กลายเป็นกระทู้ที่มีการพูดถึงเป็นอย่างมากของคุณพ่อนามว่า Neopaint2005 กับกระทู้ที่น่าสนใจอย่าง “เรื่อง เงิน ๆ ทอง ๆ ที่โรงเรียน (มักจะ) ไม่ได้สอน$” โดยเนื้อหานั้น เป็นการแชร์ประสบการณ์ตรงของตัวเอง ที่คุณพ่อคุณแม่ท่านอื่น สามารถใช้เป็นแนวทางหรือแบบอย่างได้ไม่ยาก วิธีการจะมีอะไร ทำยากหรือไม่ ไปอ่านเรื่องราวของคุณพ่อท่านนี้กันค่ะ
เพราะเล็งเห็นแล้วว่า การรู้จักบริหารเงินนั้น สำคัญขนาดไหน คุณพ่อจึงปลูกฝังให้ลูก รู้จักการออมเงินเสียตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งคุณพ่อท่านนี้ได้ลองสังเกตุดูจากแบบเรียนที่สอนในโรงเรียนของลูก ๆ แต่กลับเป็นที่น่าตกใจว่า แทบไม่มีวิชาไหน หรือ ช่วงไหน
ในโรงเรียน ที่ลูก ๆ ผมเรียน จะสอนวิชาเกี่ยวกับการใช้เงิน หรือ การบริหารจัดการเงิน แบบเป็นเรื่องเป็นราวบ้างเลย เท่าที่มีสอนใกล้เคียงก็เห็นจะเป็นวิชาสังคมศึกษา ที่จะมีสอนเกี่ยวกับ เศรษฐศาสตร์เบื้องต้นและ วิชา ประวัติศาสตร์ ที่จะสอนถึงหลักแนวทางเศรษฐพอเพียง ของในหลวง ร.9 แต่หลักที่สอนจะเป็นเนื้อหาแบบกว้าง ๆ ในแบบที่จับต้องไม่ได้ ทำให้ยากต่อการที่จะนำมาปฎิบัติในชีวิตจริงได้ โดยคุณพ่อและคุณแม่นั้น ได้เติบโตมาจากครอบครัวที่ทำการค้าขาย จึงเคยได้รับการสอนเรื่องเกี่ยวกับ เงิน ๆ ทอง ๆ มาตั้งแต่เด็ก พอถึงเวลาที่เรามีลูกบ้าง จึงนำแนวทางเหล่านี้มาปรับใช้ดูกับลูก ๆ ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น
1) ตอนลูก ๆ เล็กมาก เวลาพาไปห้างแล้วต้องกดเงินออกมาจาก ATM ผมจะพาลูก ๆ ไปดูเวลาที่ผมกดเงินออกมา และมักจะสอนลูก ๆ ว่า เงินที่กดออกมาจากเครื่องนี้มันไม่ได้ออกมาเฉย ๆ เวลาที่เรากดนะลูก คือเราต้องเอาเงินไปฝากใน ธนาคารก่อน เวลามีเงินในธนาคาร เราถึงจะกดเงินออกมาได้ เวลาไปฝากเงินในธนาคาร ผมมักจะพาลูก ๆ ไปด้วย แล้วเล่าให้เขาฟังว่า เราเอาเงินมาฝากไว้ก่อน เวลาเรากดเงินจะได้มีเงินออกมาจากเครื่องได้ไง … จริง ๆ ที่ผมสอนแบบนี้เพราะผมกลัวลูก ๆ ผมจะคิดว่าเงินหาง่าย แค่กด ๆตรงตู้เงินก็ออกมาแล้ว 555
