คุณแม่ท้อง โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ อาจจะเกิดความสับสนว่า อาการเจ็บแบบไหนคืออาการ เจ็บท้องเตือน อาการแบบไหนเป็นอาการเจ็บครรภ์จริง จนทำให้เกิดความวิตกกังวล อาการเจ็บเตือน เรามาดูกันว่าอาการเจ็บครรภ์คลอดเป็นอย่างไร เจ็บท้องเตือน ต่างจากเจ็บครรภ์จริงอย่างไร
เจ็บท้องเตือน อาการเป็นอย่างไร
- มดลูกจะมีการแข็งตัวระยะสั้น ๆ และจะมีอาการเจ็บบริเวณท้องน้อย ไม่ปวดร้าวไปด้านหลัง โดยอาการเจ็บจะเป็นแบบหน่วง ๆ รู้สึกแน่น ๆ
- อาการเจ็บท้องเตือนมักจะเป็นในตอนกลางคืน เวลาพลิกตัว หรือพยุงตัวลุกขึ้นนั่ง แต่เมื่อนอนพัก อาการเจ็บก็จะค่อย ๆ หายไป
- มีอาการปวดแบบไม่สม่ำเสมอ เรียกว่าเป็น ๆ หาย ๆ ความถี่หรือความเจ็บปวดจะไม่รุนแรงมากขึ้น
- ไม่มีมูกเลือด หรือน้ำใส ๆ คล้ายปัสสาวะออกมาทางช่องคลอด
เจ็บครรภ์จริง อาการเป็นแบบไหน
- มดลูกจะแข็งตัวบ่อยครั้ง เป็นจังหวะสม่ำเสมอ
- ประมาณ 10 นาที จะเจ็บอย่างน้อย 1 ครั้ง และจะมีอาการเจ็บมากขึ้น บ่อยขึ้น ทุก 3-5 นาที อาการเจ็บแต่ละครั้งจะนาน 35-45 วินาที
- ลักษณะการเจ็บครรภ์จริงจะเจ็บจากบั้นเอวด้านหลัง ร้าวมาหน้าท้อง คุณแม่ท้องบางท่านอาจมีอาการเจ็บร้าวไปที่ขาหลังด้วย
- อาการเจ็บจะไม่หายไป ถึงจะนั่งพัก หรือนอนพักแล้วก็ยังเจ็บเป็นจังหวะสม่ำเสมอ
- มีมูกเลือด หรือน้ำใส ๆ คล้ายปัสสาวะออกมาจากช่องคลอด หรือที่เรียกว่า อาการน้ำเดิน
บทความที่เกี่ยวข้อง : เจ็บท้องหลอก ต่างจากเจ็บท้องจริงอย่างไร เจ็บแบบไหนเรียกว่าปวดท้องใกล้คลอด
เจ็บท้องเตือน เจ็บท้องหลอก สังเกตอย่างไร
เจ็บท้องหลอกนั้น เป็นอาการที่เกิดจากการบีบตัวของมดลูก โดยจะเป็นอาการที่คุณแม่ท้องมักจะเป็นในช่วง ๆ เดือนสุดท้าย เพื่อที่จะเป็นการเตือนว่าจะมีการคลอดลูกเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ แต่อย่างไรแล้วสำหรับแม่ท้องบางท่านนั้น ก็อาจจะคลอดเร็วกว่านี้ได้เหมือนกัน ซึ่งอาการเจ็บท้องหลอกหรืออาการเจ็บท้องเตือน สามารถที่จะสังเกตได้ดังนี้
- มีอาการที่ปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ ไม่สม่ำเสมอ ความถี่หรือความเจ็บปวดนั้นจะไม่รุนแรงในแต่ละครั้ง ระยะเวลาของอาการปวดน้อยกว่า 50 – 80 วินาที
- เมื่อเดิน หรือมีการเปลี่ยนท่า จะหายปวด
- มีความเจ็บปวดคล้าย ๆ กับอาการปวดท้องประจำเดือน
อย่างไรก็ตามถ้าคุณแม่อยากแน่ใจจริง ๆ หรือกลัวจริง ๆ ลองไปพบแพทย์ดูนะคะ
อาการเตือนก่อนคลอด
นอกจากอาการเจ็บครรภ์คลอดแล้ว ยังมีอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ โดยอาการเหล่านี้ อาจจะเกิดขึ้นก่อนคลอดเป็นสัปดาห์ หรือไม่กี่ชั่วโมงก่อนคลอดจริง เช่น
