PRE 9+ GOLD MOM CLINIC : EP.3 การตั้งครรภ์ จุดเริ่มต้นความมหัศจรรย์ของครอบครัว โดย พญ.นพรัตน์ ไชยบูรณะพันธ์กุล สูตินรีแพทย์ประจำ รพ. พญาไท 3

ในบทความ EP.1 เรามาพร้อมกับสาระสำคัญเรื่อง สร้างมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต ด้วยสารอาหารสำคัญที่ลูกขาดไม่ได้ และต่อด้วย EP.2 ในเรื่อง ไม่อยากให้ลูกขาดสารอาหาร ต้องเติมเต็มโภชนาการตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้เกี่ยวกับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แล้ว แต่ใน EP.3 จะเป็นสาระที่เกี่ยวกับการมีบุตรยาก โดย พญ.นพรัตน์ ไชยบูรณะพันธ์กุล สูตินรีแพทย์ประจำ รพ. พญาไท 3

การตั้งครรภ์ เป็นจุดเริ่มต้นของการให้ชีวิตใหม่ ซึ่งสำหรับหลาย ๆ คน การมีลูกก็เป็นสิ่งเติมเต็มให้ครอบครัวสมบูรณ์ มีพ่อ แม่ ลูก อย่างพร้อมหน้า แต่ด้วยสังคมปัจจุบันที่คู่รักแต่งงานกันช้าลง เพราะต้องทำงานสร้างรากฐานให้พร้อมก่อนมีลูก ทำให้อายุจึงเพิ่มมากขึ้น บวกกับปัจจัยด้านอื่น ๆ ที่ทำให้มีลูกยาก จนต้องพึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อให้ได้ลูกสมปรารถนา อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำแบบนั้นได้ เพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูงตามมา ดังนั้น จะดีกว่าไหม หากเราสามารถป้องกันความเสี่ยงมีบุตรยาก และเพิ่มโอกาสด้วยวิธีธรรมชาติ ซึ่งเรามีแนวทางมาฝากภายในบทความนี้ 

 

อยากประสบความสำเร็จในการมีลูก ต้องรู้จัก -4 +3

  • -4 ก็คือช่วงเวลาสำคัญประมาณ 4 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ หรือระยะเวลาที่เตรียมตัวเพื่อการมีลูก โดยเฉพาะความพร้อมด้านสุขภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ และเป็นครรภ์ที่แข็งแรง 
  • +3 จะเป็นช่วงเวลา 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หรือไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตัวอ่อนฝังตัว และมีการเจริญเติบโต หากคุณแม่มีร่างกายที่แข็งแรง ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ พร้อมทั้งปรับการใช้ชีวิตตัวเองให้ดีอยู่เสมอ ก็จะทำให้ทารกแข็งแรง ลดโอกาสแท้งได้เป็นอย่างมาก 

 

การตั้งครรภ์เริ่มจากอะไร 

ในแต่ละเดือน ผู้หญิงจะมีไข่หลายใบในรังไข่ที่ค่อย ๆ เจริญเติบโตในถุงน้ำฟอลลิเคิล (Follicles) และจะมีไข่ที่สมบูรณ์ที่สุดเพียง 1 ใบเท่านั้นที่หลุดจากถุงน้ำหุ้มไข่เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว หลังกระบวนการตกไข่ ไข่จะเดินทางเข้าสู่ท่อนำไข่เพื่อรอการปฏิสนธิกับอสุจิหรือสเปิร์มเป็นเวลา 24 ชั่วโมง โดยการปฏิสนธิจะเกิดขึ้นเมื่อสเปิร์มตัวที่แข็งแรงที่สุดว่ายไปยังท่อนำไข่และเจาะเปลือกไข่ได้ หลังจากการปฏิสนธิ ไข่จะแปรสภาพและทำให้สเปิร์มตัวอื่น ๆ ไม่สามารถเข้าไปได้อีก

ต่อมาจะเข้าสู่ระยะฝังตัว การแบ่งตัวของเซลล์จะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังการปฏิสนธิ ซึ่งไข่จะอยู่ในท่อนำไข่เป็นเวลาประมาณ 3 – 4 วัน และจะเคลื่อนตัวผ่านท่อนำไข่ไปยังมดลูกเพื่อยึดเกาะฝังตัวที่ผนังมดลูก ซึ่งเป็นกระบวนการฝังตัวของไข่ ผนังมดลูกก็จะหนาขึ้นและจะมีมูกบริเวณปากช่องคลอดจนกว่าเด็กจะพร้อมคลอด ซึ่งเซลล์ต่าง ๆ จะค่อย ๆ เจริญเติบโตและแบ่งตัวมากขึ้น โดยเซลล์ประสาทของเด็กจะเริ่มพัฒนาขึ้นก่อนในช่วง 3 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ 

