เชื่อเหลือเกินว่า สำหรับปัญหายอดฮิตของเด็กชั้นม.ปลาย ที่อาจทำให้เครียด หรือต้องนอนดึก เพราะต้องนั่งท่อง ตารางธาตุ ในรายวิชาเคมีให้ได้ ทั้งเอาไปเรียนบทต่อ ๆ ไป หรือท่องกับคุณครูเพื่อเก็บคะแนน วันนี้เราจึงจะมาแชร์ความสำคัญของตารางธาตุ และเทคนิคการท่องที่ช่วยให้เด็ก ๆ สามารถจดจำได้ง่ายกว่าเดิมกัน
ทำไมต้องท่องตารางธาตุ มีประโยชน์อย่างไร ?
เด็กหลายคนอาจต้องเจอกับรายวิชาเคมี และจำเป็นต้องเรียนไม่ว่าจะชอบหรือไม่ หรือว่าโตไปจะได้ใช้หรือเปล่าก็ตาม โดยปกติแล้วในรายวิชาดังกล่าวมักจะมีคุณครูให้ท่องตารางธาตุ บางครั้งอาจจริงจังถึงขั้นท่องปากเปล่าเพื่อเป็นการสอบเก็บคะแนนด้วย ดังนั้นต่อให้เด็ก ๆ จะอยู่ในสภาวะอยากท่องหรือไม่ ก็มีความจำเป็นต้องท่องเพื่อนำไปใช้สอบในห้องเรียน นอกจากนี้การท่องตารางธาตุยังเป็นความจำเป็น ที่จะต้องนำไปเรียนรู้ในบทต่อ ๆ ไปของวิชาเคมี ถ้าหากจำไม่ได้ก็อาจส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ในเรื่องต่อ ๆ ไปได้
นอกจากความจำเป็นในการใช้สอบ หรือเป็นการปูพื้นฐานในรายวิชาเคมีแล้ว การท่องจำตารางธาตุยังเป็นการบ่งบอกประเภท หรือหมวดหมู่ของธาตุ ซึ่งแต่ละธาตุต่างมีคุณสมบัติของตนเอง ทำให้สามารถคาดการณ์ หรือบันทึกผลการทดลองต่าง ๆ รวมไปถึงการจดจำการนำไปใช้งาน หรือใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ของธาตุนั้น ๆ ด้วยนั่นเอง
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง : สำรวจ สายการเรียน ม.ปลาย เรียนต่อสายไหน ให้เข้าคณะในดวงใจได้!
วิดีโอจาก : พี่เอิร์จ มหิดลติวเตอร์
ทำไมการท่องตารางธาตุจึงเป็นอุปสรรคสำหรับเด็กมัธยม ?
ขึ้นชื่อว่า “การท่อง” ไม่มีอะไรง่าย เพราะเป็นการจดจำถึงแม้จะไม่มองอ่านหนังสือ ยิ่งถ้าหากเป็นคำศัพท์ที่ถูกสร้างขึ้นมาแบบเฉพาะอย่าง ตารางธาตุ ยิ่งยากขึ้นไปอีก ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ท่องตารางธาตุได้ยากนั้นก็มีหลายปัจจัย ได้แก่
- เป็นคำศัพท์เฉพาะ : การจำชื่อเรียกธาตุต่าง ๆ ในแบบวิทยาศาสตร์ในวิชาเคมี เราคงต้องยอมรับว่าจำยากกว่าชื่อของคน เนื่องจากเป็นคำศัพท์เฉพาะที่ถูกตั้งขึ้น เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนกัน เพราะต้องใช้ในสูตรเคมีต่าง ๆ สำหรับการทดลอง หรือการเรียนรู้ที่ชัดเจน ทำให้หลายคำเป็นคำที่เราอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน อีกทั้งในสูตรเคมีนอกจากจะมีคำอ่านที่ไม่คุ้นเคยแล้ว ยังอาจจะมีตัวเลขกำกับไว้ด้วย ด้วยเหตุนี้จึงอาจต้องใช้เวลาในการท่องจำนานกว่าเดิม
- ยังปรับตัวกับหลักสูตรไม่ได้ : เมื่อเข้าสู่ช่วงที่ต้องท่องตารางธาตุ หลักสูตรนี้ในวิชาเคมี ซึ่งเป็นหมวดหมู่แยกออกมาจากวิชาวิทยาศาสตร์สำหรับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งจะเจอครั้งแรกตอน ม.4 ทำให้เด็กหลายคน ที่อาจชินกับการเรียนวิทยาศาสตร์ช่วง ม.ต้น อาจต้องใช้เวลาในการปรับตัว และในระหว่างนั้นหากต้องเจอกับตารางธาตุก็อาจเป็นอุปสรรคในการจำได้ หากไม่สามารถปรับตัวได้ทัน
- ขาดการฝึกฝน หรือสูตรท่องจำ : การท่องตารางธาตุไม่ง่ายอยู่แล้ว จึงต้องใช้ความพยายามในการฝึกฝนมากพอที่จะจำได้ เพื่อนำไปใช้ได้จริงในห้องเรียน บางคนอาจต้องเจอกับการสอบท่องตารางธาตุ เมื่อไม่สามารถท่องจำได้ง่าย ก็อาจจะต้องมีสูตรในการท่องจำ เพื่อช่วยให้จำได้ง่ายกว่าการนั่งท่องแบบปกติทั่วไป ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี
