ในเด็กเล็กมีความเปราะบางทางสุขภาพมากค่ะ เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันร่างกายยังไม่ดีพอ จึงเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเกี่ยวกับกลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจได้ง่าย โดยเฉพาะโรคติดเชื้อไวรัส RSV ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อร่างกาย ดังนั้นเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่รู้เท่าทัน โรค RSV ในเด็ก theAsianparent จะพาไปรู้จักกับไวรัสร้าย RSV พร้อมคำแนะนำในการดูแลปกป้องสุขภาพเบื้องต้นให้กับลูกน้อยกันค่ะ
ไวรัส RSV คืออะไร ?
Respiratory Syncytial Virus หรือที่เรียกสั้นๆ กันว่า RSV เป็นไวรัสก่อการติดเชื้อทางเดินหายใจของเด็กโดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เด็กๆ ที่ป่วยจากการติดเชื้อไวรัส RSV ช่วงแรกมักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดาเช่น ไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล แต่สำหรับเด็กเล็กรวมถึงเด็กกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อครั้งแรกพบร้อยละ 20-30 ที่มีอาการโรคลุกลามไปทางเดินหายใจส่วนล่าง (หลอดลม เนื้อปอด) ทำให้เกิดหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบและปอดอักเสบตามมาได้ค่ะ
สาเหตุของการติดเชื้อ RSV
RSV ไวรัสตัวนี้มีการแพร่ระบาดมากอย่างรวดเร็วในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เนื่องจากสภาพอากาศเหมาะต่อการแพร่เชื้อ ด้วยอุณหภูมิและความชื้นทำให้เชื้อไวรัส RSV แพร่กระจายได้ง่ายและเชื้ออยู่ได้นานขึ้น จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่าในกลุ่มเด็กเล็กได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากเชื้อไวรัส RSV มากที่สุด ซึ่งสถิติจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และศูนย์ความร่วมมือไทย – สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 – 8 มิถุนายน 2567 พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส RSV 1,226 ราย จากผู้ป่วยทางเดินหายใจ 19,179 ราย (ร้อยละ 6.39)
- อันดับหนึ่ง เด็กอายุระหว่าง 9 วัน – 87 ปี (อายุเฉลี่ย 2 ปี) ตรวจพบมากที่สุดในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี 573 ราย (ร้อยละ 46.74)
- อันดับสอง เด็กอายุ 2 – 5 ปี 472 ราย (ร้อยละ 38.50)
- อันดับสาม เด็กอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป 181 ราย (ร้อยละ 14.76)
นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส RSV จำนวน 3 ราย ซึ่งคิดเป็นอัตราป่วยเสียชีวิต ร้อยละ 0.24 ในเด็กอายุต่ำสุด 1 ปี 8 เดือน
ซึ่งสาเหตุการติดเชื้อไวรัส RSV พบว่าได้รับการแพร่กระจายเชื้อมาจากการสัมผัสโดนน้ำมูก น้ำลายของผู้ที่ป่วยโรค RSV แล้วมีการไอ และจามออกมา โดยเชื้อไวรัส RSV จะลอยมากับอากาศผ่านเข้ามาทางจมูก ปาก และเยื่อบุตา ในเด็กที่ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย สามารถที่จะแพร่กระจายเชื้อได้นานมากถึง 3-8 วัน โดยที่เชื้อไวรัสจะปะปนมากับอากาศและแฝงตัวเกาะติดอยู่ตามของเล่น ภาชนะใส่อาหาร แก้วน้ำ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ภายในบ้าน หรือจากคุณพ่อคุณแม่ที่ออกไปทำงานนอกบ้านอาจเอาเชื้อ RSV มาติดลูก รวมถึงมีการพาลูกออกไปยังสถานที่ที่มีคนอยู่เยอะ เช่น โรงเรียน เนอสเซอรี่ ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า หรือโรงพยาบาล เป็นต้น
กลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัส RSV
โรค RSV ในเด็กมีความรุนแรงและอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากภูมิคุ้มกันร่างกายไม่แข็งแรง
- เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี
- เด็กที่คลอดก่อนกำหนด (ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์)
- เด็กที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น
เด็กในกลุ่มดังกล่าวนี้หากเจ็บป่วยโรค RSV บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หูอักเสบ ไซนัสหรือปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ซึ่งจะมีอาการรุนแรงมากขึ้นจนเป็นอันตรายเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง
