ประจำเดือนมาหลังคลอด น้ำนมหด จริงไหม ?
ประจำเดือนหลังมาคลอด น้ำนมหด จริงไหม? เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ประจำเดือนมาได้ไง? บทความนี้จะช่วยให้คุณแม่เข้าใจร่างกายตัวเองมากขึ้น
หลังคลอดลูก คุณแม่ส่วนใหญ่มักมีเรื่องให้กังวลมากมายไปหมด ทั้งการดูแลลูกน้อย การปรับตัวกับบทบาทใหม่ และที่สำคัญคือความเปลี่ยนแปลงในร่างกายตัวเองที่บางครั้งก็น่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักที่ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม ผิวพรรณ ฮอร์โมนที่แปรปรวน หรือแม้กระทั่ง ประจำเดือนที่ไม่รู้จะกลับมาเมื่อไร มาแล้วจะส่งผลอย่างไร ประจำเดือนมาหลังคลอด น้ำนมหด จริงไหม
จริงๆ แล้ว ความกังวลนี้เป็นเรื่องธรรมดาของคุณแม่มือใหม่ หรือแม้แต่คุณแม่ลูกคนที่สองก็ยังรู้สึกได้ แต่ไม่ต้องห่วงค่ะ บทความนี้จะช่วยให้คุณแม่เข้าใจร่างกายตัวเองมากขึ้น วางใจได้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายเรานั้นเป็นเรื่องธรรมชาติที่เราปรับตัวได้แน่นอน
ชวนทำความเข้าใจ ประจำเดือนหลังคลอด
ด้วยเงื่อนไขต่างๆ และสภาพร่างกายของคุณแม่ที่แตกต่างกัน อาจเป็นการยากที่จะชี้ชัดลงไปว่าหลังจากให้กำเนิดลูกน้อยแล้ว จะกลับมามีประจำเดือนปกติเมื่อไร กรณีที่ประจำเดือนกลับมาเร็ว มักพบในช่วง 5-6 สัปดาห์หลังคลอด
-
ลูกกินนมแม่ ประจำเดือนหลังคลอดมาตอนไหน
สำหรับคุณแม่บางคน กว่าประจำเดือนจะกลับมาอาจใช้เวลาเป็นปี ยิ่งหากว่าเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ประจำเดือนก็อาจยังไม่มาจนกว่าจะหยุดให้นม แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะคุณแม่บางรายแม้จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ประจำเดือนก็กลับมาได้เช่นกัน
ทั้งนี้ การให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว ฮอร์โมนโปรแลคตินที่กระตุ้นการผลิตน้ำนมจะยับยั้งการตกไข่ ทำให้ประจำเดือนกลับมาช้ากว่าปกติ โดยเฉลี่ยอาจใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หรืออาจนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความถี่ในการให้นม
นอกจากนี้ช่วงรอบเดือนแรก คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาจรู้สึกว่าปริมาณน้ำนมลดลงเล็กน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้บ่อย เนื่องจาก การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจน แต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว หากคุณแม่ยังให้นมลูกต่อเนื่อง ปั๊มนมสม่ำเสมอ ปริมาณน้ำนมก็จะกลับมาเป็นปกติได้
-
ลูกกินนมผง ประจำเดือนหลังคลอดมาตอนไหน
กรณีที่ให้ลูกกินนมผง ประจำเดือนมักจะกลับมาภายใน 6-8 สัปดาห์หลังคลอด เนื่องจากระดับฮอร์โมนโปรแลคตินลดลงเร็วกว่า เมื่อประจำเดือนกลับมา รอบแรกหลังคลอด มักจะมามากกว่าปกติ อาจพบลิ่มเลือด หรืออาจรู้สึกปวดท้องมาก ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังคลอด
เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ประจำเดือนมาได้ไง?
แม้คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ส่วนใหญ่ จะยังไม่มีประจำเดือนจนกว่าจะหยุดให้นม แต่ก็มีบางกรณีที่ประจำเดือนกลับมา แม้ว่าจะยังให้นมลูกอยู่
สาเหตุที่พบบ่อยคือ เมื่อลูกน้อยเริ่มหลับยาวติดต่อกันได้ 6 ชั่วโมง ไม่ตื่นมากินนมกลางดึก หรือเมื่อลูกน้อยดูดนมน้อยลงเพราะเริ่มทานอาหารเสริม ประจำเดือนก็อาจกลับมาในช่วงนี้ เพราะร่างกายผลิตน้ำนมน้อยลง ตามความต้องการของลูกน้อยที่ลดลงเช่นกัน
ประจำเดือนมาหลังคลอด น้ำนมหด จริงไหม ?
