“การชมลูกไม่เป็น” ก็อาจเป็นอันตรายในการเติบโตทางใจของลูกเช่นกัน
หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน เขียนไว้ว่าการชมลูกที่ผิดหลักอาจจะทำให้เราผลิตเด็กคนนึงที่ต้องรอคอยคำชมเสมอ หรือเด็กที่คิดว่าตัวเองช่างเก่งและเจ๋งกว่าใคร เป็นสิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่ควรใส่ใจให้มาก ๆ ค่ะ เพราะฉะนั้น “การชมลูกไม่เป็น” ก็อาจเป็นอันตรายในการเติบโตทางใจของลูกเช่นกัน
คุณพ่อ คุณเเม่ควรหลีกเลี่ยง. . . การกระทำต่อไปนี้ . . .
1. การชมไปเรื่อย
” น่ารักจังเลย ” ” สุดยอดลูกพ่อ ” ” หนูนี่เป็นเด็กดีมากเลย ” โดยที่ลูกไม่รู้ว่า “พฤติกรรมอะไร” ที่ทำให้ได้รับคำชม การชมควรมีความเฉพาะเจาะจง โดยมีเป้าหมายให้กำลังใจหรือให้พฤติกรรมที่พึงประสงค์นั้นคงอยู่เสมอ
“ดีจังเลย หนูช่วยแม่กรอกน้ำด้วย แม่หายเหนื่อยเลยนะ” สิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่ควรทำคือ การชื่นชมตามจริง ซึ่งจริง ๆ แล้วลูกอาจจะไม่ได้ต้องการแค่คำชม แต่ต้องการคำแนะนำว่าเขาจะไปต่ออย่างไรในสิ่งที่ลูกชื่นชอบ ดังนั้นควรชมลูกจากใจจริง ให้ลูกสัมผัสได้ต่อความรู้สึกของพ่อแม่นะคะ
2. ชมด้วยคำพูดเกินจริง
“อัจฉริยะมากลูกพ่อ” “นี่มันศิลปินกลับชาติมาเกิดชัดๆ” … เด็กยุคนี้เติบโตมาแบบมีแนวโน้มที่จะหลงตัวเองง่ายมากอยู่แล้ว พ่อแม่ที่ชมลูกแบบนี้มีแนวโน้มที่จะส่งเสริมความรู้สึกว่า “ชั้นเจ๋งหรือเก่งกว่าใคร” ให้กับลูก ซึ่งต่อมาอาจจะมีปัญหากับการพัฒนาบุคลิกภาพในอนาคตได้ค่ะ
3. ชมอะไรที่ต้องทำเป็นหน้าที่อยู่แล้ว
“เก่งจังเลยแปรงฟันเองด้วย” “เยี่ยมมาก วันนี้หนูทำการบ้านด้วย” อะไรที่เป็นหน้าที่ ที่ลูกต้องทำอยู่ทุกวัน ถ้าลูกทำได้ดีอยู่แล้วก็ลดคำชมลงได้ การชมลักษณะทนี้ คือ ขั้นตอนที่ลูกได้ลงมือทำตั้งแต่ ความคิด-ความพยายาม-วิธีการ จนออกมาเป็นผลสำเร็จ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถชมลูกได้ตามแต่ละขั้นตอนอย่างมีเหตุมีผล นำไปสู่ความรู้สึกรับรู้ถึงคุณค่าในตัวเอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เด็กโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิตดี และ ประสบความสำเร็จ เวลาที่เจอกับอุปสรรคในชีวิต ความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง ก็จะเป็นพลังใจที่จะนำมาใช้ผลักดัน และ เผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้น
4. ชมตลอดเวลา
การชมอยู่ตลอดเวลา จะทำให้เด็กบางคน “ติดคำชม” ทำอะไรก็ต้องคอยมองว่ามีใครชมเรารึยัง หรือ การชมมากไป อาจทำให้โตไปแบบไม่มั่นใจในตนเอง ต้องการคนชมเพื่อยืนยันสิ่งที่ทำอยู่เสมอ หรือชมเยอะไปเด็กก็จะเริ่มไม่เห็นความหมายของคำชม อีกทั้ง ภาษาท่าทาง ที่ประกอบคำชมเชยก็มีความสำคัญ คำชมเชยควร จะต้องมีรอยยิ้มที่จริงใจ การมองหน้าสบตาอีกฝ่าย และที่สำคัญมาก คือ จะต้องไม่มีคำพูดประชดประชันเหน็บแนม เช่น “เอทำงานชิ้นนี้สำเร็จ พ่อเห็นเลยว่า เอมีความพยายาม และ ความตั้งใจ พ่อรู้สึกประทับใจมากๆ แต่ขอให้เอทำแบบนี้ได้ตลอดนะ ไม่ใช่งานนี้งานเดียวแล้วจอด แบบนั้นเป็นเด็กไม่ดี ” ซึ่งคำพูดประชดประชันเช่นนี้ จะลดประสิทธิภาพของแรงเสริมทางบวกลงไป อย่างมาก โดยที่ผู้พูดลืมคิดไป ว่าอาจส่งผลทางจิดใจต่อเด็กได้
5. ชมเหมือนตำหนิ
“ก่อนหน้านี้ถ้าขยันแบบนี้นะ ได้คะแนนดีแบบนี้ไปแล้ว” หรือ “โอ๊ย สงสัยวันนี้ฝนจะตกมีคนช่วยแม่ถูบ้าน”
“ถ้าช่วยแม่อย่างนี้ทุกวัน แม่คงไม่ต้องเหนื่อย” การชมแบบนี้ คนที่ได้ฟังแทนที่จะรู้สึกดี อาจรู้สึกว่าถูกขุดเอาอดีตมาว่า ซึ่งทำให้ไม่เห็นค่าของคำชม และ ผลงานที่ได้ทำอยู่นั้นไม่มีคุณค่า
6. ชมแบบยังไม่พอใจ
“หนูเก่งจัง สอบได้ตั้ง 7 เต็ม 10 แน่ะ แต่แม่ว่าครั้งหน้าหนูต้องทำได้คะแนนดีกว่านี้แน่ๆ”
การชมแบบนี้ทำให้ลูกรู้ว่าแม่ยังไม่พอใจกับผลที่ได้รับ อยากให้ลูกทำได้ดีขึ้น ให้ฝึกชมที่ความตั้งใจและความพยายาม “หนูภูมิใจมั้ยลูก เพราะหนูตั้งใจอ่านหนังสือ เลยทำให้ทำสอบได้ดีเลย” ถ้าอยากให้ลูกทำให้ดีขึ้นอีกอาจพูดต่อได้ “แม่เชื่อว่าถ้าหนูอยากทำให้ดีขึ้นอีก หนูพยายามมากขึ้น ต้องทำได้แน่”
7. ชมโดยมีรางวัลติดไปเสมอ
“โหเก่งจัง สอบได้ที่หนึ่งเลย เดี๋ยวพ่อ ต้องซื้อไอโฟนใหม่ให้ซะละ”
ความสำเร็จมีความหอมหวานในตัวมันเอง… ไม่ต้องเอาความสำเร็จที่น่าชื่นใจ ไปผูกไว้กับสิ่งของที่มีราคา
8. ชมเรื่องที่เราไม่อยากให้เป็นคุณค่าของลูก
“หนูนี่หน้าตาสวยจังเลย” “ลูกพ่อนี่ขาวดีจัง” คำชมเหล่านี้ดูดีๆ มันก็มีพิษภัยซ่อนไว้ในตัว
9. ชมที่ผลสำเร็จ
“เก่งจังสอบได้ที่หนึ่งด้วย” “ลูกเก่งมากวิ่งชนะคู่แข่งขาดลอยเลย” การชมที่ผลสำเร็จอยู่บ่อยๆ อาจจะทำให้ลูก รู้สึกต้องชนะอยู่ตลอด หรือเจออะไรยากก็อาจไม่อยากทำเพราะกลัวแพ้ หรือบางคนก็รับไม่ได้กับการที่ผลที่ไม่ได้เป็นอย่างใจคิด
การชื่นชมลูกให้ได้ผลดี ไม่ใช่แค่ชมแล้วปล่อยผ่าน แต่ควรมีคำแนะนำเพื่อให้ลูกนำไปต่อยอด และมีพัฒนาการที่ดีกว่าเดิม หลักในการชมลูก ได้แก่ คำชม 3 ข้อ แนะนำ 1 ข้อ เช่น “ลูกระบายสีสวยแล้ว ไม่ออกนอกกรอบด้วย เก่งจังเลย แต่คราวหน้าลูกลองระบายสีให้มันเต็ม ๆ รูปกว่านี้ได้ไหมคะ”
การชมที่ดีควรเป็นการชมที่… มาจากใจ ชมเพื่อสร้างกำลังใจ ทำให้รู้สึกดีกับตัวเอง ชมตามความเป็นจริง และชม “ความพยายาม” มากกว่าชมที่ผล
รักลูก…ฝึกชมลูกแบบไม่ทำร้ายลูกนะคะ
เนื้อหาทั้งหมดจากเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน
เขียนโดยอาจารย์แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
บทความที่เกี่ยวข้อง