- อาการท้องลด และการเคลื่อนต่ำของส่วนนำเข้าสู่อุ้งเชิงกราน มักเกิดขึ้นประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ก่อนคลอด ทารกในครรภ์จะเคลื่อนตัวลงสู่อุ้งเชิงกราน ทำให้ความสูงของยอดมดลูกลดลง ซึ่งอาการท้องลดนี้ เป็นอาการแรกของการเข้าสู่ระยะการคลอด
- ปวดท้องน้อยและทวารหนัก รู้สึกเหมือนมีอะไรกดทับบริเวณขาหนีบ และปวดหลังส่วนล่างตลอดเวลา
- มูกในช่องคลอดเหนียวและข้นมากขึ้น
- มูกที่อุดปากมดลูกหลุด แต่อาจอยู่ในช่องคลอดโดยจะขับออกมาเมื่อน้ำเดิน หรือเจ็บครรภ์จริง
- มีมูกเลือดปน เนื่องจากการเปิดของปากมดลูกจะมีการฉีกขาดของเยื่อบุและหลอดเลือดฝอยบริเวณนั้น ทำให้มีเลือดปนออกมา หากมีอาการนี้เกิดขึ้นแสดงว่าจะมีการคลอดเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง แต่บางรายอาจจะเลื่อนออกไปได้อีกหลายวัน
- อาจมีอาการท้องเสีย เนื่องจากลำไส้ส่วนล่างถูกรบกวน
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการปวดท้องคลอดลูกเป็นอย่างไร อาการใกล้คลอด เจ็บท้องจริง เจ็บท้องหลอก
อาการที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที
หากคุณแม่ท้องมีอาการเหล่านี้ก่อนกำหนดคลอด ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที
1. มีมูกปนเลือด หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งเกิดขึ้นได้จาก
- รกลอกตัวก่อนกำหนด โดยจะมีเลือดออกทางช่องคลอด ร่วมกับอาการปวดท้อง ซึ่งอาการรกลอกตัวก่อนกำหนดนี้ อาจทำให้ทารกในครรภ์ขาดสารอาหาร และขาดออกซิเจนได้
- รกเกาะต่ำ ซึ่งจะมีเลือดออกทางช่องคลอดโดยที่ไม่เจ็บครรภ์ได้ ส่งผลให้คุณแม่ท้องเสียเลือดมาก
2. ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นใต้ลิ้นปี่ มีอาการบวมที่ขา มือ และใบหน้า ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของอาการครรภ์เป็นพิษ และอาจทำให้เกิดอาการชักได้
3. ลูกดิ้นน้อยลง น้อยกว่า 6-10 ครั้ง ใน 1 ชั่วโมง หรือไม่ดิ้นเลย เพราะอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์ได้
4. น้ำคร่ำรั่ว และน้ำเดิน
5. มีอาการปวดอย่างรุนแรง จนไม่สามารถเดินได้
เจ็บท้องเตือน เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับแม่ท้องทุกคน และมักไม่เป็นอันตรายต่อตัวคุณแม่และลูกน้อย อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่มีอาการอื่น ๆ เช่น ลูกดิ้นน้อยลง ปวดศีรษะ หรือมีเลือดออกจากช่องคลอด ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อาการเจ็บท้องคลอด เจ็บแบบไหน ส่งสัญญาณว่าคลอดชัวร์!
9 อาการปวดของแม่ท้อง เจ็บท้องตอนตั้งครรภ์ แบบไหนอันตราย มาดูด่วน
อาการปวดท้องคลอดลูกเป็นอย่างไร อาการใกล้คลอด เจ็บท้องจริง เจ็บท้องหลอก
ที่มา : rhold.anamai.moph, med.cmu