มีความเป็นไปได้ที่รอบเดือนจะส่งผลต่อปริมาณน้ำนมในร่างกาย คุณแม่บางรายพบว่าน้ำนมลดลงในช่วงที่มีประจำเดือน ทั้งนี้ เป็นเพราะ ช่วงที่ประจำเดือนมา หรือใกล้จะหมดรอบเดือน ระดับฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ที่ช่วยผลิตน้ำนมลดลง ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้คุณแม่รู้สึกเครียด ไม่ว่าจะเป็น ลูกร้องหิวนมบ่อยขึ้น เพราะน้ำนมไหลช้า ความไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวของคุณแม่ขณะมีประจำเดือน ทำให้คุณแม่ยิ่งกังวลมากขึ้นไปอีก
น้ำนมไม่พอ แก้ไขได้
หากคุณแม่รู้สึกว่าการมีประจำเดือนส่งผลต่อปริมาณน้ำนม จนกังวลว่าลูกจะได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ วิธีต่อไปนี้อาจช่วยกระตุ้นน้ำนมให้กลับมาได้ค่ะ
- ปั๊มนมบ่อยๆ และให้ลูกดูดนมบ่อยๆ การกระตุ้นเต้านมบ่อยครั้งช่วยเพิ่มการผลิตน้ำนมโดยธรรมชาติ ควรให้ลูกดูดนมทุก 2-3 ชั่วโมง หรือปั๊มนมในช่วงที่ลูกไม่ได้ดูด เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมเพิ่มขึ้น
- สมุนไพรกระตุ้นน้ำนม สมุนไพรอย่าง ลูกซัด (Fenugreek) หรือ ขิง เป็นที่นิยมในการเพิ่มปริมาณน้ำนม หรือหัวปลี ช่วยกระตุ้นต่อมน้ำนมให้มีการสร้างน้ำนมมากขึ้น สำหรับคุณแม่ที่มีความกังวล ลองรับประทานอินทผลัม มีสรรพคุณลดความกดดันและบรรเทาภาวะซึมเศร้า และช่วยเพิ่มสารอาหารในน้ำนมแม่ แนะนำให้นำอินทผลัมแบบอบแห้งมาต้มกับน้ำ ใส่น้ำตาลเล็กน้อย ชงดื่มกระตุ้นน้ำนมและลดความเครียด อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้สมุนไพรทุกชนิด ควรปรึกษาแพทย์ว่าปลอดภัยสำหรับแม่ที่ให้นมลูกหรือไม่
- ยากระตุ้นน้ำนม ยาบางชนิด เช่น
- Domperidone หรือ Motilium: ช่วยเพิ่มระดับโปรแลคตินและกระตุ้นการผลิตน้ำนม อย่างไรก็ตาม อย.แนะนำว่า ยา Domperidone ยังไม่ถูกรับรองให้ใช้กระตุ้นน้ำนม เนื่องจากประสิทธิภาพไม่ต่างจากการไม่ใช้ยา และยังมีผลข้างเคียงที่อันตราย เช่น ปวดศีรษะ ปากแห้ง และหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต การใช้ยานี้ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ห้ามซื้อใช้เอง และควรใช้ในขนาดต่ำสุด (ไม่เกิน 30 มก./วัน) และระยะเวลาสั้นที่สุด ไม่เกิน 1 สัปดาห์
- Lecithin: ช่วยลดปัญหาท่อน้ำนมอุดตันและทำให้น้ำนมไหลสะดวกขึ้น โดยแนะนำให้รับประทานเลซิตินวันละ 1,600 มิลลิกรัม
การใช้ยาเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอเพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกน้อย
เคล็ดลับสบายตัว เมื่อให้นมลูกขณะมีประจำเดือน
ผู้หญิงทุกคนเข้าใจดีว่า เมื่อมีประจำเดือน เรามักรู้สึกไม่สบายกายไม่สบายใจ ทำอะไรก็หงุดหงิด ขยับร่างกายก็เจ็บปวด บางคนปวดท้อง บางคนปวดหัว บางคนปวดหลัง ยิ่งหากต้องให้นมลูก ในวันที่มีประจำเดือน ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย วิธีที่เรานำมาฝากต่อไปนี้ อาจช่วยให้การให้นมลูกในวันแดงเดือดง่ายขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย
- ให้นมลูกบ่อยๆ แม้ว่าจะไม่สบายตัว แต่การพยายามนำลูกเข้าเต้าบ่อยๆ จะช่วยรักษาปริมาณน้ำนม และการได้กอดลูกไว้แนบออก สัมผัสจากลูกยังช่วยกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความสุข ช่วยลดความเจ็บปวดต่างๆ ได้
- ไม่ใช้ครีมทาหัวนม ครีมทาหัวนมเพื่อลดอาการเจ็บปวด มักทำให้ผิวหนังมีอาการชา ซึ่งอาจทำให้ปากของลูกชาจนไม่สามารถดูดนมได้ตามปกติ
- แช่เท้าในน้ำอุ่น ขณะให้นมลูก อาจแช่เท้าในน้ำอุ่นไปด้วย หรืออาจใช้เครื่องนวดเท้า ให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย สบายตัว
- ใช้เครื่องปั๊มนม หากการให้นมลูกเจ็บเกินไป การปั๊มนมจะช่วยรักษาปริมาณน้ำนมและให้คุณมีนมสำรองสำหรับช่วงที่ร่างกายยังไม่พร้อมนำลูกเข้าเต้า
- ปรึกษาแพทย์ หากรู้สึกไม่สบายมากเกินไป ลองปรึกษาแพทย์ถึงการใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงร่างกายหลังคลอด รวมถึงการที่ประจำเดือนที่กลับมา จนกระทบปริมาณน้ำนม อาจทำให้คุณแม่กังวล แต่ด้วยความเข้าใจ และค่อยๆ ดูแลสุขภาพกายใจไปแต่ละวัน เลือกใช้วิธีแก้ไขที่เหมาะสม คุณแม่ก็สามารถให้นมลูกได้อย่างมีคุณภาพและเพียงพอ สิ่งสำคัญ คือต้องหมั่นดูแลใจให้มีความสุข ไม่กดดันตัวเองมากเกินไป อย่าลืมว่า ลูกจะมีความสุขได้ ก็ต่อเมื่อได้เห็นรอยยิ้มของแม่นะคะ
ที่มา: โรงพยาบาลพญาไท , สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา , Pobpad , Webmd
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เช็ก 6 สัญญาณ ลูกดูดเต้า จะรู้ได้ไงว่าลูกได้น้ำนมพอ
ลูกกินนมแม่ท้องอืด ได้ไหม? วิธีป้องกันและดูแลเมื่อเด็กนมแม่ท้องอืด