การอ่านตารางธาตุเบื้องต้น
ขั้นตอนแรกก่อนที่จะเรียนรู้เทคนิคในการจดจำตารางธาตุนั้น จะต้องเริ่มจากการเรียนรู้การอ่าน หรือข้อมูลเบื้องต้นก่อน ว่าในตารางมีอะไรบ้าง แล้วแต่ละอย่างมีอะไรบ้าง ความหมายคืออะไร โดยเราจะอธิบายอย่างคร่าว ๆ ดังนี้
- ตัวเลขมุมซ้าย : Atomic Number จำนวนโปรตอนในนิวเคลียสของธาตุนั้น ๆ
- ตัวเลขมุมชวา : การจัดเรียงอิเล็กตรอน หรือชั้นการจัดเรียง
- อักษรย่อภาษาอังกฤษ : ชื่อย่อที่ใช้โดยทั่วไปของธาตุนั้น ๆ
- ชื่อเต็ม : ชื่อเต็มของธาตุนั้น ๆ ที่ต้องจำ
- ตัวเลขด้านล่าง : Atomic Mass คือ น้ำหนักอะตอม
หลังจากทำความเข้าใจในเบื้องต้นแล้ว ก็ควรเริ่มดูหมวดหมู่และท่องตามปกติ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยก่อน จึงจะตามด้วยท่องสูตรการจำ เนื่องจากสูตรการจำมักแปลงอักษรย่อของธาตุมาเป็นคำอ่านที่จำง่าย และต้องมีพื้นฐานในการท่องจำมาก่อนนั่นเอง
เทคนิคการท่องจำตารางธาตุที่เด็ก ๆ ต้องรู้
จากที่เราได้บอกไปแล้วว่าเทคนิคการท่องจำ คือ การแปลงคำจากอักษรย่อของธาตุต่าง ๆ ออกมาเป็นคำ หรือประโยคที่ง่ายต่อการจดจำมากกว่า โดยประโยคที่แปลงมาให้จำในแต่ละหมู่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า จะนำไปดัดแปลงเป็นคำอะไร ที่เหลือก็คือการท่องจำให้ขึ้นใจ หากจำตรงไหนไม่ได้ก็ต้องทบทวนบ่อย ๆ โดยเราจะยกตัวอย่างเทคนิคนี้ขึ้นมาเป็นแนวทาง ดังนี้
- 1A (Li, Na, K, Rb, Cs, Fr) : Li-Na-K-Rb-Cs-Fr ให้จำเป็น “ลิ นา ขับ รถเบนซ์ ซิ่ง ฝรั่งเศส”
- 2A (ฺBe, Mg, Ca, Sr, Ba, Ra) : Be-Mg-Ca-Sr-Ba-Ra ให้จำเป็น “บี-แมก-แคล-สตรอน-แบ-เร”
- 3A (ฺB, Al, Ga, In, Tl) : B-Al-Ga-In-Tl ให้จำเป็น “โบ อะลู แกล อิน ไทยแลนด์”
- 4A (ฺC, Si, Ge, Sn, Pb) : C-Si-Ge-Sn-Pb ให้จำเป็น “ซี ซี่ เจอ ซันนี่ ที่ผับ”
- 5A (ฺN, P, As, Sb, Bi) : N-P-As-Sb-Bi ให้จำเป็น “นพพร กินสารหนู พลวง บิสมัท”
- 6A (ฺO, S, Se, Te, Po) : O-S-Se-Te-Po ให้จำเป็น “ออส ซี่ ที โพ”
- 7A (ฺF, Cl, Br, I, At) : F-Cl-Br-I-At ธาตุที่ลงท้ายด้วยคำอ่าน “อีน” ให้จำเป็น “ไฟ ครอก บ้าน ไอ แอ็ด”
- 8A (ฺHe, Ne, Ar, Kr, Xe, Rn) : He-Ne-Ar-Kr-Xe-Rn ให้จำเป็น “เขา หนี อา ขับ ซี เร”
เทคนิคการจำนี้เป็นการยกตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งที่อื่น ๆ ก็อาจใช้สูตรการจำนี้ หรือประดิษฐ์คำที่มีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละบุคคล แต่แน่นอนว่าจะใช้เทคนิคแปลงคำเหมือนกันแน่นอน และถึงจะใช้เทคนิคนี้ เราขอแนะนำว่าการท่องจำในรูปแบบธรรมดาเองก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน จึงควรหมั่นฝึกไว้ด้วยเพื่อให้เกิดความคุ้นเคย เนื่องจากการแปลงคำบางครั้งอาจไม่ตรงกับตัวอักษรธาตุ 100 % นั่นเอง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ฟรี ! คำศัพท์ผลไม้ 3 ภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เพื่อการเรียนรู้ที่รวดเร็วของลูกน้อย
เทคนิคการจำ “กริยา 3 ช่อง” พื้นฐานภาษาอังกฤษที่สำคัญสำหรับเด็กประถม
ฟรี ! คําศัพท์ภาษาอังกฤษ ป.1 เอาไว้ให้ลูกตัวน้อยท่องจำได้ทุกเวลา
ที่มาข้อมูล : 1 wongnai TrueID