ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นประธานเปิดงาน STOU MODULAR พร้อมได้กล่าวถึงแนวคิดและทิศทาง STOU MODULAR ว่า มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้มีการปฏิรูปการเรียนการสอน ภายใต้ปณิธานหลัก“การให้โอกาสทางการศึกษากับทุกคน ด้วยระบบการศึกษาทางไกล” มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบการศึกษาทางไกล ให้ทันกับสถานการณ์เพื่อสนองตอบกับ
การเปลี่ยนแปลงโลก และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดและสอดคล้องกับการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 แบบ Distance Teaching และ Blended Learning และด้วยปณิธานของ มสธ. คือการเป็นมหาวิทยาลัยเปิด ที่เปิดโอกาสทางการศึกษาให้บุคคลได้มีโอกาสได้ศึกษาทุกช่วงวัยและเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองด้วยวิธีเรียนทางไกล หรือด้วยระบบออนไลน์ ตามอัธยาศัยสนองตอบความต้องการผู้เรียนในมิติต่าง ๆ ให้เหมาะกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับความต้องการของผู้เรียนมหาวิทยาลัยได้พัฒนาแบบจำลองระบบการศึกษาทางไกล มสธ. 2561 ในระดับต่ำกว่าปริญญา (Non-degree Programs) โดยจัดแนวทางจัดการศึกษาในระบบโมดูลการสอน (Modular Approach) เพื่อพัฒนาสมรรถนะในการทำงาน และยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น และเป็นการศึกษาด้วยตนเองตามอัธยาศัย”
รองศาสตราจารย์ ดร.ปราณี สังขะตะวรรธน์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า
“STOU MODULAR เป็นแนวทางการเรียนการสอนตามแบบนิวนอร์มอล โดยยึดวิสัยทัศน์ มสธ. 20 ปี“เป็นมหาวิทยาลัยเปิดชั้นนำของโลกที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาทางไกล เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิตสำหรับทุกคน” ด้วยการพัฒนาเนื้อหา (Content) ให้มีคุณภาพสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อการสร้างทักษะใหม่ (Re-Skill) การพัฒนาทักษะเพิ่มเติม (Up-Skill) และการพัฒนาทักษะใหม่ (New-Skill) เพื่อตอบสนองการเรียนรู้ตามความต้องการของบุคคล หรือหน่วยงาน สามารถศึกษาได้ทั้งผู้ที่อยู่ในวัยเรียน วัยทำงาน ผู้สูงอายุ ผู้ขาดโอกาสที่ต้องการความรู้และประสบการณ์ เพื่อนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อตนเอง สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน”
รองศาสตราจารย์ ดร.สมัครสมร ภักดีเทวา รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดการศึกษาในรูปแบบโมดูลการเรียน (Modular System) เป็นชุดการเรียนที่ออกแบบให้ผู้เรียน สามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง มีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนออนไลน์ และมีกิจกรรมร่วมเรียนรู้ มีจำนวนหน่วยกิต 1 – 3 หน่วยกิต โดยผู้เรียนสามารถออกแบบการเรียนด้วยตนเองที่สำคัญผู้เรียนสามารถเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ในระบบคลังหน่วยกิต (Credit Bank) เพื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยได้ นอกจากนี้เมื่อศึกษาครบหลักสูตรจะได้รับใบสรรถนะบัตร เป็นการรับรองความรู้ โดยในการเปิดตัวครั้งนี้มีจำนวน 2 รายวิชา คือ รายวิชา สีสันภาษาจีน ภาคคติความเชื่อและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ และรายวิชา การจัดการการขาย ความท้าทายที่ต้องใช้ศิลปะ สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 02 504 7720-1 หรือเว็บไซต์ modular.stou.ac.th และทาง Facebook ที่ @stoumodula
ภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ STOU MODULAR “เพิ่มขีดความสามารถ…สร้างโอกาสที่ดีกว่า” ดำเนินการเสวนาโดย คุณสุภนันท์ ฤทธิ์มนตรี ผู้ประกาศข่าว NBT2HD ทีมโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มสธ. โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เข้าร่วมเสวนา อาทิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุรี สุชนวนิช มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ผู้แต่งตำราภาษาจีน อาจารย์มนต์ชัย แซ่เตีย สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มสธ. กรรมการด้านเนื้อหารายวิชาสีสันภาษาจีน ภาคคติความเชื่อและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ โดยถ่ายทอดออกมาในแนวสารคดี เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกเพศ ทุกวัย คุณประวิทย์ จิตนราพงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด อาจารย์ปภาวัลย์ สุทธิประสิทธิ์ กรรมการด้านเนื้อหารายวิชาการจัดการการขาย ความท้าทายที่ต้องใช้ศิลปะ เป็นการนำผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพทางด้านการขาย ด้านการตลาด ด้านการสื่อสารแบรนด์ มาถ่ายทอดประสบการณ์ที่ผ่านมาเรียนรู้ข้อผิดพลาดพร้อมแนวทางแก้ไข และเส้นทางที่นำไปสู่ความสำเร็จ
นอกจากนี้ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญและอยู่เบื้องหลังของการออกแบบการเรียนการสอนผ่านสื่อในยุคดิจิทัลของ มสธ. และเป็นหน่วยงานที่ไม่เคยจะหยุดนิ่งและพัฒนาบุคลากรด้านสื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา และในครั้งนี้ เป็นอีกครั้งที่ ร่วมทำการพลิกโฉม รูปแบบการเรียนการสอน STOU MODULAR “เพิ่มขีดความสามารถ…สร้างโอกาสที่ดีกว่า” โดยนักออกแบบการเรียนการสอนรายวิชานำร่อง ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สมัครสมร ภักดีเทวา รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรรณ จรรยาวุฒิวรรณ์ อาจารย์ประจำสำนักเทคโนโลยีการศึกษา จะมาเล่าถึงเทคโนโลยีทางการศึกษากับการออกแบบการเรียนการสอนที่รองรับพฤติกรรมของผู้เรียนในยุคดิจิทัล การเข้าถึงการเรียนรู้ได้ที่รองรับได้หลากหลายแพลตฟอร์ม ทั้งในเรื่องของอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟน แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ให้ผู้เรียนได้สะดวกในการเรียนรู้ผ่านเว็บไซต์ของ modular.stou.ac.th ที่ปรับเหมาะให้รองรับการแสดงผลทุกอุปกรณ์ เป็นการเรียนรู้แบบ ubiquitous learning ที่ไม่ว่าใคร ที่ไหน เมื่อไร เวลาใดอุปกรณ์ใด ก็เข้าถึงการเรียนรู้ของ มสธ. ได้ ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงการเรียนรู้ของมสธ. แบบมีข้อจำกัดน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นวุฒิการศึกษา เพศ อายุ หรือภูมิลำเนา เป็นต้น มีการบูรณาการเทคโนโลยีสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านวิดีโอคลิป คลิปเสียง เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และทำกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ นอกจากนี้ยังมีสามารถเผชิญหน้ากับผู้สอนแบบออนไลน์เพื่อเติมเต็มประสบการณ์จากกิจกรรมเดี่ยวหรือกลุ่ม และสอบถามข้อสงสัยในการเรียนรู้ ตามวันเวลาที่นัดหมาย แม้ช่วงเวลาที่ไม่ได้พบกันก็ยังมีช่องทางให้พูดคุยสอบถามข้อสงสัย และผู้สอนจะเข้ามาตอบอยู่เป็นระยะ ซึ่งแน่นอนว่าผู้เรียนไม่ได้อยู่เพียงลำพังตลอดการเรียนรู้ในระบบของ STOU MODULAR และแม้ว่าจะเป็นระบบการศึกษาทางไกล แต่เทคโนโลยีทางการศึกษาจะช่วยให้เราใกล้กันมากขึ้น