RSV ในเด็ก ไวรัสร้ายมหัตภัยเงียบ คุกคามชีวิตเด็กเล็ก

โรคติดเชื้อ RSV ในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ และโรคปอดเรื้อรัง อาจมีอาการป่วยที่รุนแรงมากขึ้น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บ้านไหนที่มีลูกวัยทารก และวัยเด็กเล็ก ต้องระวังสุขภาพให้ดี เพราะอาจถูกจู่โจมจากไวรัสร้ายที่เป็นมหัตภัยเงียบคุกคามชีวิต ซึ่งไวรัสร้ายตัวนี้ก็คือ ไวรัส RSV เป็นเชื้อโรคที่ทำให้ระบบทางเดินหายใจมีปัญหา หลอดลมฝอยอักเสบ ในเด็กเล็กและทารกหากได้รับเชื้อ RSV เข้าสู่ร่างกายจะมีอาการรุนแรงมากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า RSV ในเด็กอันตรายมากคุณพ่อคุณแม่จะปกป้องลูกน้อยจาก RSV ได้อย่างไร เพื่อลดโอกาสในการป่วยหนักให้กับลูกน้อย theAsianparent มีคำแนะนำมาให้ได้ทราบกันค่ะ 

สำหรับลักษณะของ RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus จะเป็นไวรัสที่มีเปลือกหุ้ม ความอันตรายของ RSV ไวรัสก็คือทำให้เกิดการติดเชื้อต่อระบบทางเดินหายใจทั้งระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง ซึ่งในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคปอดเรื้อรัง อาจมีอาการป่วยที่รุนแรงมากกว่าปกติ

RSV ในเด็ก – กลไกการติดต่อและแพร่กระจายของเชื้อ

คุณพ่อคุณแม่อาจสงสัย ลูกพึ่งคลอดได้เดือนสองเดือนอยู่บ้านไม่ได้ออกไปไหนจะติดเชื้อโรค เชื้อไวรัสก่อโรคอย่าง RSV ได้ยังไง ลูกสามารถติดได้จากคุณพ่อคุณแม่ พี่เลี้ยง เพื่อน ญาติพี่น้องที่แวะเวียนมาเยี่ยมลูกค่ะ เรา หรือคนรอบข้างเป็นปัจจัยแวดล้อมที่สามารถนำเชื้อไวรัสก่อโรคมาให้กับลูกน้อยได้ค่ะ และในเด็กเล็กที่ต้องออกนอกบ้านไปโรงเรียน เนอสเซอรี่ หรือสนามเด็กเล่น เป็นต้น ก็สามารถไปรับเชื้อก่อโรคมาจากสถานที่เหล่านี้ได้เช่นกันค่ะ

สำหรับเด็กที่ป่วยเป็น RSV จะแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนรอบข้างได้ 3-8 วันเลยนะคะ ไวรัส RSV สามารถติดต่อกันได้จากการไอ จาม โดยที่เด็กๆ ไปสัมผัสโดนกับน้ำลายหรือน้ำมูกของผู้ป่วย ซึ่งเชื้อ RSV จะผ่านเข้าสู่ร่างกายมาทางเยื่อบุตา จมูกและปาก ยังไม่หมดนะคะเพราะการรับเชื้อไวรัสร้ายตัวนี้เข้าสู่ร่างกายยังได้จากการสัมผัส ถ้าเด็กๆ ไปสัมผัสกับของเล่น ของใช้ ลูกบิดประตู ราวบันได ฯลฯ ที่มีการปนเปื้อนจากเชื้อไวรัส RSV แล้วเด็กๆ เอามือมาขยี้ตา หยิบจับอาหารเข้าปากโดยที่ไม่ได้ล้างมือให้สะอาดเสียก่อน ก็ทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายๆ เลยค่ะ 

อาการของ RSV ในเด็ก

อาการของ RSV ในเด็ก กับ โรคไข้หวัดธรรมดา อาการค่อนข้างที่จะคล้ายกัน แต่จะมีจุดสังเกตว่าไม่น่าใช่แค่ป่วยไข้หวัดธรรมดานั่นก็คือ 