 

ปัจจัยที่ทำให้ยากต่อการตั้งครรภ์ 

หากว่าคู่รักมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และไม่มีปัจจัยที่ทำให้มีลูกยาก เมื่อได้มีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาที่ไข่ตก ก็มีโอกาสสูงที่จะตั้งครรภ์ แต่หากคู่รักมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ คือ 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 1 ปี แล้วยังไม่ตั้งครรภ์ ก็มีโอกาสสูงที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภาวะมีบุตรยาก ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดมี ดังนี้ 

ฝ่ายหญิงกับปัจจัยที่ทำให้มีลูกยาก 

  • ความผิดปกติของการสร้างไข่ หรือการตกไข่
  • ความผิดปกติของปากมดลูก และมดลูก
  • ความผิดปกติของช่องคลอด
  • ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเครียด โรคประจำตัวทางร่างกายอื่นๆ

ฝ่ายชายกับปัจจัยที่ทำให้มีลูกยาก

  • การสร้างเชื้ออสุจิที่ผิดปกติ
  • การขนส่งเชื้ออสุจิผิดปกติ เช่น การอุดตันของ ท่อน้ำเชื้อจากความพิการแต่กำเนิด
  • ปัจจัยอื่นๆ เช่น ความร้อน สารเคมี ความเครียด จากการทำงาน โรคประจำตัวทางร่างกายอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีคู่รักที่มีความผิดปกติทั้งสองฝ่ายร้อยละ 15 และมีคู่รักร้อยละ 5 ที่ตรวจไม่พบสาเหตุของการมีบุตร เรียกว่า เป็นภาวะการมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ

 

สารอาหารสำคัญ เพื่อเตรียมพร้อมร่างกายสำหรับการตั้งครรภ์ 

สำหรับคู่รักหรือคู่สมรสที่ต้องการมีลูก เริ่มแรกควรลองวิธีธรรมชาติเสียก่อน ด้วยการมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงเวลาไข่ตก นอกจากนี้ยังต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะสารอาหารสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ และยังช่วยให้ทารกในครรภ์แข็งแรง 

  • CoQ10, Vitamin E, Zinc, Selenium มีส่วนช่วยปกป้องระบบสืบพันธุ์ (ไข่และสเปิร์ม) จากอนุมูลอิสระ เมื่อระบบสืบพันธุ์แข็งแรง โอกาสตั้งครรภ์ก็เพิ่มมากขึ้น 
  • Folic acid, Zinc, Vitamin B, Vitamin A, Omega-3 มีส่วนช่วยในกระบวนการการสร้างไข่ที่มีคุณภาพ และความพร้อมของไข่ 
  • Iron, Zinc, Vitamin D มีส่วนช่วยในกระบวนการตกไข่ และระบบรอบเดือนของผู้หญิงให้เป็นปกติ 
  • Folic acid มีส่วนช่วยในกระบวนการปฏิสนธิ 
  • Folic acid, Zinc มีส่วนช่วยในขั้นตอนการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว
  • Vitamin E มีส่วนในการพัฒนาการของผนังมดลูกเพื่อเตรียมพร้อมกับการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว
  • Vitamin B6, Iron มีส่วนในกระบวนการสร้างรกให้สมบูรณ์
  • Folic acid, Choline, Vitamin B12, Iron, Iodine, Vitamin D, Calcium เป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับตัวอ่อนในการพัฒนาการในช่วงแรกเริ่ม จึงช่วยลดโอกาสแท้งได้ด้วย 

ไม่เพียงแค่ฝ่ายหญิงที่จะต้องได้รับสารอาหารสำคัญเหล่านี้อย่างเพียงพอเท่านั้น แต่ฝ่ายชายเองก็ได้ให้ความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะ วิตามินและเกลือแร่รวม รวมถึง Zinc, CoQ10 และ Omega-3  ซึ่งเป็นสารอาหารที่จะช่วยทำให้สเปิร์มและเซลล์ของอสุจิมีความแข็งแรง จึงช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้  

 

บทความโดย

theAsianparent Editorial Team