกของลูก ส่งผลทำให้ ลูกเครียด จนบางครั้งต้องแอบไปนั่งร้องไห้ ลองสังเกตดูให้ดีนะคะ มีเรื่องอะไรบ้างที่ทำให้ลูกเปลี่ยนไป จากเด็กที่มีรอยยิ้มสดใส กลายเป็นเด็กที่เงียบ ๆ ชอบเก็บตัว พูดน้อยลง
เลี่ยงได้เลี่ยง! 5 เรื่องที่พ่อแม่ทำให้ ลูกเครียด จนร้องไห้
#1 ทะเลาะกันต่อหน้าลูก
เป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อใจลูกได้ชัดที่สุด ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะหลบไปทะเลาะกันในห้องส่วนตัว แต่เสียงทะเลาะที่ดังก็ยังคงเล็ดลอดออกจากประตูมาเข้าหูให้ลูกได้ยิน พฤติกรรมแบบนี้ถือเป็นความรุนแรงภายในบ้าน ที่อาจทำให้ลูกสะเทือนใจและร้องไห้เสียใจในสิ่งที่พวกเขาไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นเสียงดังระหว่างพ่อแม่ ดังนั้น ปัญหาหรือเรื่องขัดใจที่พวกคุณมีควรใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เจ้าตัวเล็กต้องมาเห็นพฤติกรรมนี้
#2 เปิดทีวีให้ลูกเห็นภาพข่าวอันเลวร้าย หดหู่ แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ฯลฯ
รายการทีวีที่มีเรื่องราวน่ากลัวนั้นสามารถส่งผลกระทบมากมายได้กับลูก ๆ ของคุณ เด็กเล็ก ที่ได้สัมผัสกับสื่อมากเกินไปนั้น นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาในหลาย ๆ ด้าน เช่น แนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและต่อต้าน เกิดความหวาดกลัวจากภาพที่ได้เห็น ส่งผลกระทบต่อจิตใจ จนไม่กล้าพูดออกมา และอาจทำให้เครียดจนร้องไห้ สิ่งที่พ่อแม่ควรเลี่ยงได้ในขณะที่ลูกอยู่ด้วยคือการไม่เปิดทีวี หรือหลีกเลี่ยงการดูข่าว ดูละครในด้านลบ เพื่อปกป้องจิตใจลูกน้อยที่ยังไม่มีประสบการณ์พอที่จะรับมือกับเรื่องแบบนี้ได้
#3 ทำโทษลูกด้วยความรุนแรง
การทำโทษด้วยการลงมือตี หรือวิธีอื่น ๆ ที่แสดงถึงความรุนแรงไม่ใช่หนทางที่ดีต่อการคิดว่าจะทำให้ลูกหลาบจำได้ ทุกครั้งที่พ่อ/แม่ ฟาดลงบนร่างกายที่บอบบางของลูก นอกจากทำให้พวกเขาเจ็บปวดทางกาย ยังสร้างรอยแผลในจิตใจ ที่ทำให้ลูกเสียใจ ร้องไห้ เก็บไปคิด มากกว่าจะนำมาปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือเลี่ยงวิธีลงโทษด้วยความรุนแรง ลงโทษลูกแบบไม่ให้บอบช้ำ ด้วยการใช้ถ้อยคำสุภาพชี้แจงเหตุผลในสิ่งที่ลูกทำผิด หรือใช้การลงโทษแบบ time in – time out เป็นต้น
#4 ใช้คำพูดหรือเรียกลูกด้วยถ้อยคำหยาบคาย
ไม่มีใครชอบให้ใครมาดูถูกหรือมาเรียกด้วยคำหยาบคาย เด็ก ๆ ก็เช่นกัน โดยเฉพาะถูกเรียกจากพ่อแม่ ซึ่งจะทำให้ลูกนั้นรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า เกิดเป็นปมด้อยในจิตใจ ส่งผลทำให้เกิดความเครียดจนร้องไห้ได้ และอาจกลายเป็นเก็บกดหรือในทางตรงกันข้ามก็คือการมีพฤติกรรมที่ต่อต้านก้าวร้าวขึ้นมา
#5 ผลจากการตัดสินใจหย่าร้างของพ่อแม่
เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำร้ายจิตใจลูกได้มากที่สุด ซึ่งการคิดว่าแยกทางเมื่อตอนลูกยังเด็กนั้นคงยังไม่รู้เรื่องอะไรเท่าไหร่ แต่ความจริงแล้วลูกมีความผูกพันกับทั้งพ่อและแม่ วันหนึ่งที่เขามองไม่เห็นพ่อแม่พร้อมหน้าพร้อมตา จะทำให้ลูกถามหา และโหยหาความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูกกลับมา ซึ่งปัญหานี้จะกลายเป็นปมในจิตใจของเด็ก นำมาซึ่งความเศร้าและความเครียด จนทำให้ลูกแอบร้องไห้ได้ในขณะที่พ่อแม่ไม่รู้
เพื่อให้เจ้าตัวเล็กรู้สึกปลอดภัย และเป็นเด็กสดใส มีเสียงหัวเราะ มีรอยยิ้ม มีความสุข และเป็นส่วนที่เติมเต็มความรู้สึกดี ๆ ให้แก่ครอบครัว ถ้าไม่อยากทำร้ายจิตใจลูกแบบไม่รู้ตัว คุณพ่อคุณแม่ควรเลี่ยงพฤติกรรมดังกล่าวที่จะเป็นผลกระทบต่อจิตใจลูก คอยสังเกตพฤติกรรมของลูก และคำนึงถึงใจลูกน้อยให้มากกว่าที่คิดกันนะคะ
ที่มา : www.kapook.com
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
เที่ยวนอกบ้าน “ทารกเครียด” ได้นะ เดินทางกับทารกยังไง ให้ไร้ความเครียด
แบบทดสอบภาวะเครียดระหว่างตั้งครรภ์ รู้ได้อย่างไรว่าตัวเองเครียด เช็กด่วน!!