2 กระทู้ที่น่าสนใจจากเว็บไซต์พันทิป ตอนเด็กๆ เคยโดนพ่อแม่ทำโทษแบบไหนที่คิดว่าโหดสุดๆ และ ตอนเด็กๆ พ่อแม่คุณบอกว่าเก็บคุณมาจากไหนบ้างอะ ต่างพูดถึงเรื่องราวฝังใจจากวัยเยาว์ เรื่องที่พ่อแม่พูดกันเล่นๆ อย่าง เก็บลูกมาจากไหน หรือการทำโทษลูก ที่ทำให้ฝังใจมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งคอมเมนท์ภายในกระทู้ ได้แบ่งปันประสบการณ์ที่เคยเจอ สิ่งที่พ่อแม่เคยบอก ซึ่งติดตรึงอยู่ในความทรงจำ แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมานานแค่ไหนก็ตาม
จากกระทู้ที่น่าสนใจทั้ง 2 กระทู้นั้น เพจสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย จึงได้โพสต์เกี่ยวกับเรื่องฝังใจจากวัยเยาว์ ไขคำตอบเอาไว้ว่า สมองของเรา มีโครงสร้างที่เรียกว่า อะมิกดาล่า (Amygdala) และฮิปโปแคมปัส (Hippocampus)
Amygdala เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ส่วน Hippocampus เกี่ยวข้องกับความจำ ทั้งสองส่วนนี้ทำงานสัมพันธ์กัน
Amygdala กระตุ้นให้ Hippocampus บันทึก (encode) และเก็บรวบรวม (consolidate) ความจำได้ดีขึ้น ความทรงจำที่มีอารมณ์ร่วมมากๆ จึงถูกเก็บไว้ได้อย่าง ‘แจ่มชัด’ และ ‘เนิ่นนาน’
ตัวอย่างเช่น ความกลัว ซึ่งเป็นอารมณ์สำคัญต่อการมีชีวิตรอดของสิ่งมีชีวิต หากเราจำได้ว่าอะไรอันตราย เราก็จะถอยห่างจากสิ่งนั้น ในการทดลอง ลิงที่ถูกตัด Amygdala ออกไป แม้ว่าจะเคยโดนงูกัดมาแล้ว ก็ยังเข้าไปจับงูอีก
เพราะสมองส่วนอารมณ์ทำงานประสานกับสมองส่วนความจำนี่เอง ที่ทำให้เรารู้จักหลบเลี่ยงอันตราย แต่…สมองก็ไม่สามารถที่จะ ‘เลือกบันทึก’ เฉพาะสิ่งที่น่าจำ หรือ สิ่งที่เราอยากจำได้ จึงมีหลาย ๆ เหตุการณ์ ที่ไม่รางเลือน แม้ว่า.. เราไม่เคยพยายามจำ ทั้งๆ ที่.. เวลาก็ผ่านไปนานมากแล้ว ตั้งแต่เราเป็นเด็ก.. ที่ทำได้แค่เพียงร้องไห้ จนกระทั่งเราเป็นผู้ใหญ่.. ที่เข้าใจอะไรๆ มากขึ้น
เวลาหมอได้ฟังเรื่องฝังใจจากวัยเยาว์ที่คนไข้เล่าทีไร จะนึกถึงภาพ ตุ๊กตาแม่ลูกดก ของรัสเซียทุกที ในใจของผู้ใหญ่ตรงหน้าหมอ มี ‘เด็กคนนั้นที่ยังเสียใจ’ อยู่ “แม่เอาแต่ด่าๆๆ แล้วก็ซื้อก๋วยเตี๋ยวมาให้ … ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากได้” คนไข้ยังจำได้ดี แม้ว่าตอนนี้จะเธอจะอายุสี่สิบกว่าแล้ว และยังเจ็บปวดเมื่อพูดถึงมัน
นอกจากนี้ เพจสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ยังบอกด้วยว่า จากข้อเท็จจริงและตัวอย่างข้างต้น เราจะนำไปประยุกต์ใช้อย่างไรได้บ้าง?
1.ระมัดระวังคำพูดและการกระทำต่อคนสำคัญ
คนที่เรารัก คนที่รักเรา รวมถึง คนสำคัญอย่าง เด็ก ๆ ผู้เป็น “อนาคต” เช่น
– ครู เมื่อเห็นว่านักเรียนทำคะแนนได้ไม่ดี … แทนที่จะพูดดูถูกเขาต่อหน้าเพื่อนๆ … ก็ควรหาสาเหตุและหาวิธีที่จะทำให้เขาเรียนรู้เรื่อง
– พ่อแม่ เมื่อหงุดหงิดโมโหลูก … แทนที่จะ ขู่ลูกว่าจะไม่รัก / หลอกว่าจริง ๆ แล้วไม่ใช่ลูกแท้ๆ / พูดเสียดสี ประชดประชัน / พูดเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น … ก็จัดการกับอารมณ์ของตัวพ่อแม่เองให้ได้ก่อน
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ หยดน้ำตา แต่…อยู่ที่ “ความรู้สึกว่าตัวเองดีพอและมีคุณค่า” (self esteem) ที่ถูกบั่นทอน ซึ่งมีส่วนกำหนด “ชีวิต” ของคนคนนั้น
2.ฝึกที่จะอยู่กับปัจจุบัน อย่างเป็นมิตรกับตัวเอง
ในเหตุการณ์ที่ทำให้เราเจ็บปวด “ความรู้สึก”ที่เกิดขึ้นมักบิดเบือน”ความคิด”ในขณะนั้น ทำให้เรามองสิ่งต่างๆแย่กว่าที่เป็นจริง รวมทั้ง “มุมมองที่มีต่อตัวเอง” เช่น เรามันแย่ ไม่มีใครต้องการ ขนาดพ่อแม่ยังทำแบบนี้
… และเราก็เชื่ออย่างนั้นมาโดยตลอดโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน
ความทรงจำ คือ การเลือกจำสิ่งที่เกิดขึ้นในวิธีของเรา บางอย่าง มันก็ไม่ใช่ ‘ความจริง’ คงไม่มีใครสามารถลบล้างความทรงจำได้ ไม่ว่าในแง่เรื่องราวหรือความรู้สึก เราคงต้องฝึกที่จะ “ก้าวออกมา” จากตรงนั้น เพื่อที่จะมองสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาที่ “เข้าใจ” มากขึ้นได้
ฝึกให้อภัย เพื่อให้อดีตมีผลกับเราน้อยลง..น้อยลง และ เป็นมิตรกับตัวเอง คนที่อยู่ในปัจจุบัน ให้มากขึ้น..มากขึ้น
ที่มา : หมอมีฟ้า เพจสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เตือนพ่อแม่ระวังโรคใหม่ของเด็กไทย “โรคไม่รู้จักความลำบาก”!!
“โรคมารยาททางสังคมบกพร่อง” ระบาดหนัก ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น