ภาวะมดลูกแตก เกือบตาย! สาเหตุและวิธีป้องกันภาวะเสี่ยง มดลูกแตกขณะตั้งครรภ์

ภาวะมดลูกแตก เป็นภาวะอันตรายที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และสามารถเกิดได้ในผู้หญิงทุกคน แต่ในคุณแม่ตั้งครรภ์นั้นมีความเสี่ยงมากกว่าแน่นอน เพราะเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของทารกในท้อง รวมถึงชีวิตคุณแม่เองด้วย

คุณแม่ตั้งครรภ์นั้นมีความเสี่ยงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ไทรอยด์เป็นพิษ ครรภ์เป็นพิษ และที่ต้องระวังคือ ภาวะมดลูกแตก ซึ่งอาจทำให้ทั้งแม่และลูกในท้องเสียชีวิตได้ บทความนี้จะทำให้คุณแม่เข้าใจมากขึ้น เกี่ยวกับสาเหตุของ มดลูกแตกขณะตั้งครรภ์ และสังเกตตัวเองดูว่ามีโอกาสเสี่ยงมากน้อยอย่างไร

  • ภาวะมดลูกแตก มดลูกแตกขณะตั้งครรภ์ คืออะไร
  • ปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะมดลูกแตก
  • ภาวะมดลูกแตกจะเกิดขึ้นตอนไหน
  • สัญญาณของภาวะมดลูกแตก
  • การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะมดลูกแตก
  • หากเคยเกิดภาวะมดลูกแตกมาก่อนแล้วจะสามารถตั้งท้องได้อีกหรือไม่

ภาวะมดลูกแตก มดลูกแตกขณะตั้งครรภ์ คืออะไร

ความสำคัญ ของการ นับลูกดิ้น การนับลูกดิ้นป็น สิ่ง สำคัญ และสิ่งที่พ่อควรทำ

มดลูกแตกขณะตั้งครรภ์ คือ ภาวะที่ผนังมดลูกแตกหรือปริออก ส่งผลให้ทารกในครรภ์และน้ำคร่ำหลุดออกมาจากมดลูก และทำให้ทารกเสียชีวิตได้ บางรายหากการแตกของมดลูกไปโดนเส้นเลือดใหญ่ก็อาจจะทำให้ผู้เป็นแม่เสียชีวิตได้ด้วย เนื่องจากมีเลือดเข้าไปสู่บริเวณช่องท้องเป็นจำนวนมาก

ภาวะมดลูกแตกนี้จัดเป็นภาวะที่อันตรายร้ายแรง แม้จะพบแค่เพียง 1 ใน 2,000 คนของคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่ก็เป็นภาวะวิกฤตที่อันตรายทั้งต่อตัวคุณแม่และทารกน้อย ซึ่งในระยะเริ่มต้นจะมีอาการมดลูกแข็งตัวผิดปกติก่อนแตก ซึ่งต้องหมั่นสังเกตและระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะมดลูกแตก

ความสำคัญ ของการ นับลูกดิ้น การนับลูกดิ้นป็น สิ่ง สำ คัญ และ สิ่งที่พ่อ ควรทำ

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะมดลูกแตกขณะตั้งครรภ์ ได้แก่

  1. แม่ท้องที่เคยมีประวัติมดลูกแตกมาก่อน แล้วมีการตั้งครรภ์ใหม่อีก
  2. แม่ท้องที่เคยผ่าตัดคลอดบุตร ยิ่งผ่าตัดคลอดบุตรหลายครั้ง ความเสี่ยงต่อภาวะมดลูกแตกก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น
  3. มีประวัติการผ่าตัดเนื้องอกมดลูก บริเวณที่ได้รับการผ่าตัดจะทำให้ผนังมดลูกบางลง
  4. ทารกในครรภ์อยู่ในท่าผิดปกติ เช่น ท่าขวาง
  5. เคยมีการขูดมดลูก ทำให้ผนังมดลูกบางลง ทำให้มีโอกาสเกิดมดลูกแตกได้เมื่อตั้งครรภ์
  6. ทารกในครรภ์ตัวใหญ่ มีการเจ็บคลอดที่ยาวนาน มดลูกบีบตัวมากขณะคลอด ทำให้มดลูกมีโอกาสแตกได้
  7. แม่ท้องที่ต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอด หรือทำหัตถการช่วยคลอด เช่น ใช้คีมช่วยคลอด หรือมีหัตถการเพื่อการหมุนเปลี่ยนท่าเด็กในครรภ์
  8. ได้รับอุบัติเหตุจนทำให้มีการกระทบกระแทกอย่างรุนแรงที่มดลูก

นอกจากนี้ การยืดขยายของมดลูกมากกว่าที่ควรจะเป็น ในรายที่ตั้งครรภ์แฝด บางรายได้รับยาเร่งคลอด ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้มดลูกแตกได้ ในปัจจุบันแม่ตั้งครรภ์กลุ่มหนึ่งที่เคยผ่าตัดคลอดมาก่อนในครรภ์ที่แล้ว เกิดอยากคลอดตามธรรมชาติในท้องปัจจุบัน ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดมดลูกแตกได้เช่นกัน ถ้าทารกในครรภ์มีขนาดใหญ่กว่าช่องเชิงกรานที่จะทำการคลอด

