พฤติกรรมของพ่อแม่ที่ชอบ ตะคอกลูก ว่ากล่าวด้วยคำหยาบคาย พูดไปแบบไม่คิด มีผลการศึกษาพบว่า การลงโทษลูกด้วยวาจาลักษณะนี้ จะทำให้ลูกโตขึ้นมากลายเป็นเด็กมีปัญหา มีพฤติกรรมที่ชอบโกหก ลักขโมย และเป็นเด็กก้าวร้าว เกเร ทะเลาะวิวาทกับเพื่อนที่โรงเรียนได้นะคะ
วิจัยชี้ยิ่ง ตะคอกลูก ระเบิดลงใส่ลูก ยิ่งทำให้เด็กมีปัญหา
ดอกเตอร์หมิง ที หวัง รองศาสตราจารย์วิชาจิตวิทยาการศึกษา ของมหาวิทยาลัยพิตต์เบิร์ก สหรัฐอเมริกากล่าวถึงผลการศึกษาในเรื่องนี้จากกลุ่มพ่อแม่ครอบครัวชนชั้นกลางในสหรัฐอเมริการาว 976 ครอบครัว พบว่ามีพ่อแม่จำนวนมากที่ใช้วิธีตะโกนดุด่าว่ากล่าวลูกเสียงดัง ใช้คำที่ทำร้ายความรู้สึกลูก โดยเด็กที่ถูกลงโทษด้วยวิธีนี้บ่อย ๆ จะมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาได้มากกว่าเด็กที่ไม่เคยถูกพ่อแม่ตะคอกใส่หรือว่ากล่าวด้วยถ้อยคำรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น อายุ 13-14 ปี ที่ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ
ดอกเตอร์หมิงกล่าวเพิ่มว่า แม้จะเป็นครอบครัวที่พ่อแม่ลูกสนิทกัน แต่ความเข้าใจของพ่อแม่ที่คิดว่าการดุด่านั้นเกิดจากความรัก ความหวังดีกับลูก และเข้าใจว่าลูกจะเข้าใจในเรื่องที่พ่อแม่ดุ แต่จริง ๆ แล้วการกระทำแบบนี้นี่แหละที่จะส่งผลร้ายต่อตัวลูกทั้งทางจิตใจ รวมถึงก่อให้เกิดการลอกเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดีจากพ่อแม่ได้
มีงานวิจัยระบุว่า การที่พ่อแม่ตะคอกหรือตะโกนใส่ลูกนั้น ในระยะสั้นจะส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึก ทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัยและหวาดกลัว ส่วนระยะยาวนั้นการที่พ่อแม่ดุด่าหรือตะคอกใส่บ่อย ๆ เด็กที่โตขึ้นมากับคำพูดแบบนี้หรือการดูถูก จะส่งผลทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวมากขึ้น ทั้งการแสดงออกผ่านท่าทางและคำพูด รวมถึงกลายเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเองด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากการที่พ่อแม่เป็นผู้ถ่ายทอดพฤติกรรมผ่านลูกนั่นเอง
วิธีลงโทษลูกเมื่อลูกทำผิดด้วยคำพูดด่าทอ ตะคอกใส่ หรือใช้ความรุนแรงจึงไม่ใช้วิธีที่ถูกต้องที่สุดสำหรับการเลี้ยงลูกให้เติบโตมาเป็นเด็กดีนะคะ การคุยกับลูกที่ดีโดยไม่ใช้อารมณ์ สอนและคุยกันด้วยเหตุผล ใช้ถ้อยคำที่นุ่มนวล ชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ต่าง ๆ ที่จะตามมาให้ลูกได้เข้าใจ จะเป็นวิธีที่ดีกว่า ดังนั้นถ้าไม่อยากให้ผลเสียต่าง ๆ เกิดขึ้นกับลูกทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่าเผลอไปใช้อารมณ์ระเบิดใส่ลูกเด็ดขาดจ้า!
เมื่อลูกทำผิด แนวทางการลงโทษที่จะทำให้ลูกได้เรียนรู้จากความผิดพลาด
ข้อแนะนำต่อไปนี้จะเป็นแนวทางสำหรับพ่อแม่ในการใช้เมื่อลูกทำความผิด ทำให้การลงโทษกลายเป็นการเรียนรู้ที่มีประโยชน์ต่อตัวเด็ก
- อธิบายกฎให้เขาเข้าใจ
เด็กจำเป็นต้องเข้าใจว่าคุณคาดหวังอะไรจากตัวเขา และทำไมคุณจึงห้ามไม่ให้เขาแสดงพฤติกรรมที่คุณไม่ต้องการ การพูดคุยกับลูกอย่างมีเหตุผล จะช่วยให้ลูกเข้าใจและสามารถควบคุมพฤติกรรมของตัวเองในอนาคตได้ และเมื่อคุณตั้งกฎอะไรขึ้นมา ก็ควรอธบายเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังกฎเหล่านั้นให้เขาเข้าใจด้วย
- ลงโทษทันทีที่ลูกทำผิด
การลงโทษจะได้ผลก็ต่อเมื่อคุณลงโทษลูกทันทีที่เขามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ถ้าคุณปล่อยให้เวลาล่วงเลยนานเกินไป เด็กจะลืมและไม่เข้าใจว่าเขาทำอะไรผิด ไม่เข้าใจว่าทำไมตัวเขาจึงถูกลงโทษ
- เด็ดขาดแต่อย่าฉุนเฉียว
เมื่อคุณห้ามไม่ให้เขาทำอะไรที่คุณไม่ต้องการ คุณควรห้ามลูกด้วยเสียงดังฟังชัดว่า “อย่า” หรือ “หยุดนะลูก” ซึ่งจะได้ผลดีกว่าการห้ามปรามด้วยเสียงที่อ่อนโยน เนื่องจากมีการศึกษาพบว่า เด็กจะตอบสนองต่อการร้องขอที่ชัดเจน มากกว่าการเตือนที่นุ่มนวล
อย่างไรก็ตามไม่ควรลงไม้ลงมือ หรือใช้คำพูดหยาบคายและแสดงอาการฉุนเฉียว เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้ลูกกลัวคุณ ลนลาน และจะกลายเป็นการบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกได้ หากคุณเผลอตีลูก เด็กจะเห็นว่าคุณควบคมตนเองไม่ได้ เข้าจะมีความเข้าใจผิดๆว่า การใช้กำลังเป็นวิธีการบังคับให้ผู้อื่นทำในสิ่งที่ตนต้องการได้ จริงอยู่ว่าลูกอาจจะกลัวและมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นตามที่คุณต้องการ แต่เขาก็จะขุ่นเคืองและเอาวิธีการใช้กำลังของคุณเป็นเยี่ยงอย่างในที่สุด
- ลงโทษลูกอย่างเสมอต้นเสมอปลาย
ในเวลาที่ลูกทำผิด คุณควรลงโทษเขาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย หากเขาทำความผิดบางอย่าง บางครั้งคุณทำโทษ แต่บางครั้งก็ปล่อยไปไม่ลงโทษ การกระทำในลักษณะนี้จะทำให้การลงโทษในวันข้างหน้าไม่ได้ผลอีกต่อไป เพราะนั่นเท่ากับว่าคุณกำลังให้รางวัลกับเขาทุกครั้งที่เขาทำความผิดแต่รู้จักเอาตัวรอดไม่โดนทำโทษได้ การลงโทษลูกอย่างไม่เสมอต้นเสมอปลาย ยังจะทำให้เด็กเล็กๆ รู้สึกสับสนอีกด้วยเนื่องจากเด็กเล็กๆ จะรู้สึกมั่นคงมากกว่าหากเขาคุ้นเคยกับกฎในบ้าน
- เมื่อต้องการให้ลูกทำอะไรควรใช้ประโยคคำสั่ง ไม่ใช่ประโยคคำถาม
