คลายข้อสงสัย ภาวะแพ้รุนแรง ต่างจากการแพ้ธรรมดาอย่างไร?
ภาวะแพ้รุนแรงคืออะไร?
ภาวะแพ้รุนแรง เป็นการแพ้ชนิดที่รุนแรงที่สุด หากรักษาไม่ทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เกิดจากกลไกของร่างกายที่ตอบสนองต่อการได้รับสารก่อภูมิแพ้โดยแสดงอาการอย่างรุนแรง
อาการของภาวะแพ้รุนแรงเป็นอย่างไร?
อาการของภาวะแพ้รุนแรงสามารถเกิดอาการได้ทุกระบบของร่างกาย โดยเฉพาะผิวหนัง ทางเดินหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิตและหลอดเลือด ซึ่งควรต้องสงสัย หากอาการต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นในเวลาเป็นนาทีถึงชั่วโมงหลังจากได้รับสารก่อภูมิแพ้
#1 อาการของระบบหัวใจและหลอดเลือดได้แก่ เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม ความดันโลหิตต่ำ ช็อค
#2 อาการของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว
#3 อาการระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม หายใจเสียงดัง แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
#4 อาการของระบบผิวหนัง ได้แก่ ผื่นลมพิษ หนังตาบวม ปากบวม
โดยผู้ป่วยมักมีอาการในระบบต่าง ๆ ของร่างกายเหล่านี้ อย่างน้อย 2 ระบบขึ้นไป เช่น เป็นลม ร่วมกับมีผื่นขึ้น หรือมีแค่ความดันโลหิตต่ำเพียงอย่างเดียวหลังจากไปสัมผัสสารที่เคยมีประวัติแพ้ ก็จะได้รับการวินิจฉัยจากคุณหมอว่ามีภาวะแพ้รุนแรงได้
ซึ่งต่างจากอาการแพ้ธรรมดาที่ผู้ป่วยมักมีอาการเพียงระบบใดระบบหนึ่ง และอาการไม่รุนแรงค่ะ
สิ่งกระตุ้นให้เกิดภาวะแพ้รุนแรงได้บ่อยมีอะไรบ้าง?
สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดภาวะแพ้รุนแรงก็เหมือนกับสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ต่าง ๆ ค่ะ ที่พบบ่อยได้แก่
#1 อาหาร: นม ไข่ ถั่วลิสง แป้งสาลี ถั่วเหลือง ปลา
#2 ยา: ยากลุ่มเพนนิซิลลิน ซัลโฟนาไมด์ และยาสลบ
#3 วัคซีน: พบในผู้ที่แพ้ส่วนประกอบของวัคซีน
#4 ยาง เช่น ถุงมือยาง
#5 เลือด และส่วนประกอบของเลือด
#6 แมลงกัดต่อย เช่นผึ้ง ต่อ แตน มด
การดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะแพ้รุนแรงเบื้องต้นที่บ้านควรทำอย่างไร?
หลักการของภาวะแพ้รุนแรงคือผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาที่เร็วมิเช่นนั้นอาจจะช็อกหมดสติและเสียชีวิต ดังนั้นสิ่งที่ผู้ปกครองควรทำคือ
#1 หากมียา adrenaline ซึ่งเป็นยาที่คุณหมอจะให้กับผู้ป่วยที่เคยมีประวัติแพ้รุนแรงติดตัวไว้ รวมถึงฝึกฉีดด้วยตนเองหรือผู้ปกครองเพื่อช่วยชีวิตในกรณีเกิดอาการฉุกเฉิน ให้ช่วยผู้ป่วยฉีดยาเข้าที่กล้ามเนื้อต้นขาโดยเร็วที่สุด
#2 ถ้าผู้ป่วยหายใจลำบากและรู้ตัวดีก็ให้นั่ง แต่ถ้าเวียนศีรษะจากความดันต่ำควรให้นอนราบยกเท้าสูง
#3 ห้ามให้น้ำหรืออาหารแก่ผู้ป่วย
#4 เรียกรถพยาบาลฉุกเฉินหรือไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อทำการรักษาพยาบาลต่อไป
คุณหมอดูแลผู้ป่วยภาวะแพ้รุนแรงที่โรงพยาบาลต่อไปอย่างไร?
คุณหมอจะพิจาณาให้ยา adrenaline ในกรณีที่ยังไม่ได้มาจากบ้าน หรือจำเป็นต้องได้รับซ้ำ และให้ผู้ป่วยนอนสังเกตอาการต่ออย่างน้อยอีก 24 ชั่วโมงในโรงพยาบาล และให้ยาชนิดอื่น เช่นยาแก้แพ้ และยาต้านการอักเสบเพรดนิโซโลน และปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ในการหาสาเหตุของการเกิดอาการต่อไป
สิ่งสำคัญของภาวะแพ้รุนแรงก็คือผู้ป่วยจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้อย่างเคร่งครัด ผู้ป่วยและผู้ปกครองควรรู้ถึงอาการเบื้องต้นของภาวะนี้และพกยา adrenaline ที่คุณหมอให้ ไว้กับตัวผู้ป่วยตลอดเวลาค่ะ
The Asianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และในเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น The Asianparent ที่ติดตามการตั้งครรภ์ ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งานฟรี เพื่อติดตามพัฒนาการของทารก ตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุด และผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์ และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก The Asianparent เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง”
บทความที่เกี่ยวข้อง :
โรงพยาบาล พญาไท – ภูมิแพ้ในเด็ก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โพรไบโอติก เคล็ดลับดูแลสุขภาพลูกน้อยที่เป็น โรคภูมิแพ้ ป้องกันโรคติดเชื้อ ในโรงเรียน
อาการแพ้แค่เล็กน้อย ไม่เห็นจะเป็นไร อย่าให้ความไม่ใส่ใจ เป็นต้นเหตุให้ ลูกเป็นภูมิแพ้
วิธีป้องกันลูกน้อย จากสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน