Probiotic (โพรไบโอติก) คืออะไร?
Probiotic โพรไบโอติกไม่ใช่ Antibiotic หรือยาปฏิชีวนะ กล่าวคือยาปฏิชีวนะมุ่งเน้นไปที่สารที่นำเข้าสู่ร่างกายคนแล้วจะไปฆ่าหรือลดจำนวนแบคทีเรียในร่างกายลง ในขณะที่โพรไบโอติกคือจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ พบอยู่ในระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่ช่องปาก ไปจนถึงลำไส้ มีชื่อที่คุ้นหู เช่น lactobacillus , bifidobacteria เป็นจุลินทรีย์ที่ช่วยสร้างวิตามิน หรือกรดอะมิโนบางอย่างที่ร่างกายต้องการ นอกจากนี้ โพรไบโอติกยังพบได้ในอาหารเช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต และอาหารประเภทหมักดองที่มีรสเปรี้ยว
เมื่อเรารับประทานอาหารดีๆ เข้าไป ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ร่างกายเราได้รับสารอาหารเท่านั้น แต่อาหารบางอย่างที่เราไม่ได้ใช้ แต่แบคทีเรียชอบ อย่างกลุ่มสารอาหารที่เรียกว่า Prebiotic หลายชนิดนั้น ก็จะกลายเป็นเสบียงอาหารให้กับเหล่าแบคทีเรียที่อาศัยอยู่กับเรา
แบคทีเรียที่เป็นผู้เช่าที่ดี เมื่อได้อาหารดีๆ ไปบริโภคบำรุง ก็จะตอบแทนเราด้วยการช่วยย่อยอาหาร ช่วยทำความสะอาดบ้าน ในที่นี้คือหากมีสารพิษสารเสียอะไร หรือมีแบคทีเรียเกเรเข้ามาอาละวาดในท้องไส้ของเรา เขาก็จะช่วยกันจัดการให้เราได้ อีกทั้งแบคทีเรียหลายชนิดก็ยังจ่ายค่าเช่ากับเราเป็นสารอาหารที่เป็นวิตามิน และสารอาหารที่ย่อยแล้วให้กับเราอีกด้วย
ประโยชน์ของโพรไบโอติกที่มีต่อร่างกาย
โพรไบโอติกช่วยให้ร่างกายย่อยและดูดซึมสารอาหารต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ไปจนถึงช่วยลดการอักเสบและขจัดสารพิษสารเสียบางอย่างในลำไส้ให้กับเรา
ซึ่งหากร่างกายมี โพรไบโอติก ในระบบลำไส้อย่างเพียงพอ ก็จะเป็นเชื้อประจำลำไส้ที่คอยป้องกันไม่ให้แบคทีเรียร้ายก่อโรคเข้ามารุกรานร่างกายของเราได้ง่ายๆ ในอีกทางหนึ่งด้วย
นอกเหนือไปจากการเพิ่มประชากรของแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ของเราด้วยการรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกแล้ว อย่าลืมว่าถ้าประชากรของเราอดอยากเพราะอาหารไม่เพียงพอ ก็เป็นการยากที่แบคทีเรียเหล่านี้จะเพิ่มจำนวนขึ้นได้ ดังนั้นการรับประทานสารอาหารกลุ่ม Prebiotic ซึ่งเป็นอาหารที่เหล่าแบคทีเรียดีๆ ชื่นชอบ ร่วมกับโพรไบโอติก ก็จะเป็นการเพิ่มประสิทธิผลของโพรไบโอติกให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตามในเชื้อจุลินทรีย์ Lactic acid bacteria ด้วยกัน ยังมีสายพันธุ์แยกย่อยที่มีสรรพคุณจำเพาะต่อสุขภาพอีกด้วย การเลือกรับประทานโพรไบโอติกสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับร่างกายก็จะเป็นการส่งเสริมสุขภาพที่เหมาะกับแต่ละคนไป
ข้อคิดทิ้งท้ายของหมอกับเรื่องของการดูแลสุขภาพก็คือ การดูแลสุขภาพที่ได้ผลในระยะยาวควรเป็นแบบองค์รวม คือนอกจากการเลือกรับประทานอาหารครบส่วนในสัดส่วนที่สมดุล หลีกเลี่ยงอาหารปนเปื้อนสารพิษ กินผักผลไม้ให้ได้สารต้านอนุมูลอิสระเพียงพอ ไปจนถึงการเสริมอาหาร Prebiotic – Probiotic แล้ว ก็อย่าลืมการออกกำลังกาย การผ่อนคลายความเครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ เด็กๆควรนอนแต่หัวค่ำ ด้วย หากทำได้ครบถ้วนคุณก็จะมีสุขภาพดีได้ไม่ยากค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
พญ.กอบกาญจน์ ไพบูลย์ศิลป
แพทย์ธรรมชาติบำบัด จาก Venita clinic
Reference:
Tiptiri-Kourpeti A, Spyridopoulou K, Santarmaki V, Aindelis G, Tompoulidou E, Lamprianidou EE, et al. (2016) Lactobacillus casei Exerts Anti-Proliferative Effects Accompanied by Apoptotic Cell Death and Up-Regulation of TRAIL in Colon Carcinoma Cells. PLoS ONE11(2): e0147960. doi.org/10.1371/journal.pone.0147960