ความหมายของ “ลูกทรพี” ตามพจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ลูกอกตัญญูที่ทำร้ายพ่อแม่ของตนเอง ซึ่งไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากเจอ หรืออยากเลี้ยงลูกให้กลายมาเป็นคนแบบนี้
โดย ศ.นพ. วิทยา นาควัชระ ได้ยกกรณีศึกษาของ 2 ครอบครัว พร้อมเล่าประสบการณ์ที่ได้รับมาเพื่อจะได้เป็นตัวอย่างและอุทาหรณ์สำหรับการเลี้ยงลูกให้กับพ่อแม่ยุคใหม่ ไม่ให้อีกหลายครอบครัวต้องพบเจอในเหตุการณ์ที่คล้าย ๆ กับเรื่องนี้
ครอบครัวแรก พ่อแม่ดีมีการศึกษา พ่อจบปริญญาเอก แม่จบปริญญาโท การงานดี ฐานะการเงินดี แต่ทำงานหนัก ทั้งคู่มีลูกชาย 2 คน คนโตอายุ 14 ปี คนเล็กอายุ 9 ปี ลูกทั้งคู่ดูเหมือนจะน่ารักมาตลอด ได้เรียนในโรงเรียนที่มีชื่อมากแห่งหนึ่ง ถึงแม้การเรียนไม่เก่ง แต่เข้าสังคมได้ พูดเก่ง กีฬาเก่ง
ภายหลังพ่อแม่เริ่มปวดหัว ลูกเริ่มไม่เชื่อฟังคำสั่งสอน ลูกคนโตเริ่มก้าวร้าว พ่อแม่ว่าอะไรก็เถียง หรือไม่สนใจ ครั้งล่าสุด ลูกชายเถียงยอกย้อนพ่อ เถียงจนพ่อทนไม่ไหวเอามือตีลูกชาย 1 ที ลูกลุกขึ้นมาเตะพ่อ 1 ที แล้วผลักพ่อแถมเดินหนีออกจากบ้านไปเลย
เหตุการณ์นี้ผู้เป็นพ่อได้บอกว่า เป็นเพราะไม่เคยลงโทษลูกมาก่อนเลย จึงไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะตั้งใจว่าจะเลี้ยงลูกด้วยการไม่ลงโทษเลย ครั้นเมื่อลูกเริ่มโตและเห็นว่าลูกทำผิดเรื่อย ๆ ไม่ยอมอยู่ในโอวาท พอเริ่มมาลงโทษลูกตอนนี้ ลูกก็ไม่ยอมรับ แถมยังสู้กลับทำร้ายพ่อ และหนีไปเฉย ๆ จะให้สู้กับลูกก็ทำไม่ได้
ครอบครัวที่สอง พ่อเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แม่เป็นหมอ ทำงานหนักทั้งคู่ มีลูกชายอายุ 13 ปี ไม่ชอบเชื่อฟังพ่อแม่ ล่าสุดแม่เผลอไปเอ็ดลูกมาก จนลูกชายโมโหเอาไม้ตีตัวแม่แตก และหนีออกจากบ้าน พ่อแม่ทำอะไรไม่ถูกเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาก็ทั้งคู่ไม่เคยลงโทษลูกเลย
คุณหมอวิทยา นาควัชระ ได้แจงว่าจากกรณีตัวอย่างของทั้งสองครอบครัวนี้ ได้แสดงให้เห็นว่าเด็กได้เติบโตมาในครอบครัวที่ไม่ได้สร้างวินัยให้กับลูกตั้งแต่เล็ก ๆ ถึงโตขึ้นมาด้วยร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง สังคมดี พูดเก่ง กีฬาเก่ง อาจจะเรียนเก่ง แต่ขาดวินัยกับตัวเอง ไม่มีการยอมรับกติกาของสังคม ของครอบครัว ของพ่อแม่ ซึ่งถ้าเติบโตต่อไปก็จะไม่ยอมรับกติกาของสถาบันการศึกษา ของที่ทำงาน หรือแม้แต่กฏหมายบ้านเมือง อนาคตข้างหน้าก็อาจอยู่ยากในสังคม ทั้งที่ทำงาน ครอบครัวของตนเอง ทุกอย่างยากไปหมด แม้กระทั่งการใช้ชีวิตด้วย หากทำผิดกฏหมายก็อาจอ้างว่า “ทำโดยไม่ได้เจตนา”
สาเหตุที่เด็กมีพฤตกรรมแบบนี้เป็นเพราะพ่อแม่ไม่เคยลงโทษเมื่อเด็กทำผิดตั้งแต่เล็ก ๆ ไม่มีการชมเชย หรือให้รางวัลเมื่อลูกทำดีในสิ่งที่น่าชื่นชม คุณหมอกล่าวว่า เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว มีความเชื่อเรื่องการเลี้ยงลูกโดยไม่มีการลงโทษทางกาย พ่อแม่หลากหลายอาชีพในระดับที่มีความรู้สูง เชื่อว่าการเลี้ยงลูกโดยการไม่ตีหรือลงโทษ แต่บอกให้ลูกได้คิดเอง จะทำให้เด็กมีอิสระในการแสดงออก
แต่แนวความคิดนี้คุณหมอกลับไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อว่า การถูกตีหรือการถูกลงโทษในทางกายเมื่อลูกทำผิดตั้งแต่เล็ก ๆ นั้น จะทำให้เด็กตระหนักและรับรู้ถึงบทบาทของการลงโทษได้ดีกว่าและเร็วกว่าการลงโทษทางจิตใจและทางสังคม เพราะเด็กนั้นเล็กเกินไปที่จะเข้าใจว่าที่พ่อแม่ไม่ลงโทษเพราะอยากให้คิดเอง แต่กลับจะได้ใจด้วยซ้ำ ……”จำไว้ ถ้าคุณไม่ลงโทษลูกของคุณเมื่อทำผิด สักวันหนึ่งสังคมจะลงโทษลูกของคุณ ซึ่งจะเจ็บยิ่งกว่าที่คุณลงโทษเขาเสียอีก”
สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องให้ความร่วมมือด้วย ไม่ต้องรอให้ถึงขั้นกรณีตัวอย่างดังกล่าว เพราะจะเจ็บด้วยกันหมดพ่อ แม่ ลูก แต่ควรตั้งใจอบรมลูกให้เริ่มต้นมีวินัยตั้งแต่เด็ก ๆ กันดีกว่า เพื่อที่จะไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลังว่าได้ “เลี้ยงลูกผิด” และกลายเป็นบาปบริสุทธิ์ชนิดหนึ่ง หรืออย่างที่ชาวบ้านเขาเรียกกันว่า เป็นการเลี้ยงลูกให้เป็นทรพีโดยไม่เจตนาก็ได้.
ที่มา : www.manager.co.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
7 คำถามของพ่อแม่ถ้าอยากเลี้ยงลูกให้ประสบความสำเร็จ
“โรคติดหรู” ผลกระทบจากการเลี้ยงลูกแบบวัตถุนิยม