หากคุณต้องการให้ลูกเชื่อฟัง คุณจะต้องออกคำสั่งที่ชัดเจน ไม่ใช่เป็นการร้องขอลูก เช่น แทนที่คุณจะบอกลูกว่า “ช่วยหยุดทุบโต๊ะหน่อยได้มั้ยจ๊ะลูก” ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกปฏิเสธคุณ คุณควรที่จะบอกเขาว่า “หยุดทุบโต๊ะน่ะลูก” โดยบอกกับลูกด้วยเสียงดังฟังชัด เด็กจะได้รู้ว่าเขาต้องทำตามในสิ่งที่พ่อแม่บอกเขา และในทำนองเดียวกัน อย่าพูดในเชิงขอร้องให้ลูกทำเพื่อพ่อแม่ เพราะลูกจำเป็นต้องเชื่อฟังคุณโดยที่ทั้งคุณและลูกไม่ต้องรู้สึกว่าเป็นการขอร้อง
- ให้รางวัลลูกบ้างเมื่อเขาทำตามที่คุณสอน
คุณควรให้รางวัลที่เหมาะสมเมื่อเขาทำตามที่คุณบอก แต่ไม่ใช่ว่าให้พร่ำเพรื่อจนเป็นการติดสินบน ให้เหตุผลที่ดีกับเขาว่าทำไมเขาถึงควรทำตามที่คุณบอก ตัวอย่างเช่น แทนที่จะออกคำสั่งเฉย ๆ ว่า “ไปนอนได้แล้ว” อาจจะบอกว่า ” ไปนอนได้แล้วนะลูก เดี๋ยวแม่จะเล่านิทานให้ฟังก่อนนอน”
- แสดงให้ลูกรู้ว่าคุณรักเขาเวลาที่คุณลงโทษเขา
เป็นสิ่งสำคัญที่ลูกจะต้องเห็นว่าคุณเป็นพ่อแม่ที่รักเขา ไม่ใช่เป็นผู้คุมกฎที่เกรี้ยวกราด ภายหลังจากที่คุณลงโทษเมื่อเขาทำผิด คุณควรแสดงให้เขารู้ว่าคุณยังรักเขา เพียงแต่พฤติกรรมที่เขาทำนั้นเป็นสิ่งที่คุณไม่ชอบ และไม่ต้องการให้เขาทำอีกต่อไป
- ชมเชยเมื่อเขาทำในสิ่งที่ถูกที่ควร
การลงโทษเมื่อลูกทำผิด ต้องกระทำควบคู่ไปกับการชมเชยเมื่อเขาทำในสิ่งที่ถูกที่ควร คุณควรพยายามที่จะกล่าวชมลูกเมื่อเขามีพฤติกรรมตามที่คุณต้องการ ลูกจะทำในสิ่งที่ถูกที่ควรเหล่านั้นมากขึ้น เมื่อคุณรับรู้และชมเชยเขาอยู่เสมอ
- อย่าเขย่าลูกด้วยความรุนแรง
ในแต่ละปีจะมีเด็กทารกและเด็กเล็กจำนวนนับพันคน ที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางสมองและเสียชีวิต เนื่องมาจากการถูกเขย่าด้วยความรุนแรง เด็กที่อายุ 5 ขวบ อาจมีอาการที่เกิดจากการโดนเขย่าอย่างรุนแรง แต่ทารกที่มีอายุระหว่าง 2-4 เดือน จะมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น ประมาณกันว่า 1 ใน 4 ของทารกที่ถูกเขย่าจะบาดเจ็บและเสียชีวิตในที่สุด ส่วนเด็กที่มีชีวิตรอดมาได้ก็อาจจะตาบอด เนื่องจากมีเลือดคั่งในสมองหรือดวงตา หรือได้รับความกระทบกระเทือนในสมอง เช่น ปัญญาอ่อน เป็นอัมพาต เป็นลมชักกระตุก อีกทั้งมีปัญหาการฟังและเรียนรู้เมื่อโตขึ้น
ที่มาข้อมูล หนังสือวิธีฝึกเด็กให้ฉลาดและเก่งตั้งแต่แรกเกิด ถึง 3 ขวยด้วยตัวคุณเอง
อ้างอิง :
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
วิจัยชี้ เด็กคนไหน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ประสบความสำเร็จ ลูกเจริญแน่ในชีวิต
วิจัยชี้ 7 ลักษณะที่เข้าข่ายว่าลูกคุณ “ฉลาดกว่า” คนอื่นได้