ป้องกันลูกน้อยจากพิษสารตะกั่ว
ป้องกันลูกน้อยจากพิษสารตะกั่ว
ลูกได้รับสารตะกั่วจากไหน?
• จากอาหารที่รับประทาน โดยมีอาหารบางชนิดนั้นมีปริมาณตะกั่วสูงกว่าอาหารชนิดอื่นๆ เช่น อาคารที่มีรสเค็มจัด ปลาบางชนิด อาหารกระป๋อง กุนเชียง กุ้งแห้ง เป็นต้น
• จากสีทาบ้าน สีทาของเล่นเด็ก สีทาเครื่องเล่น
• จาน ชาม ที่เป็นเครื่องปั้นดินเผา เซรามิกที่มีสีสันสดใสหรือไม่ได้มาตรฐาน
• ถุงกระดาษที่นำมาใช้ทำเป็นถุงใส่อาหาร เช่น ถุงใส่ลูกชิ้น ถุงใส่กล้วยทอด
• รับผ่านอาหารทางรกจากแม่ ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ของแม่
สารตะกั่วส่งผลร้ายอย่างไร?
• เมื่อเด็กได้รับพิษสารตะกั่ว จะส่งผลร้ายอย่างมากต่อพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและพัฒนาการทางด้านสมอง
• ยิ่งหากได้รับสารตะกั่วในช่วงที่สมองกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา ก็ยากที่จะทำให้กลับไปมีสภาวะปกติได้ตามเดิม
• และหากเด็กได้รับสารตะกั่วในปริมาณที่สูงหรือได้รับสารตะกั่วเป็นประจำ จะส่งผลเสียอย่างหนักต่ออวัยวะภายในร่างกาย ทั้งสมองและตับ จนถึงขั้นเกิดอาการชักและเสียชีวิตได้ในที่สุด
• รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์เองก็ต้องระมัดระวัง หลีกเลี่ยงสารตะกั่ว เพราะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด หรือถึงขั้นแท้งบุตรเลยก็ได้
• และเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 ปีนั้นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการรับพิษจากสารตะกั่ว โดยเด็กวัยนี้ร่างกายสามารถรับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายได้มากถึง 50% ในขณะที่ผู้ใหญ่รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายได้แค่ 10-15%
วิธีป้องกันป้องกันลูกน้อยจากพิษสารตะกั่ว
• คุณแม่ควรเลี่ยงการทานอาหารที่มีตะกั่วปนเปื้อนสูงตั้งแต่ตั้งครรภ์
• ให้เด็กๆ ล้างมือบ่อยๆ ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและล้างมือทุกครั้งหลังออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน
• ใช้สีน้ำทาผนังบ้านแทนสีน้ำมัน และเลือกสีที่มีปริมาณตะกั่วปนอยู่ไม่เกิน 90-100 ppm
• ให้ทารกดื่มนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 6 เดือน เพื่อลดโอกาสในการรับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายตั้งแต่เด็ก
• ให้เด็กๆ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักใบเขียวและผลไม้ ที่จะช่วยให้ร่างกายรับสารตะกั่วได้น้อยลง
ข้อมูลจาก นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา และ รศ.พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร จากการเสวนาในงาน “รวมพลังปกป้องเด็กไทย ห่างไกลพิษสารตะกั่ว” ณ วันที่ 25 กันยายน 2557 สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี