บทความโดย theAsianparent
ช่วงวัย 2 ขวบปีแรก เป็นช่วงที่โครงสร้างสมองมีการพัฒนาอย่างสูงสุด ทั้งการสร้างเซลล์สมอง พัฒนาการการเรียนรู้ และจดจำ หากลูกน้อยได้รับโภชนาการที่ดีในช่วง 2 ขวบปีแรกนี้ จะทำให้ส่งผลดีต่อช่วงวัยอื่น ๆ ต่อไป นอกจากสารอาหารที่ให้พลังงานแล้ว เด็กๆ ยังต้องการสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน จำพวกวิตามินและแร่ธาตุอีกด้วย และเพื่อเป็นแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่สามารถจัดเตรียมโภชนาการ และสารอาหารให้เพียงพอสำหรับลูก เราจะพามาดูกันว่ามีสารอาหารที่ไม่ให้พลังงานใดบ้างที่เหมาะสำหรับลูกวัย 1 – 2 ปี
- แคลเซียม (Calcium)
แคลเซียม เป็นสารอาหารที่ช่วยพัฒนานากระดูกและฟัน ทั้งยังเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย พบมากในอาหารจำพวกนม และผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นส่วนผสม เช่น โยเกิร์ต และชีส นอกจากนี้ก็ยังมีปลาตัวเล็ก หรือสัตว์ตัวเล็กที่กินได้ทั้งกระดูก เช่น ปลาไส้ตัน กุ้งฝอย กุ้งแห้ง ส่วนผักก็มีแคลเซียมเหมือนกัน เช่น ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักกาดเขียว เป็นต้น ส่วนผักโขม ปวยเล้ง ผักชีฝรั่ง ผักแพว ใบชะพลู ถึงแม้จะมีปริมาณแคลเซียมสูง แต่เนื่องจากมีสารไฟเตท (Phytate) และออกซาเลท (Oxalate) สูง ทำให้ลดการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายได้ จึงควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ
- วิตามินดี
วิตามินดี มีส่วนสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย พบมากในอาหารจำพวกเห็ด แซลมอน แซลมอนกระป๋อง หอยนางรม ปลาทะเล กุ้ง และไข่ เป็นต้น
- แร่ธาตุสังกะสี
สังกะสี เป็นแร่ธาตุที่ช่วยเรื่องการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเซลล์ภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซลล์ภูมิคุ้มกันที่ถูกแปรสภาพได้ง่าย จะยิ่งมีความต้องการแร่ธาตุสังกะสีมากขึ้น พบมากในอาหารทะเล เช่น กุ้ง ปู หอยแมลงภู่ หอยนางรม ปลาซาร์ดีน และปลาแซลมอน นอกจากนี้ก็ยังมีในตับ เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ หรือไก่งวง ผักบางชนิดโดยเฉพาะเห็ด ผักคะน้า หน่อไม้ฝรั่ง ผักกาด มันฝรั่ง และธัญพืช เช่น ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วลูกไก่ เมล็ดฟักทอง และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ตลอดจนข้าวโอ๊ต ควินัว ข้าวกล้อง ซีเรียล ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนม อย่างโยเกิร์ต และชีสชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
- ดีเอชเอ (DHA)
ดีเอชเอ (DHA) จากน้ำมันปลา โดยโอเมก้า-3 เป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์โดยเฉพาะในสมองและจอประสาทตา ดังนั้นจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาการด้านความจำ และการมองเห็นของเด็ก พบมากในปลาทะเลน้ำเย็น เช่น ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ปลาแซลมอน และพบได้บ้างในเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ๆ รวมถึงไข่ไก่
- ไอโอดีน (Iodine)
เป็นสารอาหารที่ช่วยในการพัฒนาเซลล์ประสาท ตั้งแต่ทารกในครรภ์ไปจนถึงอายุ 2 ขวบ หากได้รับไอโอดีนอย่างเพียงพอ จะช่วยทำให้ลูกมีไอคิวสูง แต่หากขาดไอโอดีนจะส่งผลให้มีพัฒนาการสมองช้า ไอคิวต่ำ และเสี่ยงต่อโรคคอพอกได้อีกด้วย ซึ่งไอโอดีนพบในสาหร่าย นม กุ้ง ปลาทูน่า ไข่ ลูกพรุน หรือถั่วลิมา และเกลือเสริมไอโอดีน
- แมกนีเซียม
แมกนีเซียมเป็นสารอาหารที่ช่วยเรื่องการเจริญเติบโต และพัฒนาเซลล์ภูมิคุ้มกันให้กับลูก นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการบำรุงกระดูก และฟัน เนื่องจากแมกนีเซียมเป็นตัวช่วยในการนำแคลเซียมไปสู่เนื้อเยื่อต่าง ๆ สามารถพบแมกนีเซียมในผักโขม ผักสวิสชาร์ด เมล็ดฟักทอง ควินัว ข้าวกล้อง ถั่วเหลือง กล้วย อะโวคาโด ลูกมะเดื่ออบแห้ง ถั่วดำ อัลมอลด์ ปลาทู โยเกิร์ตไม่มีไขมัน และดาร์กช็อกโกแลต เป็นต้น
- โฟเลต/โฟลิก (Folic acid)
เป็นสารอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะความผิดปกติของหลอดประสาทของทารก (Neural tube defect) ช่วยป้องกันลูกจากโรคปากแหว่งเพดานโหว่ โรคโลหิตจาง และป้องกันทารกในครรภ์ขาดออกซิเจน พบในอาหารประเภท ตับสัตว์ บรอกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง ผักโขม ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วลิสง ส้ม มะนาว มะเขือเทศ เมล็ดทานตะวัน ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ลูกเดือย และแคนตาลูป
ทั้งหมดนี้เป็นสารอาหารที่ไม่ให้พลังงานที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็กวัย 1 – 2 ปี ซึ่งต้องรับประทานควบคู่ไปกับสารอาหารต่าง ๆ ให้ครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม เมื่อลูกได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน ก็จะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง มีพัฒนาการดี และเติบโตได้อย่างสมวัย
อ้างอิง
- synphat. กินอย่างไร…ให้ลูกตัวสูง? [Internet]. Synphaet.co.th. 2020 [cited 2021 Mar 22]. Available from: www.synphaet.co.th/children-ramintra/กินอย่างไร-ให้ลูกตัวสู/
- “ไอโอดีน” สารอาหารที่ร่างกายขาดไม่ได้ • RAMA channel [Internet]. Mahidol.ac.th. 2017 [cited 2021 Mar 22]. Available from: www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/ไอโอดีน-สารอาหารที่ร่า/