ไข้หวัดธรรมดา จะมีไข้ไม่สูงมาก และ 2-3 วัน อาการป่วยก็จะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ถ้าเป็นไวรัส RSV เด็กๆ จะมีไข้สูง (39-40 องศา) ป่วยนานติดต่อกัน 5-10 วัน และนี่คืออาการ RSV ในเด็ก

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

อาการทั่วไปของ RSV ในเด็กเล็ก

  • น้ำมูกไหล
  • ไอ
  • จมูกอุดตัน
  • เจ็บคอ
  • ไข้
  • เบื่ออาหาร
  • เหนื่อยง่าย

อาการที่บ่งบอกว่าเด็กอาจป่วยหนัก

  • หายใจเร็ว หายใจลำบาก
  • หายใจเสียงดัง (wheezing)
  • ซี่โครงบุ๋ม
  • ริมฝีปากเขียวหรือซีด
  • ไม่ยอมกินนมหรือดูดนมอ่อนแอ
  • ซึม ไม่ร่าเริง

ระดับความรุนแรงของ RSV ในเด็ก

โรคติดเชื้อ RSV มีโอกาสป่วยได้ในทุกช่วงวัยค่ะ แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายที่สุดจะเป็นในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี หรือ ทารกคลอดก่อนกำหนด รวมถึงในกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และมีปัญหาในเรื่องภูมิคุมกันบกพร่อง ซึ่งหากเด็กๆ ได้รับเชื้อ RSV อาจมีอาการรุนแรงมากถึงขั้นเป็นหลอดลมฝอยอักเสบ มีภาวะปอดบวม มีไข้สูง ไอมีเสมหะ หายใจแรง หายใจหอบจนหน้าอกบุ๋ม หรือหายใจมีเสียงวี้ดๆ มีอาการซึม และตัวเขียว เป็นต้น 

จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่าในกลุ่มเด็กเล็กได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากเชื้อไวรัส RSV มากที่สุด  ซึ่งสถิติจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และศูนย์ความร่วมมือไทย – สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 – 8 มิถุนายน 2567 พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส RSV 1,226 ราย จากผู้ป่วยทางเดินหายใจ 19,179 ราย (ร้อยละ 6.39) 

  • อันดับหนึ่ง เด็กอายุระหว่าง 9 วัน – 87 ปี (อายุเฉลี่ย 2 ปี) ตรวจพบมากที่สุดในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี 573 ราย (ร้อยละ 46.74) 
  • อันดับสอง เด็กอายุ 2 – 5 ปี 472 ราย (ร้อยละ 38.50) 
  • อันดับสาม เด็กอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป 181 ราย (ร้อยละ 14.76) 

นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส RSV จำนวน 3 ราย ซึ่งคิดเป็นอัตราป่วยเสียชีวิต ร้อยละ 0.24 ในเด็กอายุต่ำสุด 1 ปี 8 เดือน

เด็กกลุ่มเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

ข้อมูลอ้างอิงทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเด็กแห่งชาติมหาราชินี ที่เตือนให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเฝ้าระวัง RSV ในเด็กเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคปอดเรื้อรัง เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือภาวะทุพโภชนาการ เนื่องจากหากเด็กๆ กลุ่มนี้ติดเชื้อไวรัส RSV จะมีอาการป่วยที่รุนแรงมาก คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตและดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากสังเกตพบว่ามีอาการผิดปกติขึ้น ได้แก่ ไม่กินนม รับประทานข้าวได้น้อยลง หรือมีอาการพร่องออกซิเจน จำเป็นต้องพาส่งโรงพยาบาลทันที 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

