โรคพยาธิชอนไชผิวหนัง
โรคพยาธิชอนไชผิวหนัง คืออะไร อาการโรคพยาธิ เป็นแบบไหน คันหรือเปล่า จะรู้ตัวได้อย่างไร
พยาธิชอนไชใต้ผิวหนัง
คุณแม่ท่านหนึ่งได้โพสต์เล่าประสบการณ์เป็นโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง พร้อมโพสต์รูปให้เห็นกันชัด ๆ โดยรูปแรกเป็น 3 วันแรกที่ผื่นขึ้น จนเข้าใจว่าเป็นลมพิษ แต่สังเกตได้ว่า ผื่นมาขึ้นทุกวัน คันมาก และเป็นเส้นแนวดิ่ง
รูปต่อมา ที่เห็นว่าหันหลังนั้น เป็นอาการ 14 วัน หลังจากที่พยาธิชอนไช
หลังจากที่ตรวจที่โรงพยาบาล คุณหมอสันนิษฐานว่าเป็น Larva พยาธิไช และในวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา คุณหมอก็ให้ยาฆ่าพยาธิ มาอีก 2 ชนิด เอาให้มันสิ้นซาก
“ระวังด้วยนะคะ ไม่อันตรายถึงชีวิต แต่มันขยะแขยง และคันมาก แต่เกาไม่ได้”
ส่วนที่ว่ามันไชได้อย่างไรมาจากไหน ก็ไม่ทราบเลย แต่มันเป็นวันที่ไปเที่ยว ก็ไม่รู้ว่ามันไชก่อนไปเที่ยว ก็ไม่ทราบจริง ๆ ปกติก็ไม่เลี้ยงหมาแมว อาจจะโดนไม่รู้ตัว แต่ไม่ได้เกิดจากความสกปรกนะคะ
คุณแม่เล่าเพิ่มเติมว่า ไม่ทราบสาเหตุว่าพยาธิเข้ามาทางไหน เพราะไม่ได้เลี้ยงหมาหรือแมว เหตุเกิดในตอนเช้า ขณะกำลังขนของกลับชลบุรี ก็รู้สึกคันหลังขึ้นมา เลยให้แม่ของตนดูให้ เพราะนึกว่าเป็นลมพิษ แม่ของตนบอกว่า ลักษณะเป็นผื่นบวมขึ้นมาคงไม่มีอะไร เลยไม่ได้สนใจ แต่ก็รู้สึกว่ามันยาวขึ้นเรื่อย ๆ พอดีกับที่พ่อของตนป่วย ต้องพามาหาหมอ เลยได้ตรวจอาการ และทราบว่าเป็นโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง หลังจากที่เกิดขึ้นได้ 7 วัน ตอนนี้ไม่มีรอยบวมแดงแล้ว ตั้งแต่คุณหมอจัดยาให้ทาน อาการดีขึ้นมากแล้วค่ะ
ทางทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ขอขอบคุณคุณแม่ที่มาแบ่งปันประสบการณ์นะคะ
โรคพยาธิชอนไชผิวหนังคืออะไร
ข้อมูลจากร.ศ.พ.ญ. กัญญารัตน์ กรัยวิเชียร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผ.ศ.พ.ญ. จิตติมา ฐิตวัฒน์ คณะเวชศาสคร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง (Cutaneous larva migrans) ว่า คือโรคผิวหนังที่เกิดจากพยาธิตัวกลมระยะตัวอ่อน (ส่วนมากเป็นพยาธิปากขอหรือพยาธิเส้นด้าย) ของสัตว์ พยาธิระยะตัวอ่อนจะไชไปตามผิวหนัง ชั้นหนังกำพร้าทำให้เกิดผื่นมีลักษณะเป็นเส้นนูนสีแดงคดเคี้ยวใต้ผิวหนังตาม ทางที่ พยาธิไชผ่าน เนื่องจากคนไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่พยาธิเจริญเติบโต พยาธิตัวอ่อนจึงเดินทางไปตามเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังโดยไม่สามารถเจริญเป็นระยะตัวแก่ในร่างกายคนได้ จนในที่สุดพยาธินั้นจะตายไปเอง พยาธิสภาพและอาการแสดงทางผิวหนังจะเป็นอยู่นานจนกว่าพยาธิจะถูกทำลายโดยภูมิคุ้มกันหรือได้รับยาฆ่าพยาธิ โรคนี้พบมากในเขตร้อน เช่น ทวีปเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทวีปอาฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ เป็นต้น
ปรสิตที่เป็นสาเหตุโรคพยาธิชอนไชผิวหนังคือ
- พยาธิปากขอของแมวและสุนัข Ancylostoma braziliense (พบบ่อยที่สุด), A. caninum, A. ceylanicum, A. tubaeforme, Uncinaria stenocephala, Bunstomum phlebotomum
- พยาธิเส้นด้ายของสัตว์ Strongyloides papillosus (พยาธิของแพะ แกะ วัว), S. westeri (พยาธิของม้า)
การติดต่อของโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง
พยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อที่อยู่ที่พื้นดินชื้นแฉะไชเข้าผิวหนังของคนที่เดินเท้าเปล่าหรืออาจจะติดตามตัวทาก หรือเข้าตามผิวหนังของเด็กที่นั่งเล่นตามพื้นดินหรือทรายโดยสามารถไชผ่านเสื้อผ้าบาง ๆ เช่นชุดว่ายน้ำได้
กลไกการเกิดโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง
พยาธิระยะตัวอ่อนจะหลั่งเอ็นไซม์เพื่อไชผ่าน ผิวหนังปกติ ผิวหนังที่เป็นแผล หรือไชเข้ามาตามรูขุมขน มาอยู่ในชั้นหนังกำพร้า แต่ไม่สามารถไชผ่านหนังแท้ได้ หลังจากนั้น 2-3 ชั่วโมง ผิวหนังบริเวณนั้นจะเกิดการอักเสบ ต่อมาอีก 2-3 วันพยาธิตัวอ่อนจะเริ่มเคลื่อนที่ไปใต้ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า ผิวหนังจะมีการอักแสบ บวมน้ำ มีเม็ดเลือดขาวมาคั่งอยู่
ลักษณะของผื่นโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง
ผู้ป่วยจะเกิดผื่นหลังจากตัวอ่อนไชผ่านผิวหนังเข้ามาประมาณ 2- 50 วัน ตอนแรกจะเกิดเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีแดงก่อน เมื่อพยาธิเริ่มเคลื่อนที่โดยการไชจะเห็นผื่นเป็นเส้นนูนสีแดงกว้าง 2-3 มิลลิเมตรคดเคี้ยวไปมาผื่นอาจมีความยาวได้ถึง 15-20 ซม. ตัวอ่อนของพยาธิเคลื่อนที่ได้วันละ 2-3 มิลลิเมตร จนถึงหลายเซนติเมตร อาจเกิดตุ่มน้ำตามแนวที่พยาธิไชอาจมีผื่นเกิดขึ้นหลายแห่งพร้อมกัน ผื่นมักพบบริเวณที่ผิวหนังที่สัมผัสกับดินโดยตรงคือมือ เท้า ในเด็กเล็กอาจพบผื่นที่ก้น อาการร่วมที่สำคัญคือต้องมีอาการคันอย่างมาก อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
การวินิจฉัยโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง
- การวินิจฉัยใช้อาการแสดงทางคลินิกและประวัติเป็นหลัก
- การตรวจเลือดอาจพบมีเม็ดเลือดขาวชนิด eosinophil สูงขึ้น
- การตรวจ น้ำเหลืองพบมีระดับ IgE สูงขึ้น
- การตัดชิ้นเนื้อเพื่อให้พบตัวอ่อนของพยาธิทำได้ยากเนื่องจากพยาธิมีขนาดเล็กมากและเคลื่อนที่เร็ว ตำแหน่งที่ตัด
ชิ้นเนื้อที่มีโอกาสพบตัวพยาธิมากที่สุดคือบริเวณห่างจากจุดสุดท้ายที่เกิดผื่นเล็กน้อย
การรักษาโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง
ถ้าไม่รักษาผื่นอาจหายได้เองภายใน 4 สัปดาห์- 2 ปี ยาที่ใช้รักษา คือ
- Ivermectin รับประทานครั้งเดียว หาย 81-100%
- ยาทา Thiabendazole ทาบริเวณผื่นวันละ 2-4 ครั้งนาน 2 สัปดาห์ให้ผลการรักษาดีเท่าการรับประทานยา
ivermectin - Thiabendazole รับประทานวันละหนึ่งครั้งนาน 2 วัน หายประมาณ 68-84% เนื่องจากมีผลข้างเคียงมาก
คือ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะจึงไม่ค่อยนิยมใช้ - Albendazole รับประทานวันละหนึ่งครั้งนาน 3 วัน หายประมาณ 46-100%
การป้องกันโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง
- อย่าเดินเท้าเปล่า นั่งหรือใช้มือสัมผัสดินที่สงสัยว่าปนเปื้อนมูลสัตว์
- ถ่ายพยาธิในแมวและสุนัขเพื่อไม่ให้มีการแพร่ปรสิตสู่ดิน
ที่มา : https://www.tm.mahidol.ac.th/hospital/index-th.php
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
วิธีเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ทารก พ่อแม่ควรทำอย่างไรไม่ให้ลูกเป็นเด็กป่วยง่าย
อุทาหรณ์! ลูกถ่ายเป็นมูกเลือด อย่านิ่งนอนใจ เสี่ยงป่วยลำไส้กลืนกัน
60 วันแรกในท้องแม่ ทารกในครรภ์มีรูปร่างอย่างไร พ่อแม่อยากเห็นไหม?
วิธีลดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย ลมในท้องเยอะ คนท้องควรทำอย่างไร