ภาวะมดลูกแตกจะเกิดขึ้นตอนไหน

ผศ.นพ.เมธาพันธ์ กิจพรธีรานันท์ ให้ข้อมูลไว้ว่า ภาวะมดลูกแตกมักเกิดขึ้นในขณะเจ็บครรภ์คลอด เนื่องจากมีการบีบตัวของมดลูก ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงดันกับตัวมดลูกโดยตรง ในบางกรณีที่ยังไม่มีการเจ็บครรภ์ก็อาจมีการแตกของมดลูกได้ เช่นการตั้งครรภ์ผิดที่ที่ผนังมดลูกบริเวณแผลผ่าตัดคลอดเดิม

มดลูกแตกขณะตั้งครรภ์นั้น ถือว่าเป็นภาวะวิกฤต จะส่งผลให้มีการเสียเลือดของมารดาเข้าไปในช่องท้อง อาจมีภาวะช็อค ซีด ปวดบริเวณท้องจากมีเยื่อบุช่องท้องอักเสบเฉียบพลัน ลูกไม่ดิ้นเนื่องจากทารกเสียชีวิตแล้ว หากวินิจฉัยได้เร็ว ต้องรีบผ่าตัดคลอดเพื่อช่วยเหลือทารกโดยด่วน พร้อมทั้งประเมินรอยแผลที่แตกของมดลูกว่าจะสามารถเย็บซ่อมแซมได้หรือไม่ หากรอยแผลใหญ่ เสียเลือดมากมากอาจถึงขั้นต้องผ่าตัดมดลูกออกด้วย

สัญญาณของภาวะมดลูกแตก

เจ็บท้องคลอด

สัญญาณของภาวะมดลูกแตกก็คือ แม่ท้องจะมีอาการเจ็บครรภ์มากผิดปกติ ร่วมกับอาการปวดทั่วท้องเฉียบพลัน มีอาการหน้ามืด เป็นลม ความดันโลหิตต่ำลง ซีดจากการเสียเลือด ลูกดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้นเลย โดยหากมดลูกแตกแล้ว แม่ท้องก็จะมีเลือดออกในช่องท้อง ถ้าเสียเลือดมาก ๆ อาจเกิดอาการช็อคได้

มดลูกแตก เป็นภาวะที่น่ากลัวและยากต่อการป้องกัน โดยการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ ควรฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ  หมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ อยู่เสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด

การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะมดลูกแตก

ถ้าไม่อยากให้มดลูกแตก ต้องป้องกันที่สาเหตุเป็นหลัก

1. ถ้าต้องรับการผ่าตัดมดลูก โดยการผ่าตัดเนื้องอกออก (เหลือมดลูกไว้) หรือผ่าตัดคลอดก็ต้องทำโดยแพทย์ที่มีความรู้ ความชำนาญ และต้องถามว่าต่อไปถ้าตั้งครรภ์ จะเกิดอันตรายหรือไม่ หรือต้องผ่าตัดคลอดอย่างเดียว

2. หลีกเลี่ยงการทำแท้งโดยเฉพาะการทำแท้งเถื่อน

3. กรณีที่เจ็บครรภ์ ก็ต้องรีบไปโรงพยาบาล หมอหรือพยาบาล จะได้มีโอกาสตรวจติดตามอาการ อย่างไรก็ตามบางกรณีที่มดลูกแตกก็วินิจฉัยได้ยาก บางครั้งเกิดเหตุฉุกเฉิน ในเวลาเพียงไม่กี่นาที ผู้ป่วยก็ช็อคหมดสติ เสียชีวิตได้เฉียบพลัน แม้อยู่ในโรงพยาบาล

หากเคยเกิดภาวะมดลูกแตกมาก่อนแล้วจะสามารถตั้งท้องได้อีกหรือไม่

ต้องดูความรุนแรงของอาการที่ผ่านมา ร่วมถึงการเย็บซ่อมแซมมดลูกที่แตกว่าเป็นอย่างไรและดีแค่ไหน โดยทั่วไปการตั้งครรภ์ซ้ำภายหลังที่มีประวัติว่าเคยมีภาวะมดลูกแตกมาก่อนส่วนใหญ่จะค่อนข้างเสี่ยง มีโอกาสที่มดลูกจะแตกซ้ำได้อีก อันนี้หมอจึงไม่ขอแนะนำให้ตั้งท้องอีกจะดีกว่า

สิ่งที่น่ากลัวของภาวะมดลูกแตกก็คือ เราไม่อาจจะรู้ได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เราจึงยากที่จะป้องกันภาวะนี้ได้ แต่สิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้เพื่อลดความเสี่ยงลงบ้างตามที่คุณหมอฝากคำแนะนำมาก็คือ คุณแม่ทั้งหลายเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ก็ควรไปฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ถ้ามีประวัติผ่าตัดคลอด หรือผ่าตัดมดลูก หรือมีประวัติที่มีความเสี่ยงอย่างอื่น เช่นประวัติการทำแท้ง ควรวางแผนให้มีการตั้งครรภ์ระยะห่างอย่างน้อยหนึ่งปีครึ่งถึงสองปี


theAsianparent Thailand

เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอปพลิเคชั่น theAsianparent ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งาน เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุดและผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว 

การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก theAsianparent เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง

เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง”

Credit รูปภาพจาก medicallegalblog.com

ที่มา : 1

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

จำความรู้สึกนั้นได้ไหม ลูกดิ้นครั้งแรกรู้สึกอย่างไร

อายุครรภ์ จริง ๆ แล้ว เค้านับกันอย่างไรถึงจะถูก

ฝันว่าท้อง หมายความว่าอะไร ทำนายฝัน ฝันเห็นอะไรจะได้ลูก

 

บทความโดย

P.Veerasedtakul