ในเด็กกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 1-2 ปี เด็กที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และในเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคปอดเรื้อรัง หากได้รับเชื้อ RSV นอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบนคือ จมูก คอหอย และระบบทางเดินหายใจส่วนล่างอย่างหลอดลม ปอด ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสหรือปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ซึ่งจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น ในผู้ป่วยบางรายที่เกิดการอักเสบขึ้นที่หลอดลมฝอยส่วนปลาย จะทำให้ต่อมน้ำเหลืองและเนื้อเยื่อบวมขึ้น สิ่งที่ตามมาคือเยื่อบุผิวทางเดินหายใจของหลอดลมฝอยส่วนปลายตายและหลุดออกมาปนกับเยื่อเมือก แล้วไปอุดตันระบบทางเดินหายใจ ซึ่งจะทำให้เกิดโรคปอดบวม ปอดอักเสบ และส่งผลทำให้เป็นโรคหอบหืดตามมาได้ค่ะ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการป่วยโรค RSV 

การเจ็บป่วยไม่สบายเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาค่ะ โดยเฉพาะโรคจากการติดเชื้อ RSV ในเด็กสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี และที่แพร่ระบาดหนักๆ จะเป็นช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว สำหรับเด็กที่ป่วย RSV ต้องใช้เวลารักษาในโรงพยาบาลนานเป็นสัปดาห์ หรือหากเกิดภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น ภาวะปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อ อาจต้องใช้เวลาในการอยู่โรงพยาบาลนานมากกว่าหนึ่งสัปดาห์ ถ้าเด็กในวัยเรียนจำเป็นต้องหยุดเรียนเพื่อพักรักษาให้หายจาก RSV เสียก่อน การป่วย RSV นอกจากจะกระทบต่อสุขภาพร่างกาย และการเรียนของลูกแล้ว ยังส่งผลกระทบไปยังคุณพ่อคุณแม่ ที่ต้องหยุดงาน ลางานสลับกันมาดูแลลูกที่โรงพยาบาล รวมถึงมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ค่อนข้างสูงอีกด้วยค่ะ

ปัจจุบันนี้ยังไม่มียาสำหรับใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อ RSV การรักษาทางการแพทย์ทำได้เพียงแค่การรักษาตามอาการของเด็กที่ป่วย ซึ่งในเด็กกลุ่มเสี่ยงอาจมีอาการป่วยจาก RSV ที่รุนแรงจนไม่สามารถประคองอาการให้ดีขึ้นได้ และอาจตามมาด้วยการเสียชีวิตได้ค่ะ ดังนั้นการปกป้องลูกน้อยเบื้องต้นที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้คือ ให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตั้งต้นที่แข็งแรงให้กับร่างกายของลูกน้อย จากนั้นให้ลูกได้รับการฉีดวัคซีนตามวัย รวมถึงการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาความสะอาดของร่างกาย อาบน้ำสระผม และล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ และก่อนหยิบอาหารเข้าปาก ฝึกลูกให้เป็นนิสัย ก็สามารถช่วยให้ปลอดภัยจากไวรัสร้าย RSV ได้ในระดับหนึ่งค่ะ 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

และหากคุณพ่อคุณแม่มือใหม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคติดเชื้อ RSV ในเด็ก สามารถปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือคลินิกใกล้บ้าน หรือ เช็ก อาการเบื้องต้น พร้อมคำแนะนำในการดูแลสุขภาพให้กับลูกน้อย ได้ที่ https://www.oaziscare.com/
#RSV 

#TH-19437  

#ปอดจิ๋วปลอดภัยห่างไกลRSV

#ProtectTinyLungs

 

Reference:

RSV ไวรัสร้ายใกล้เจ้าตัวน้อย, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ 

เตือนภัย ไวรัส RSV โรคระบาดที่อาจคร่าชีวิตลูกน้อย, โรงพยาบาลนครธน   

แพทย์แนะไวรัส RSV มักระบาดในช่วงหน้าฝน, โรงพยาบาลเด็กแห่งชาติมหาราชินี 

กรมควบคุมโรค เตือนเข้าสู่ฤดูฝนหวั่นเด็กเล็กป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV), กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ไวรัส อาร์เอสวี (RSV), คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล 

RSV กับโรคหืด,  โรงพยาบาลบีเอ็นเอช

 

 

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความโดย

theAsianparent Editorial Team