คุณแม่แอนนา เบลล์ หนึ่งในสมาชิกเฟสบุ๊คเล่าผ่านดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ว่า กลางดึกของคืนก่อน ในขณะที่ลูกวัย 1 ขวบ 1 เดือน กำลังนอนหลับสนิท จู่ ๆ ลูกก็ร้องกรี๊ดขึ้นมา เหมือนกับถูกอะไรต่อย ลูกยังคงร้องไม่หยุด เอามือปัดตรงข้างแก้มและบริเวณหู แต่ก็เหมือนจะปัดเท่าไรก็ปัดไม่โดน
คุณแม่ไปดูบริเวณแก้มก็พบว่า มีรอยโดนสัตว์ต่อย จึงนึกถึงก็คือ แมงป่อง เพราะน้องก็เคยถูกกัดมาแล้วครั้งนึง คุณแม่จีงรีบเอายาทาให้ แต่แทนที่น้องจะหยุด น้องกลับยังคงเอามือปัดหู ตอนนั้นทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก คุณพ่อจึงเอาไฟฉายของโทรศัพท์มาส่อง ก็เห็นเหมือนมีตัวอะไรดำ ๆ อยู่ในหู
คุณพ่อจึงรีบไปหยิบน้ำมันพืชในครัวมาหยอด เพราะจำได้ว่าเคยอ่านเจอในเน็ต พอหยอดไปไม่ถึง 1 นาที ก็เจอชิ้นส่วนของแมลงป่องโผล่ออกมา คุณแม่จึงใช้คอตตอนบัดเขี่ยออกมา และสิ่งที่เจอก็ทำเอาแม่ใจหาย เพราะมันคือ แมงป่อง! หลังจากที่เอาออกแล้ว น้องก็หยุดร้องและกินนมแม่ต่อจนหลับไป เช้ามาก็ร่าเริงปกติเหมือนเดิม คุณแม่จึงอยากฝากเรื่องนี้ไว้เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับครอบครัวที่มีลูกเล็ก และหากเกิดเรื่องไม่คาดคิดขึ้น สติสำคัญที่สุด
ทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ทุกคนขอขอบคุณคุณแม่แอนนา เบลล์มากนะคะ สำหรับเรื่องราวที่เอามาแชร์ และเพื่อเป็นประโยชน์สูงสุด วันนี้เรามีวิธีการดูแลสุขภาพหูของลูกให้ถูกวิธีมาฝากค่ะ คลิกเพื่ออ่านบทความได้ที่หน้าถัดไป
ดูแลสุขภาพหูลูกน้อยอย่างไรให้ถูกวิธี
ผศ.นพ.จำรูญ ตั้งกีรติชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โสต ศอ นาสิกแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการดูแลสุขภาพหูลูกน้อยให้ถูกวิธี ดังนี้
1. การทำความสะอาดหู
ให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำบิดหมาดเช็ดบริเวณใบหู และรูหูเท่าที่นิ้วจะเข้าไปได้
2. ขี้หู
– ขี้หูเป็นสิ่งที่ร่างกายผลิตขึ้นตามธรรมชาติ
– ขี้หูบางคนมีลักษณะแห้ง บางคนมีลักษณะเปียก
– หากขี้หูมีจำนวนมากจะร่วงหรือหล่นออกมาเองจึงไม่จำเป็นต้องปั่นหรือแคะหู
– สำหรับคนที่มีขี้หูมากจับเป็นก้อนอุดตัน ทำให้ได้ยินเสียงไม่ชัดเจน ทำให้รู้สึกว่าหูอื้อ ไม่ควรแคะหูด้วยที่แคะหู กิ๊บเสียบผมหรือไม้จิ้มฟัน เด็ดขาด เพราะอาจอันตรายต่อเยื่อแก้วหู ผนังรูหู อาจเป็นแผลหรืออักเสบได้ จะนำเชื้อโรคเข้าสู่ช่องหูโดยไม่รู้ตัว
– ควรใช้น้ำมันกลีเซอรีนหรือน้ำมันมะกอกหยอดหูวันละ 2 ครั้ง จะทำให้ขี้หูนิ่มและละลายหลุดออก
– หากยังมีอาการปวดหูหรือได้ยินไม่ชัดเจน ต้องไปพบคุณหมอเพื่อตรวจอย่างละเอียดต่อไป
3. เมื่อเป็นหวัด เจ็บคอ
เมือลูกน้อยมีอาการเป็นหวัดหรือเจ็บคอ หากลูกสั่งน้ำมูกเป็นแล้ว ต้องระมัดระวังอย่าให้ลูกสั่งน้ำมูกแรง ๆ หรืออุดจมูกข้างใดข้างหนึ่งในขณะที่สั่งน้ำมูก เพราะจะทำให้เชื้อโรคในคอและจมูกดันเข้าสู่หูชั้นกลาง ทำให้เกิดการติดเชื้อและอาจเป็นหูน้ำหนวกได้
4. หวัดที่เกิดจากภูมิแพ้
หวัดที่เกิดจากภูมิแพ้มักมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคจากหูชั้นกลางอักเสบจาก การติดเชื้อแทรกซ้อน ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้จะปลอดภัยที่สุด
5. ระวังอย่าให้หูกระทบกระแทกแรงๆ
คุณพ่อคุณแม่ต้องระมัดระวังอย่าให้หูของลูกน้อยเกิดการกระทบกระแทกแรง ๆ เพราะจะทำให้เยื่อหูฉีกขาดหรือกระดูกหูหลุด จนทำให้สูญเสียการได้ยิน
6. อย่าตะโกนหรืออยู่ในที่มีเสียงดังมาก ๆ
สถานที่ที่มีเสียงดังหรือบริเวณที่มีเสียงอึกทึก เช่น บริเวณที่จัดงานมีเครื่องเสียงดัง ๆ เสียงเครื่องจักร เสียงเจาะถนน เป็นต้น เสียงดังเหล่านี้เป็นอันตรายต่อหูของลูกน้อยหรือแม้แต่คุณพ่อคุณแม่เองก็อาจ ได้รับอันตรายหากได้รับเสียงดังมากเกินไป
7. แมลงเข้าหู
หากบังเอิญมีแมลงเข้าหู สิ่งสำคัญของการปฐมพยาบาล คือ ห้ามแคะออก เพราะจะทำให้แมลงเข้าไปในหูลึกยิ่งขึ้น สิ่งที่ต้องปฏิบัติ คือ
– ควรใช้น้ำสะอาดหรือน้ำมันที่ปลอดภัย เช่น น้ำมันมะกอก หยอดลงในรูหู ทิ้งไว้สักครู่เพื่อให้แมลงตาย
– เอียงหูให้น้ำมันไหลออกมาพร้อมแมลง แล้วใช้สำลีเช็ดทำความสะอาด
– หากเป็นเวลากลางคืน อาจใช้วิธีปิดไฟในห้องให้มืด แล้วใช้ไฟฉายส่องเข้าไปในรูแสงไฟจะล่อแมลงออกมาได้
8. สังเกตอาการผิดปกติที่เกิดกับหู
อาการผิดปกติที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตได้ คือ หูอื้อ ปวดหู คันหู ซึ่งเจ้าหนูจะแสดงอาการโดยมักจะเอามือจับหู เกาหูบ่อย ๆ หากมีอาการปวดหูจะร้องโยเย เอามือจับหู ดึงหู ให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตว่า มีน้ำหนองหรือเลือดไหลออกจากหูหรือไม่ หรือการฟังเสียงลดลง เรียกแล้วลูกไม่ได้ยิน ไม่หันมามอง หากพบอาการเช่นนี้รีบไปพบคุณหมอโดยด่วนค่ะ เพราะอาจเกิดอาการแก้วหูทะลุหรืออักเสบ ต้องระวังอย่าให้น้ำเข้าหูขณะอาบน้ำ หรือสระผม ควรใช้สำลีอุดหูไว้ก่อน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
แพทย์เตือน อย่าใช้คอตตอนบัดปั่นหูลูก
ทำอย่างไรเมื่อลูกหายใจครืดคราด