การรักษาและค่าใช้จ่าย
เนื่องจากในปัจจุบันนี้ยังไม่มียาสำหรับใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อ RSV การรักษาทางการแพทย์ทำได้เพียงแค่การรักษาตามอาการของเด็กที่ป่วย อาทิเช่น
- การให้ยาลดไข้
- การให้ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ
- พ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย
- เคาะปอด และดูดเสมหะออก เพื่อบรรเทาลดความรุนแรงของอาการไอและอาการหายใจเหนื่อยหอบให้กับเด็ก
สำหรับค่ารักษาพยาบาล โรค RSV ในเด็ก หากไม่มีโรคแทรกซ้อนจะมีค่ารักษาพยาบาลเริ่มต้นที่ประมาณ 10,000 – 100,000 บาท ทั้งนี้หากมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น ค่ารักษาพยาบาลอยู่จะที่ประมาณ 50,000 – 150,000 บาท ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะต้องแอดมิทที่โรงพยาบาลประมาณ 2-5 วัน หรืออาจมากกว่านี้ตามความรุนแรงของอาการ RSV ที่ป่วยในเด็กแต่ละคนค่ะ
การสังเกตอาการลูกน้อยป่วย โรค RSV
เชื้อไวรัส RSV เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งจะมีจุดสังเกตที่แตกต่างจากโรคไข้หวัด คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ และหากพบว่าลูกมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบพาไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันทีค่ะ
- มีไข้
- ไอ มีเสมหะมาก
- หายใจเหนื่อยหอบจนอกบุ๋ม
- หายใจมีเสียงหวีดในปอด
- หายใจแรงมีเสียงครืดคราด
โรค RSV ในเด็กสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้หลายครั้ง และที่น่าห่วงคือ ณ ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน RSV ในเด็ก และไม่มียาจำเพาะในการรักษานะคะ ทำได้เพียงการรักษาตามอาการที่ป่วยเท่านั้น ซึ่งความอันตรายของโรค RSV ในเด็ก ที่มีอาการรุนแรงจนทำให้หลอดลมฝอยอักเสบ และเกิดภาวะปอดบวมอักเสบเฉียบพลัน จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง หรือคุณครูที่โรงเรียน สามารถดูแลปกป้องกันสุขภาพของเด็กๆ ได้ในเบื้องต้น เพื่อให้ห่างไกลจากการติดเชื้อไวรัส RSV
- ให้ลูกกินนมแม่ตั้งแรกเกิด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้กับลูก
- หมั่นล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ ทั้งของลูกน้อยและสมาชิกทุกคนในบ้าน
- ทำความสะอาดบ้าน และของเล่น อุปกรณ์ของใช้ลูกให้สะอาด
- รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ และไม่ใช้ช้อนส้อม และแก้วน้ำร่วมกันเมื่อรับประทานอาหาร ทั้งที่บ้าน และโรงเรียน
- ในช่วงการระบาดของโรค RSV โดยเฉพาะฤดูฝนและฤดูหนาว ควรงดพาลูกออกไปทำกิจกรรมในสถานที่ที่มีคนเยอะๆ เนื่องจากเลี่ยงต่อการสัมผัสผู้ที่เป็นไข้หวัดหรือปอดอักเสบได้ง่าย
- ในเด็กที่ต้องไปโรงเรียน หรือเนอสเซอรี่ หากพบว่ามีอาการไม่สบาย ควรให้อยู่บ้าน จนกว่าจะหายดี ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้ลูกออกไปแพร่เชื้อ หรือรับเชื้อที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยไม่สบายเพิ่มค่ะ
- เด็กวัยขวบที่สามารถใช้หน้ากากอนามัยได้ ควรฝึกให้ลูกคุ้นชินกับการสวมใส่หน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน ก่อนออกไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น ระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า หรือสนามเด็กเล่น เป็นต้น
และนอกเหนือจากนี้คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถวางแผนเรื่องสุขภาพของลูกน้อยในระยะยาวได้แบบไม่ต้องกังวลเรื่องการรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่าย เมื่อลูกเกิดเจ็บป่วยไม่สบายได้ด้วยการมีประกันสุขภาพเด็กค่ะ
Reference:
ไวรัส RSV ภัยร้ายใกล้ตัวเด็ก, โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์
กรมควบคุมโรค เตือนเข้าสู่ฤดูฝนหวั่นเด็กเล็กป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV), กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข
โรคติดเชื้ออาร์เอสวี RSV, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
ผู้ปกครองห่วงหน้าฝนไวรัส RSV ระบาด, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี