ปวดท้องร้าวไปหลัง ระหว่าง ตั้งครรภ์ สัญญาณเตือน! หรือแค่ปวดธรรมดา?

undefined

อาการปวดกับแม่ท้องเป็นของคู่กัน แต่บางครั้งคุณแม่ก็กังวลและสงสัยว่าอาการที่เป็นอยู่ผิดปกติหรือเปล่า เช่น ปวดท้องร้าวไปหลัง เป็นสัญญาณเตือนอันตรายไหม ต้องมาดูกันค่ะ

เพราะการตั้งครรภ์เป็นสถานการณ์ “พิเศษ” ของผู้หญิงทุกคนค่ะ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะมี อาการคนท้อง ที่มีความพิเศษแตกต่างไปจากผู้หญิงปกติทั่วไป ทั้งแพ้ท้อง เต้านมมีการเปลี่ยนแปลง อารมณ์แปรปรวน ฉี่บ่อย เจ็บตรงนั้น ปวดตรงนี้ โดยเฉพาะอาการปวดท้อง ปวดหลัง นั้นมีมาให้สัมผัสกันเป็นระยะเลยทีเดียว แต่มีคุณแม่บางคนค่ะที่อาการต่างไปคือ ปวดท้องร้าวไปหลัง ระหว่าง ตั้งครรภ์ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวและกังวลใจกว่าปกติ theAsianparent เลยจะพามาไขข้อข้องใจว่าอาการปวดท้องแบบนี้เป็นสัญญาณเตือน! ความผิดปกติ หรือแค่ปวดธรรมดากันแน่

อาการคนท้อง ปวดอะไรได้บ้าง

อาการคนท้อง แม่ตั้งครรภ์ “ปวด” อะไรได้บ้าง

อย่างที่บอกค่ะว่าในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถเจ็บนู่นปวดนี่ได้อยู่เสมอ ดังนั้น เรามาดูกันก่อนค่ะว่ามีอาการปวดแบบไหนบ้างที่คนท้องสามารถประสบพบเจอได้

อาการปวด ที่มักเกิดกับ แม่ตั้งครรภ์

ปวดศีรษะ
  • โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรก อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน หรือปริมาณเลือดในร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้น มักทุเลาลงในช่วงไตรมาสที่ 2 เมื่อระดับฮอร์โมนเริ่มคงที่
  • มักพบในคุณแม่ที่เป็นไมเกรนอยู่แล้ว นอนไม่เพียงพอ ดื่มน้ำน้อย กินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ จนภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือมีความเครียด
ปวดหรือจุกเสียดที่ลิ้นปี่ 
  • มักเกิดหลังกินอิ่มใหม่ๆ เพราะท้องขยายใหญ่ ลำไส้จะถูกมดลูกดันขึ้น
  • มีฮอร์โมนที่ทำให้ทางเดินอาหารบีบตัวน้อยลง อาหารค้างในกระเพาะนานจนเกิดอาการจุกเสียด
ปวดคัดเต้านม
  • ปวดเจ็บเต้านม คัดตึง คล้ายช่วงมีประจำเดือน
  • เกิดจากระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เต้านมไวต่อความรู้สึกและมีอาการเจ็บคัดเต้า
ปวดขา 
  • เนื่องจากน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • การเดินบ่อย ยืนนาน จะยิ่งมีอาการปวดมากขึ้น ซึ่งอาจปวดไปถึงเท้า
  • อาจมีอาการเส้นเลือดขอดร่วมด้วย
  • เกิดตะคริว เพราะกล้ามเนื้อหลังบริเวณน่องหดเกร็งแบบเฉียบพลัน มักเกิดช่วงกลางคืน
ปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย 
  • อาการหน่วงท้องน้อยคล้ายปวดประจำเดือน เพราะมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น มีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น ทำให้มดลูกบวม
  • มักเกิดในระยะครรภ์สัปดาห์ที่ 36 ขึ้นไป เพราะมดลูกเคลื่อนต่ำลง
  • คุณแม่บางคนอาจปวดตึงอวัยวะเพศ หรือบริเวณขาหนีบด้วย
ปวดหลัง 
  • เพราะคุณแม่ต้องแบกน้ำหนักมดลูกและทารกที่ใหญ่ขึ้น
  • ฮอร์โมนรีแลกซิน (Relaxin) เปลี่ยนไป เกิดการกระตุ้นการคลายตัวเอ็นยึดกระดูกเชิงกราน ข้อต่อกระดูกต่างๆ และเส้นเอ็นมีความอ่อนตัวลง ทำให้เกิดอาการปวดหลัง

ข้างต้น คือ อาการปวดของคนท้อง ที่คุณแม่ตั้งครรภ์โดยส่วนใหญ่มักได้สัมผัสค่ะ แล้ว ปวดท้องร้าวไปหลัง ระหว่าง ตั้งครรภ์ ล่ะ? ปกติไหม เป็นสัญญาณเตือน! ความผิดปกติ หรือแค่ปวดธรรมดากันแน่ มาติดตามไปพร้อมกันเลยค่ะ

ปวดท้องร้าวไปหลัง

ปวดท้องร้าวไปหลัง ระหว่าง ตั้งครรภ์ ผิดปกติไหม

อาการ ปวดท้องร้าวไปหลัง ในระหว่าง ตั้งครรภ์ อาจทำให้คุณแม่ท้องหลายคนรู้สึกปวดตึง หรือปวดแบบร้าวลงไปที่ก้นกบหรือขา ปวดบริเวณกลางหลัง ล่างหลัง หรืออาจร้าวไปถึงสะโพก ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอาการเหล่านี้แบบเรื้อรัง หรือปวดเป็นช่วงๆ ก็ได้ โดยคุณแม่อาจมีอาการปวดรุนแรงขึ้นเมื่อยืนนานๆ ยกของหนัก หรือเปลี่ยนท่าทาง ซึ่งสาเหตุของอาการ ปวดท้องร้าวไปหลัง ระหว่าง ตั้งครรภ์ มีหลายปัจจัย ดังนี้

  • การขยายตัวของมดลูก เมื่อมดลูกขยายตัวเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารก อาจกดทับเส้นประสาทและกล้ามเนื้อบริเวณหลัง ทำให้เกิดอาการปวด
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ รวมถึงฮอร์โมนรีแลกซิน (Relaxin) เปลี่ยนไป มีการขยายตัวของกล้ามเนื้อส่วนกลาง การคลายตัวของเส้นเอ็น ไขข้อ และกระดูกเชิงกราน การปรับเปลี่ยนสรีระและท่าทางเพื่อรองรับน้ำหนักครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังได้
  • การเปลี่ยนแปลงของท่าทาง เมื่อท้องโตขึ้น คุณแม่จะต้องปรับท่าทางในการเดินและยืน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อและกระดูกสันหลัง
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้กระดูกสันหลังต้องรับน้ำหนักมากขึ้น อาการปวดหลังจึงตามมาได้
  • การหดตัวของมดลูก การหดตัวของมดลูกเป็นเรื่องปกติในช่วงตั้งครรภ์ แต่หากหดตัวบ่อยและรุนแรง อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องร้าวไปหลังได้เช่นกัน

อาการคนท้อง ปวดขา ตั้งครรภ์

ปวดท้องร้าวไปหลัง อันตรายมั้ย? ปวดท้องแบบไหนเสี่ยงแท้งลูกได้

อาการปวดท้องร้าวไปหลังของคุณแม่ตั้งครรภ์อาจเป็นอาการปวดธรรมดาค่ะหากเกิดจากปัจจัยที่บอกไป แต่กรณีที่คุณแม่ปวดท้องเป็นพักๆ ร่วมกับอาการปวดหลังร้าวลงไปที่ก้นกบ มีอาการน้ำเดิน หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดก่อนถึงสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ อย่านิ่งนอนใจนะคะ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของการคลอดก่อนกำหนด ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนค่ะ

นอกจากนี้ ยังมีอาการปวดท้องอีกหลายรูปแบบที่คุณแม่ต้องสังเกตและเฝ้าระวัง เนื่องจากอาจนำไปสู่ภาวะแท้งลูกได้ ดังนี้

  • ปวดท้องจากการติดเชื้อ

อาจไม่ใช่อาการปวดที่เกิดจากภาวะตั้งครรภ์ค่ะ แต่เกิดขึ้นเนื่องจากการติดเชื้อที่กระเพาะอาหาร อาการปวดจากไส้ติ่งอักเสบ หรืออาหารเป็นพิษ ซึ่งมักส่งผลให้เกิดการปวดท้องอย่างรุนแรง รวมถึงอาเจียนร่วมด้วย หากคุณแม่มีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

  • ปวดท้องน้อยรุนแรง

โดยมีน้ำใสๆ เลือดหรือมูกเลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้องน้อยแบบรู้สึกว่ามดลูกแข็งตัวหรือบีบตัว บางครั้งอาจปวดลามไปที่หลัง หรืออวัยวะเพศ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแท้งคุกคามค่ะ หากคุณแม่มีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบสูตินรีแพทย์ให้เร็วที่สุด

  • ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน

หากคุณแม่รู้สึกปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดจำนวนมาก ปวดไหล่ ปวดคอ ปวดบริเวณทวารหนักรวมถึงวิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง เป็นสัญญาณเตือนที่บอกว่ามีการตั้งครรภ์นอกมดลูกค่ะ ซึ่งภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก เกิดจากตัวอ่อนเกิดไปฝังตัวอยู่ในท่อนำไข่ หรือปีกมดลูก รังไข่ ปากมดลูก หรือพื้นที่ว่างในช่องท้องแทนที่จะเป็นโพรงมดลูก ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นทารกได้ เกิดอาการปวดท้อง หากไม่ได้รับการรักษา เนื้อเยื่อจะเจริญเติบโต สร้างความเสียหายแก่ท่อนำไข่ และเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ทันทีค่ะ

 

อาการคนท้อง ปวดอวัยวะเพศ อุ้งเชิงกราน

สัญญาณเตือน! อะไรบ้าง บ่งบอกการตั้งครรภ์ “ผิดปกติ”

นอกจากปวดท้องแล้ว ยังมีอาการบางอย่างที่เกิดขึ้นกับคนท้องอันเป็นเสมือนสัญญาณเตือนของการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ ซึ่งหากคุณแม่มีอาการดังต่อไปนี้ ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

  1. ปวดหัวบ่อย ตาพร่ามัว

ฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปในช่วงคุณแม่ตั้งครรภ์มักทำให้มีอาการปวดหัวบ่อยๆ ได้ หรือคุณแม่ที่มีภาวะเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ก็มีอาการปวดหัวได้เช่นกัน แต่ที่น่ากังวลคืออาการปวดหัวนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนจาก “ภาวะครรภ์เป็นพิษ” หากปวดบริเวณขมับ ปวดร้าวที่หน้าผาก ร่วมกับอาการตาพร่ามัว ซึ่งคุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนอาการรุนแรงค่ะ

  1. มีเลือดออกทางช่องคลอด

คนท้องที่มีเลือดออกทางช่องคลอด ไม่ว่าน้อยหรือมาก ให้ตั้งธงไว้เลยค่ะว่าอาจไม่ใช่เรื่องปกติ ยิ่งหากมีเลือดออกร่วมกับปวดท้องในช่วงไตรมาสแรก อาจเกิดจากการแท้ง หรือตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ โดยหากปวดท้องร่วมกับมีเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ ก็สันนิษฐานได้เช่นกันว่าเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ดังนั้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีเลือดออกทางช่องคลอด เพื่อความปลอดภัยต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ค่ะ

  1. คอแห้ง กระหายน้ำมากผิดปกติ เหงื่อออกมาก

ในช่วงตั้งครรภ์ของเหลวในร่างกายของคุณแม่จะถูกถ่ายเทไปให้ลูกน้อยในท้อง ซึ่งมีผลทำให้คุณแม่เกิดภาวะขาดน้ำได้ จนรู้สึกกระหายน้ำได้ตลอดเวลา แต่กรณีที่รู้สึกหิวน้ำมากดปกติ และมีเหงื่อออกมาก อาจเป็นไปได้ว่าคุณแม่เสี่ยงต่อภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา

  1. มีอาการบวม

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการบวมบริเวณหลังเท้าไม่มากนัก เพราะเดินหรือยืนนานๆ อาจไม่มีอะไรผิดปกติค่ะ แต่หากมีอาการใบหน้าบวม ข้อเท้า มือ ขาทั้งสองข้างบวม กดแล้วบุ๋ม อาจเป็นสัญญาณอันตรายว่ามีภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือมีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุดก่อนที่จะเกิดอาการชักซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ค่ะ

เมื่อท้อง ต้องฝากครรภ์

เมื่อ รู้ตัวว่าตั้งครรภ์แนะนำให้คุณแม่ทำการฝากครรภ์และเข้าพบแพทย์ตามกำหนดนัดหมายนะคะ เพราะจะช่วยให้คุณแม่และลูกน้อยได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ไม่เพียงช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ แต่การตรวจพบความผิดปกติอื่นๆ ได้เร็ว ยังช่วยให้ได้รับการรักษาเร็วด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาการ ปวดท้องร้าวไปหลัง ปวดศีรษะ หรืออาการใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ หากคุณแม่มีความกังวลไม่ต้องเก็บไว้ค่ะ ปรึกษาแพทย์ทันทีได้เลย

 

ที่มา : www.paolohospital.com , www.samitivejhospitals.com , www.gedgoodlife.com , www.pobpad.com

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

14 ข้อห้ามคนท้อง พฤติกรรมเสี่ยงแท้ง ของแม่ตั้งครรภ์ ห้ามทำแบบนี้

คนท้องปวดฟัน ฟันผุ เหงือกอักเสบ เสี่ยงคลอดก่อนกำหนดจริงหรือ ?

ควันบุหรี่มือสองในบ้าน ทำร้ายลูก-เมีย เสี่ยงโรคในผู้หญิงและเด็ก

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!