2) พอลูก ๆ เริ่มเข้าโรงเรียน มีเงินค่าขนม ผมจะให้ลูก ๆ เก็บเงินที่เหลือจากค่าขนมมาหยอดลงกระปุก โดยผมเสนอให้ลูก ๆ ว่า เงินที่หยอดลง กระปุกเมื่อนับได้เท่าไหร่ ผมจะสมทบให้อีก 1 เท่า เช่นลูกหยอด 20 บาท ผมจะหยอดเพิ่มให้เขาอีก 20 บาท สรุป ลูก ๆ ผมจะมีเงินเหลือมา หยอดกระปุกทุก ๆ วันเลย พอหยอดแล้วเขาก็จะมาทวงเงินสมทบกับอย่างตื่นเต้น
3) เมื่อลูก ๆ โตขึ้นอีกหน่อย (ประมาณ ประถม 6- ม.ต้น) ช่วงตรุษจีน เด็ก ๆ จะชอบมาก ๆ พอได้เงินแต๊ะเอียมา 2 พี่น้อง ก็จะมานับซองที่ได้กัน หลังจากได้ยอดเงินมา ผมจะถามพวกเขาว่าอยากเก็บเงินที่ได้มาติดกระเป๋าไว้ใช้ซื้อของอะไรที่อยากได้ และ เท่าไหร่ เมื่อแบ่งจำนวนเงินเสร็จแล้ว ผมก็จะพาพวกเขาไปเปิดบัญชีที่ธนาคาร และให้พวกเขาเป็นคนนำเงินไปเขียนใบฝาก และ ฝากเข้าธนาคารเอง พวกเขาก็มักจะดูยอดเงินในสมุดเงินฝากกันอย่างตื่นเต้นและภูมิใจ
4) ผมเริ่มสอนลูก ๆ ให้รับผิดชอบเงินค่าขนมของตัวเองทีละนิด โดยเริ่มให้ค่าขนมลูก ๆ เป็นรายสัปดาห์ตอนเริ่มเข้า ม.1 ตอนแรกจะให้รายเดือน แต่เด็ก ๆ กลัวทำเงินหายทั้งก้อนแล้วจะอดกินข้าวทั้งเดือน เลยต่อรองขอเป็นรายสัปดาห์แทน ส่วนคนโตพออายุครบ 16 ทำบัตร ATM ได้แล้ว ผมให้ไปเปิด บช.บัตร ATM แล้วโอนเงินค่าขนมให้เขาเป็นรายเดือนไปกดใช้รับผิดชอบเอง หลาย ๆ เดือนพอเงินเขาเหลือเยอะใน ATM ก็จะถอนเงิน ออกมาฝากใน บช ฝากประจำ ที่ได้ดอกเบี้ยเยอะหน่อย
5) ลูก ๆ เริ่มโตขึ้น พอรู้เรื่องของดอกเบี้ย ก็จะคอยสอนเขาให้คำนวนผลตอบแทนดู และเริ่มแนะนำให้ลูกย้ายเงินจากบัญชีออมทรัพย์ธรรมดา มาเป็นแบบดอกเบี้ยสูง ตอนนี้ลูกเริ่มสนใจถึง สลากออมสิน โดยอยากจะลองซื้อเก็บในรูปแบบของสลากออมสินบ้าง
ตัวอย่างของ บช.ของลูกที่ปิดไป แล้วย้ายไปเปิด บช.ใหม่ที่ดอกเบี้ยเยอะกว่านะครับ
ปล. ผมเก็บ เล่ม บช ไว้ให้ลูก ๆ เผื่อตอนพวกเขาโตจะได้เห็นว่าเริ่มมีเงินหลักแสนแรกตอนไหน ^^
ช่างเป็นวิธีที่น่าสนใจจริง ๆ นะคะ แล้วสำหรับคุณพ่อคุณแม่ทางบ้านละคะ มีวิธีการสอนให้ลูกออมเงินกันอย่างไรบ้างเอ่ย ลองแชร์กันเข้ามากันเยอะ ๆ นะคะ
ที่มา: Post Today และ Pantip
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
วิธีสอนลูก ออมเงิน ตั้งแต่เด็ก โตไปจะได้ไม่ลำบาก