แม้โรคไตจะดูเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบัน เด็ก ๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคไตเช่นกัน โดยเฉพาะโรคไตเรื้อรังที่พบมากขึ้น หนึ่งในสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการกิน เหมือนกับกรณีตัวอย่างที่น่าตกใจ เด็กนักเรียนวัยเพียง 12 ปี ไตเสื่อมจนต้องฟอกไตตลอดชีวิต สันนิษฐานว่ามาจากการทาน “เมนูโปรด” เป็นประจำทุกวัน พร้อมเผยเคล็ดลับแนวทางการป้องกัน โรคไตเรื้องรัง ได้ง่าย ๆ
เด็กเป็น โรคไตเรื้อรัง ได้อย่างไร?
สาเหตุสำคัญของโรคไตในผู้ใหญ่มักเกิดจากการเป็นโรคเรื้อรังที่มีผลต่อไต เช่น เบาหวาน ความดันสูง แต่สาเหตุของโรคไตในเด็กจะแตกต่างกันตามช่วงอายุ คือ เด็กเล็ก มักเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างของไตและระบบทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด เช่น ภาวะอุดกั้นของระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะปัสสาวะไหลย้อน ภาวะเนื้อไตผิดปกติแต่กำเนิดซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็นต้น ส่วนในเด็กโต มักเกิดจาก ภาวะไตอักเสบ ซึ่งอาจเกิดภายหลังการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลำคอหรือผิวหนัง หรือเกิดจาก โรคเอสแอลอี (SLE) หรือกลุ่มอาการเนโฟรติก (nephrotic syndrome)
โรคไตในเด็ก การพิจารณาจะแบ่งตามช่วงอายุ ได้แก่ อายุ 0-5 ปีและอายุ 5 ปีขึ้นไป ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคไตที่พบบ่อยมี 2 สาเหตุ ได้แก่
- ความผิดปกติของโครงสร้างไตแต่กำเนิด ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ในครรภ์มารดา โดยมีการพัฒนาไตที่ผิดปกติ
- การดูแลที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ
ในเด็กวัย 5 ปีขึ้นไป มักเกิดภาวะไตอักเสบ ซึ่งมีหลายสาเหตุด้วยกัน ที่พบบ่อยคือการซื้อยามากินเอง เมื่อมีอาการเจ็บคอหรือผิวหนังเกิดการติดเชื้อ ส่งผลให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงและเกิดการทำลายไตตัวเอง ทำให้ไตอักเสบกลายเป็นโรคไตในที่สุด
ความสำคัญของโรคไตคือการรักษาได้เร็วและทันท่วงที แต่ส่วนหนึ่งพบว่าโรคไตบางอย่างไม่แสดงอาการทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวและพบแพทย์ช้า เกิดภาวะโรคไตเรื้อรังตามมาซึ่งรักษาได้ยาก หากเข้าสู่ภาวะโรคไตเรื้อรังแล้วจะทำให้ไม่สามารถรักษาได้หายขาด แต่การรักษาจะเป็นเพียงประคับประคองอาการให้สามารถใช้ชีวิตได้ปกติเท่านั้น และถ้าหากรักษาไม่ทันการจะทำให้เกิดภาวะไตวายและเสียชีวิตได้ในที่สุด
