ฝากครรภ์พิเศษ Vs ฝากครรภ์ธรรมดา
ฝากครรภ์พิเศษ
คือ การที่คุณแม่เลือกไปฝากท้องในโรงพยาบาลเอกชน เรียกว่าเป็นการฝากท้องพิเศษโดยอัตโนมัติ แม่ท้องทุกคนจำเป็นต้องมีการระบุแพทย์เจ้าของครรภ์แน่นอน ซึ่งคุณหมอท่านนั้นจะดูแลคุณแม่ตลอดไปจนถึงการคลอด หากเป็นโรงพยาบาลรัฐ การฝากครรภ์พิเศษเป็นการที่คนท้อง อยากให้หมอสูติ หรืออาจารย์แพทย์เป็นคนทำคลอดให้ นอกจากนี้ การฝากครรภ์พิเศษได้ตามคลินิก
ฝากครรภ์ธรรมดา
เป็นการฝากครรภ์ที่มีแพทย์ทั่วไป และพยาบาลดูแลคุณแม่เท่านั้น และเวลาที่คุณแม่มาตรวจทุกครั้งก็จะเป็นแพทย์เวร ซึ่งอาจเป็นแพทย์คนเดิมหรือไม่ก็ได้ รวมถึงขณะคลอดด้วยเช่นกัน แพทย์ท่านไหนอยู่เวรก็จะมีแพทย์เวรเป็นผู้ดูแลคลอด
ฝากครรภ์แบบไหนดี
คุณแม่จะเลือกฝากครรภ์แบบไหน เลือกที่ความสะดวกของคุณแม่เลยค่ะ เพราะคุณแม่จะต้องอุ้มท้องตลอดทั้ง 9 เดือนเลยทีเดียว ไหนจะเวลาคลอดอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่คุณแม่หลายคนน่าจะกังวลไม่น้อย สำหรับการเลือกที่จะฝากครรภ์ที่ไหน แนะนำให้เลือกใกล้บ้าน หรือใกล้ทำงานที่สุด เพราะหากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นมา จะได้ไปโรงพยาบาลได้ทันทีค่ะ
เริ่มฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี
ทันทีที่คุณแม่รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ ก็ควรเข้ารับฝากครรภ์เลยจะดีที่สุดค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่มีโรคประจำตัว มีโรคแทรกซ้อน หรือมีประวัติเสี่ยงตากโรค หรืออาการแท้งคุกคามต่างๆ คุณหมอจะได้ทำการวินิจฉัย และทำการป้องกันก่อนจะสายเกินไปค่ะ
ฝากครรถ์ครั้งแรก ตรวจอะไรบ้าง
การไปฝากครรภ์ครั้งแรก คุณแม่อาจจะเสียเวลาหน่อย เพราะว่าต้องทำบัตร ตรวจเลือด และ ปัสสาวะ ก่อนจะไปชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูง หลังจากนั้น คุณหมออาจจะทำการซักถามประวัติการรักษาอาการเจ็บป่วยในอดีต โรคประจำตัว เป็นต้น สำหรับคุณแม่ที่เคยคลอดลูกมาก่อนแล้ว คุณหมอก็จะซักถามว่า การคลอดครั้งที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เช่น คลอดโดยวิธีใด ง่ายหรือยาก ครบกำหนดหรือไม่ เด็กหนักเท่าไรหลังคลอดเสียเลือดมาน้อยเพียงใด เหล่านี้เป็นต้น
จากนั้น คุณหมอจะซักประวัติการตั้งครรภ์ว่า ประจำเดือนครั้งสุดท้านมาเมื่อไหร่ ความผิดปกติต่างๆ มีไหม เช่น แพ้ท้อง เลือดออก ปวดท้อง มีหรือไม่ เสร็จแล้วก็จะทำการวัดความดันโลหิต ตรวจสุขภาพโดยทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งของปอดและหัวใจ สุดท้ายก็จะตรวจหน้าท้อง แล้วก็ตรวจภายในค่ะ (ขั้นตอนหรือวิธีการ อาจมีการปรับเปลี่ยนขึ้นอยู่กับวิธีการของแพทย์)
เมื่อตรวจเสร็จครบทุกขั้นตอนแล้ส คุณหมอก็จะจ่ายยาบำรุงงครรภ์ แล้วก็ทำการนัดตรวจครั้งต่อไป ส่วนใหญ่จะนัดเป็นทุก ๆ 1-4 สัปดาห์/ครั้ง แล้วแต่ว่าครรภ์อ่อนหรือครรภ์แก่ แต่แพทย์มักจะนัดทุกๆ 4 สัปดาห์ใน 7 เดือนแรก และต่อมาทุกๆ 2-3 สัปดาห์ พอมาเดือนสุดท้ายก็จะนัดทุกสัปดาห์
ฝากครรภ์ครั้งต่อไปตรวจอะไรบ้าง
หลังจากชั่งน้ำหนักและวัดความดันโลหิตแล้ว แพทย์จะถามถึงความผิดปกติต่าง ๆ ว่ามีหรือไม่หลังจากนั้นก็ตรวจหน้าท้องดูการเปลี่ยนแปลงของมดลูก ท่าเด็ก เสียงหัวใจเด็ก คุณจะใช้เวลาระหว่างนี้พูดคุยกับแพทย์ถามข้อข้องใจต่าง ๆ ที่ต้องการทราบ ถ้าแพทย์พบสิ่งผิดปกติใด ๆ จากการตรวจก็จะบอกวิธีปฎิบัติและให้ยาเพิ่มเติม
ที่มา: medthai, childanddevelopment
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
เลือกผ่าคลอด หากคลอดลูกโดยการผ่าคลอด ความเสี่ยงผ่าคลอด 9 เรื่องที่แม่ตั้งครรภ์ต้องเจอ!
การปฏิบัติตัวตอนตั้งครรภ์ วิธีดูแลตัวเองตอนท้อง เพื่อสุขภาพของทารกในครรภ์