สิ่งที่ควรระวังสำหรับโรคไตในเด็ก คือภาวะอ้วนในเด็กซึ่งมาจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูของผู้ปกครองในยุคนี้ ปัจจุบันพบว่าปัญหาโรคไตในเด็กคือการทานอาหารของเด็ก ที่มีพฤติกรรมไม่ดีต่อสุขภาพนัก เช่น การรับประทานของมัน ของเค็ม หรือของหวานจัดเกินไป ทำให้อ้วนและเกิดความดันโลหิตสูง นำมาซึ่งภาวะไตเสื่อม สาเหตุนี้สามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู รวมถึงการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป กรณีที่ผู้ปกครองไม่รู้ว่าเด็กขับถ่าย จึงทำให้เกิดการหมักหมมของอุจจาระ สามารถทำให้เกิดโรคไตได้ในอนาคตเช่นกัน ผู้ปกครองควรระวังหากใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ในเรื่องของการดูแลความสะอาดก้นเด็กอย่างสม่ำเสมอ
เคสเตือนใจ! เด็กอายุ 12 เป็น โรคไตเรื้อรัง ต้องฟอกไตตลอดชีวิต สาเหตุจาก “เมนูโปรด” กินตั้งแต่ ป.2
นพ.หง หย่งเซียง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต ได้ออกมาเผยเคสเตือนใจผ่านรายการ “If Cloud Knows” เกี่ยวกับกรณีที่มีนักเรียนชายที่มารักษาตัวด้วยโรคไตเรื้อรัง ทำให้น้องต้องเริ่มฟอกไตตั้งแต่อายุ 12 ปี ที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังจนต้องเข้ารับการฟอกไตเป็นประจำ โดยสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการทานอาหาร
จากการสอบถามข้อมูล พบว่า เด็กชายมักซื้อ “สเต็กไก่ทอด” ทานเป็นอาหารว่างหลังเลิกเรียนเป็นประจำ โดยในหนึ่งปี เด็กชายได้ทานสเต็กไก่ทอด ไปแล้วถึง 200 ชิ้น นพ.หง หย่งเซียง อธิบายว่า โดยปกติแล้วอาหารประเภทอย่างสเต็กไก่ทอด มักประกอบไปด้วยไขมัน น้ำตาล เกลือ ซึ่งเป็นตัวการของปริมาณแคลอรี่ที่สูง นอกจากนี้ ไก่ทอดบางร้าน มักใช้น้ำมันเก่าในการทอดอาหารซ้ำหลายครั้ง ซึ่งน้ำมันเหล่านี้มีสารก่อมะเร็งสะสมอยู่สูง เช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ไอโซไซคลิกเอมีน (HCAs) อะคริลาไมด์ (acrylamide) และโลหะหนัก ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง โดยเฉพาะในเด็กที่ร่างกายยังอยู่ในช่วงเจริญเติบโต ทั้งนี้เด็กชายก็ต้องทำการฟอกไตไปตลอดชีวิตตั้งแต่อายุ 12 ปี
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่อย่าปล่อยให้ลูกติดอาหารรสจัด ของทอด ของมัน มากจนเกินไป ควรเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อ ป้องกันภาวะโรคไตเรื้อรังในลูกน้อยของคุณ เริ่มได้ที่พ่อแม่
เมื่อไรจึงควรสงสัยว่าเด็กอาจเป็นโรคไต?
อาการผิดปกติดังต่อไปนี้ อาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคไตในเด็ก ได้แก่ ตาหรือหน้าบวมหลังตื่นนอน บวมทั้งตัว มีความผิดปกติของปัสสาวะเช่น ปัสสาวะเป็นสีแดงหรือสีน้ำล้างเนื้อ ปัสสาวะมีฟองมาก ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด ออกกระปริบกระปรอย บางรายจะออกมากหรือน้อยกว่าปกติ และมีอาการผิดปกติอื่นๆแบบเรื้อรัง เช่น ดูซีด เหนื่อยง่าย หรือตัวเล็กกว่าปกติ
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกมีอาการผิดปกติต่างๆ เหล่านี้ก็อย่ารอช้านะคะ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที เพื่อการวินิจฉัยโรคและการรักษาอย่างเหมาะสม
โรคไตในเด็กที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องจะส่งผลอย่างไร?
หากเด็กเป็นโรคไตแล้วไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง เหมาะสม จากเดิมที่อาจเป็นเพียงโรคไตชนิดเฉียบพลัน รักษาหายสนิทได้ ก็จะกลายเป็นโรคไตเรื้อรัง และเข้าสู่ภาวะ “ไตวายเรื้อรัง” ได้ ซึ่งภาวะนี้จะส่งผลให้เด็กเจริญเติบโตช้า ตัวเล็กกว่าปกติ เพราะ ความผิดปกติของเกลือแร่ หรือฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต ร่างกายขาดสารอาหาร หากเด็กมีภาวะไตวายเรื้อรังในระยะสุดท้าย ก็จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการล้างไต เช่นเดียวกับผู้ใหญ่
การรักษาโรคไตในเด็ก แพทย์จะทำการรักษาไปตามอาการ
- กรณีของโรคไตแต่กำเนิด โดยทั่วไปมักมาจากการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ สามารถรักษาได้โดยการติดตามอาการ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม บางรายอาการดีขึ้นได้เมื่อเติบโตขึ้น แต่บางรายหากอาการรุนแรงมากอาจต้องได้รับการผ่าตัด
- กรณีติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ รักษาได้ด้วยวิธีการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมกับเชื้อ โดยแพทย์จะให้ยาผู้ป่วยตามระยะเวลาที่เพียงพอต่อการรักษา ก็สามารถทำให้หายขาดได้
- กรณีของภาวะไตอักเสบ หากติดเชื้อและไม่รักษาให้ดีตั้งแต่ต้น จะทำให้ไม่สามารถรักษาได้หายขาดแต่จะเป็นการประคับประคองอาการเท่านั้น สำหรับวิธีการรักษาอาจใช้ยาในช่วงที่อาการรุนแรง
- กรณีของโรคเอชแอลอีหรือโรคพุ่มพวง การรักษาจำเป็นต้องใช้ยากดภูมิต้านทาน
วิธีการเฝ้าสังเกตอาการโรคไตในเด็ก หากพบว่าเด็กมีอาการตาหรือหน้าบวมหลังตื่นนอน หรือมีสีของปัสสาวะที่ผิดปกติ ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ หากสามารถพาไปพบแพทย์ได้เร็ว จะทำให้การรักษาได้ผลดี ป้องกันภาวะไตอักเสบที่นำไปสู่ไตเรื้อรังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เคล็ดลับวิธีห่างไกลจาก โรคไตเรื้อรัง ในเด็กมีอะไรบ้าง?
เพื่อไม่ให้เด็ก ๆ ต้องป่วยเป็นโรคไตชนิดที่สามารถป้องกันได้ หมอขอแนะนำเคล็ดลับวิธีห่างไกลจากโรคไตในเด็กดังนี้ค่ะ
- เริ่มตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ คุณแม่ควรฝากครรภ์กับคุณหมอและตรวจติดตามอาการของลูกในครรภ์เสมอ รวมทั้งไม่ใช้ยาที่อาจมีผลต่อลูกในครรภ์
- คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการแสดงของโรคไต ถ้าพบความผิดปกติควรพามาพบคุณหมอทันที
- ควรป้องกันไม่ให้ลูกติดเชื้อทางเดินปัสสาวะด้วยการรักษาสุขอนามัยในการถ่ายปัสสาวะ เช่น ทำความสะอาดทุกครั้งหลังปัสสาวะ ไม่กลั้นปัสสาวะ ถ่ายปัสสาวะออกจนสุดโดยไม่เร่งรีบ
- เมื่อลูกเจ็บป่วยควรหลีกเลี่ยงการซื้อยากินเองเพราะยาบางชนิดอาจมีพิษต่อไตได้
- ให้ลูกดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ ถ้ามีการสูญเสียน้ำ เช่น ท้องเสีย อาเจียนต้องให้ดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทน ถ้าท้องเสียรุนแรงต้องรีบพบคุณหมอเพื่อให้สารน้ำทางเส้นเลือด
- สุดท้าย ควรระวังอย่าให้ลูกอ้วน โดยหลีกเลี่ยงกินอาหารจุบจิบ หวานมัน เค็ม และออกกำลังกายสม่ำเสมอนะคะ
เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น The Asianparent ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งาน เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุดและผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว
ที่มา : siphhospital, sanook
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
พบ! เด็กไทยเป็นโรคไตมากขึ้น! ผลจากขนมซองและฟาสต์ฟู้ด
อาหารสำหรับคนท้อง อาหารบํารุงครรภ์ไตรมาส2 อาหารที่แม่ท้องควรกิน!
อาการโรคไตวาย วิธีรักษาโรคไต เรื่องควรรู้เกี่ยวกับอาการไตวาย